นายไพบูลย์ แก้วเพทาย

ตึกก็เท่านี้เอง แต่ทำไมมันวุ่น(วาย)จริงวุ๊ย




          ผมได้อ่านบทความของคุณไพบูลย์ แก้วเพทาย ในวารสาร "ข่าว สอฟ. ฉบับที่ 2 ปีที่ 33 ประจำเดือน มีนาคม - เมษายน 2554 ก็อยากนำมาแสดงความคิดเห็นบางประการ ในฐานะที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ผู้หนึ่ง

        เช่นเดียวกับที่คุณไพบูลย์ได้กล่าวไว้ ในตอนที่ผมจะยกมาอ้างต่อไปว่า "ผู้ใดอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้" ผมจะพยายามเสนอความคิดเห็นที่เป็นธรรม(ธรรม ก็คือความเที่ยงตรง)ที่สุด  หากใครเห็นว่าไม่เป็นธรรม ก็ขอให้ย้อนไปอ่านที่ต้นประโยคที่ผมอ้างคุณไพบูลย์ไว้ก็แล้วกัน

         ในบทความนี้ เป็นการชี้แจงกรณีต่างๆที่มีการกล่าวหากันไปมาระหว่างผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสหกรณ์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็มีประเด็นที่ควรนำมาพิเคราะห์พิจารณากันดูในหมู่มวลสมาชิกทั้งหลายว่ากรรมการแต่ละชุดที่พวกเราทั้งหลายเลือกตั้งมอบหมายให้เข้าไปบริหารสหกรณ์นั้น เขาทำอะไรกันบ้าง  เราจะรู้กันมั๊ยนี่ ถ้าเขา(เหล่านั้น)ไม่นำมาเปิดโปงโจมตีกันเอง

          แต่ในวันนี้ ผมจะขอนำประเด็นในตอนท้ายของบทความที่คุณไพบูลย์สรุปความเห็นไว้  ที่ผมจะขอคัดลอกมาให้ท่านได้อ่านเพื่อจะได้ประกอบความเห็นที่ผมจะเสนอต่อไปดังนี้

          ต่อไปนี้เป็นข้อเขียนของคุณไพบูลย์นะครับ

         กรณีนี้  ผม(คุณไพบูลย์)อยากเสนอความเเห็น ซึ่งผู้ใดอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้
          สหกรณ์ออมทรัพย์ฯถือเป็นสถาบันการเงินที่ต้องมีหลักการบริหารการเงินที่ดี  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก  ความมั่นคง และการบริหารความเสี่ยง  สหกรณ์ฯมิใช่เป็นองค์กรการเมืองที่ต้องมีฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน  ที่ผ่านมาเล่นการเมืองกันมากเกินไป ทำให้การบริหารไม่ได้ยึดหลักบริหารการเงินที่ดี  จะขึ้นจะลงดอกเบี้ยตามตลาดก็ทำไม่ได้  จะบริหารความเสี่ยงก็ไปขัดกับความต้องการของคนบางกลุ่ม


        ครับ !
        ที่คุณไพบูลย์ขีดเส้นใต้ไว้น่ะ  ผมอยากฟังจากปากผู้สมัครเป็นกรรมการสักคนมานานแล้ว  แต่ไม่เคยได้ยิน


        ที่ได้ยินได้เห็นก็คือ ทุกท่านเต้นไปตามเพลง  "ประชานิยม" แข่งขันกันเปิดโครงการสารพัดจะตั้งชื่อกันขึ้นมาต่างๆจำกันไม่หวัดไม่ไหว  จนสมาชิกส่วนหนึ่งเริ่มเป็นห่วงสหกรณ์ว่าจะถูกพาไปลงเหวเข้าสักวัน


        คำว่า "ประชานิยม" นั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชา(ชน) ที่ได้รับสิ่งต่างๆที่ได้มาอย่างง่ายๆ ทำให้เขาไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นๆ และก็ไม่นึกหวงแหน ไม่เหมือนบางคนที่ได้สิ่งของมาสักอย่างด้วยความยากลำบาก เขาจะรักและหวงแหนสิ่งนั้นมาก  เช่นเด็กยากจนที่มีตุ๊กตาเพียงตัวเดียว ซึ่งกว่าจะได้มาแสนยากเข็ญ ต้องรอพ่อแม่กว่าจะมีเงินซื้อให้ลูก  จะเห็นว่าเด็กคนนั้นจะรักและทนุถนอมตุ๊กตาของเขามาก  ต่างกับเด็กลูกคนรวย มีตุ๊กตานับสิบนับร้อยตัว  ได้มาใหม่เดี๋ยวก็เบื่อ  ซื้อให้ใหม่เดี๋ยวก็เบื่ออีก เพราะเขาได้มาง่าย อยากได้ใหม่เมื่อไหร่ก็ได้


         เช่นเดียวกัน ประชาชนในหลายประเทศที่กำลังจะล่มจมกันทุกวันนี้ รวมทั้งประเทศไทยในอนาคต  มีแต่รอคอยสวัสดิการจากรัฐ  รัฐบาลก็พยายามแจก "ประขานิยม" เพื่อให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจ เพื่อโอกาสในการกอบโกยทรัพย์สมบัติของชาติ ในที่สุดบ้านเมืองก็พังพินาศ นักการเมืองก็โดนตามล้างตามฆ่า ดังที่เราเห็นๆกันในข่าวต่างประเทศทุกวันนี้


          กลับมาที่สหกรณ์ของเรา  วัตถุประสงค์ในการก่อกำเนิดสหกรณ์ มีที่มาจากการที่คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ร่วมกัน  แต่มีทรัพยากรไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน มีมากมีน้อยต่างกัน ใครมีเหลือก็เอามารวมไว้ที่ส่วนกลาง ใครขาดอะไรก็มาขอยืมไป  ของที่มีเกินความจำเป็นก็ขายไปบ้าง ได้เงินมา ก็เก็บเอาไว้ ใครจำเป็นก็มายืมไป เป็นเช่นนี้


          สหกรณ์ของเราในปัจุบันอยู่ในประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์(ไม่ใช่สหกรณ์กู้ทรัพย์) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดยการผลักดันของสหภาพฯในสมัยคุณไพศาล ธวัชชัยนันท์เป็นประธาน  เด็กรุ่นใหม่ๆที่กู้กันอย่างบ้าเลือดนั้นน่ะ  เวลาเดินเข้าออกสหกรณ์ หันไปมองหน้าท่านที่ยืนยกมืออยู่หน้าสหกรณ์ไว้บ้าง  ท่านอาจจะอยากกล่าวว่า "ไอ้น้องเอ๊ย  ใช้เงินกันบันยะบันยังไว้บ้าง  พี่สร้างสหกรณ์ขึ้นมาก็เพื่อให้พวกเราได้เก็บออมถนอมทรัพย์กันนะ จะกู้ ก็ขอให้กู้ไปใช้ในความจำเป็น ในการสร้างครอบครัวสร้างอนาคตนะน้อง อย่าเอาไปกินเหล้าเมายา  เล่นการพนันกันเสียล่ะ" ในฐานะที่ผมเคยสำผัส "พี่ไพศาล" มาผมว่าท่านต้องพูดสไตล์นี้หละ  ผมได้ยินแว่วๆมาอย่างนั้น


        ผ่านมาหลายสิบปีสหกรณ์ฯของพวกเราก็เติบโตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะเกิดวิกฤติฟองสบู่ เงินปันผลขณะนั้นเกินสิบเปอร์เซ็นต์  แต่ผมไม่เคยมีหุ้นกับเขาหรอก มามีหุ้นก็ตอนเกษียณนี่แล้ว เลยไม่เคยรู้รสของเงินปันผลเยอะๆอย่างนั้น มีหุ้นก็แค่หุ้นบังคับ ที่สหกรณ์ฯบังคับว่าใครสมัครสมาชิกต้องซื้อหุ้นไม่น้อยกว่าเดือนละ 300 บาท ไม่งั้นไม่ให้เป็นสมาชิก ก็ซื้อเท่านั้นยันเกษียณมีหุ้นยังไม่ถึงแสนเลย ไม่ได้เป็นสมาชิกก็กู้ไม่ได้ สมัยนั้น กู้ฉุกเฉินได้ครั้งละ 1,000 บาท โอ้โฮ กู้ทีกระเป๋าตุงกำซะมือเหงื่อตกไปเลย  สมัยผม สร้างบ้านกู้ไฟฟ้า(ตอนนั้นสหกรณ์ยังไม่ค่อยมีตังให้กู้มากๆ) มาทีหลังต่อเติมบ้าน-ซ่อมบ้าน-ซื้อเฟอร์นิเจอร์-ซื้อรถ กู้สหกรณ์ทั้งนั้นแหละครับ กู้ถึงวันที่เกษียณปิดบัญชีเรียบร้อย แต่การกู้แต่ละครั้งเราต้องรอให้ส่งของเดิมหมดก่อนจึงจะกู้ใหม่  หรืออาจได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายประจำเดือนแล้วเหลือพอส่งเงินกู้ จึงจะกู้ใหม่  และในสมัยนั้นไม่ให้นำเงินโอทีมาคิด แต่หน่วยงานที่ผมทำอยู่ก็ไม่เคยมีโอทีเสียด้วย


          ที่เล่ามานี้ก็เพื่อให้น้องๆได้ทราบไว้ว่า การใช้จ่ายเงินทอง มันต้องมีระเบียบวินัย  ที่ภาษาทางการเค้าเรียกว่า "วินัยทางการเงิน" 


          เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐเค้าต้องยึดถือ "วินัยทางการเงิน" "วินัยทางการคลัง" ประชาชนทั่วไปก็เหมือนกัน ต้องมี "วินัยในการใช้เงิน" รัฐบาลถ้าใช้จ่ายมั่ว ประเทศก็เจ๊งได้


         ดังนั้น จึงเป็นที่น่าตกใจว่ามีพนักงานส่วนหนึ่ง มีรายรับเป็นศูนย์ หรือถึงขนาดติดลบ สาเหตุเป็นมาอย่างไร  ซึ่งก็น่าเห็นใจ  แต่จะโทษบุคคลเหล่านี้เสียทีเดียวก็ไม่ได้  ต้องโทษนโยบายของคณะกรรมการบริหารบางกลุ่ม(ก็ทุกกลุ่มในขณะนั้นนั่นแหละ)ที่ป้อนนโยบาย "ประชานิยม" เพื่อแย่งคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง(เหมือนพรรคการเมืองขณะนี้เลย)  


          เมื่อกู้มาได้ง่ายๆ  ดอกเบี้ยก็ถูกจนสมาชิก "สำลัก" เงินกู้  บุคคลเหล่านี้เอาเงินไปใช้ทำอะไร มีความจำเป็นแค่ไหน จะปรับพฤติกรรมได้อย่างไร  กรรมการชุดปัจจุบันควรเข้าไปดูแลเยียวยารักษา(อย่างมีเงื่อนไข) และก็ต้องมีมาตรการป้องกันไมไห้เกิดกลุ่มคนในกรณีเดียวกันนี้อีก (ซึ่งจะเกิดปัญหาหลายๆอย่างตามมา)


          ที่จริงแล้วผู้กู้ เป็นผู้ที่น่าเห็นใจ  ตัวผมเองนั้นกู้มาตลอดชีวิตตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรกก็ต้องกู้แล้ว กู้ยันเกษียณ ก็ตั้งใจไว้อย่างเด็ดขาดว่าหลังเกษียณแล้วจะไม่กู้ใครอีก  ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า แต่ถ้าจะกู้ก็คงหาผู้ให้กู้ได้ยาก  ดอกเบี้ยที่เสียไปไม่รู้เท่าไหร่ สมัยก่อนดอกเบี้ยไม่ถูกอย่างนี้  ขนาดดอกเบี้ยแพงๆเราก็ไม่เคยไปประนามผู้ให้กู้ กลับต้องขอบคุณเขาเสียอีก เพราะถ้าเขาไม่ให้กู้ เรายิ่งแย่ใหญ่  เมื่อมีสหกรณ์เกิดขึ้น ก็ได้บรรเทาภาระดอกเบี้ยไปได้มาก  แต่ดอกเบี้ยเวลานั้นก็ยังสูงกว่าเดี๋ยวนี้มาก  ดังนั้นการที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราในตลาดมาก  ทำให้วินัยการใช้เงินมันเสียได้


         ข้อเท็จจริง สหกรณ์ไม่ได้เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ไม่ได้เป็นสมบัติของผู้ถือหุ้น ไม่ได้เป็นสมบัติของผู้ฝากเงิน ไม่ได้เป็นสมบัติของผู้กู้เงิน  ผู้ถือหุ้นจะบอกว่าสหกรณ์อยู่ได้เพราะเงินลงทุน(หุ้น)ของฉันก็ไม่ได้  ผู้ฝากเงินจะบอกว่า ถ้าไม่มีเงินฝากของฉัน เธอจะเอาเงินที่ไหนไปให้กู้(กินดอกเบี้ย) ก็ไม่ได้  สำหรับผู้กู้ก็หยิ่งในศักดิ์ศรีเหมือนกัน ก็ว่า ถ้าผมไม่กู้ แล้วจะได้ดอกเบี้ยมาจากไหน พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน


          สหกรณ์ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง  สหกรณ์เป็นของพวกเราที่เป็นสมาชิกทุกคน  เราต้องช่วยกันรักษาไว้


          ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับคุณไพบูลย์ที่ว่า 


         "ที่ผ่านมาเล่นการเมืองกันมากเกินไป  ทำให้การบริหารไม่ได้ยึดหลักบริหารการเงินที่ดี  จะขึ้นจะลงดอกเบี้ยตามตลาดก็ทำไม่ได้  จะบริหารความเสี่ยงก็ไปขัดกับความต้องการของคนบางกลุ่ม"


          ถูกต้องแล้วครับคุณไพบูลย์ เลิกเล่นการเมืองกันเสียที  ขอให้ใช้สติปัญญาไปในการบริหารทุนบริหารเงินให้มันเจริญงอกงามจากการลงทุนหาผลกำไรจากภายนอกบ้าง  ถ้าจะหากินกันแค่จากส่วนต่างเงินกู้-เงินฝากเช่นปัจจุบันนี้  นับวันเงินปันผลมันก็จะลดน้อยถอยลงไปทุกทีจนผลตอบแทนมันจะใกล้เคียงเงินฝากระยะยาวเข้าไปทุกทีแล้ว 


          สมาชิกส่วนข้างมากเลือกท่านและคณะเข้ามา  ก็ด้วยความไว้วางใจ  เพื่อให้ท่านและคณะดูแลบริหารสหกรณ์ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ได้เข้ามาหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง  ถ้าท่านไม่ได้ทำเช่นนั้น แล้วท่านจะเกรงกลัวสิ่งใดไปใยเล่า  หากมีผู้ดื้อรั้นไม่ยอมรับในระบบประชาธิปไตย  พยายามจะใช้กฎหมู่อยู่เหนือเสียงข้างมาก พยายามจะแทรกแซงการบริหารสหกรณ์ โดยการต่อต้านการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้  จะก่อม็อบมากดดันคณะกรรมการสหกรณ์ ใครคิดจะทำอย่างนั้น ขอให้คิดให้ดี หากความคิดของท่านถูกต้องแล้ว ท่านควรลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้า  ถ้าสมาชิกส่วนมากเห็นด้วย ก็จะเลือกท่านเข้ามาบริหารสหกรณ์ต่อไป ตามระบอบประชาธิปไตย  อย่างนี้จะแฟร์กว่า


          อย่าลืมว่าสหกรณ์ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง  จึงไม่ควรเอาการเมืองมาเล่นกันในสหกรณ์  เรื่องของเงินมันอ่อนไหว   หากสถาบันการเงินภายนอกให้ผลประโยชน์สูงกว่าหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่า (ขณะนี้สถาบันการเงินภายนอกกำลังระดมเงินออม โดยแข่งขันกันให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงขึ้นเรื่อยๆ) หรือบางคนอาจจะเห็นความเสี่ยงในสหกรณ์   เงินมันก็จะไหลออก  และเมื่อถึงเวลานั้นสหกรณ์จะเอาเงินที่ไหนมาให้ท่านกู้กันเล่า  การอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ทุกคนต้องได้รับประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว  ก็ขอให้สมาชิกที่มีใจเป็นธรรมช่วยกันประนาม  หากมีใครที่คิดจะทำเช่นนั้นเพื่อผลบางอย่าง  แสดงว่าคนเหล่านี้ต้องการทำร้ายสหกรณ์ เป็นผู้ไม่หวังดี เห็นแก่ประโยชน์แต่กลุ่มพรรคพวกของตนเองเท่านั้น

          อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น  ความคิดนี้ใครจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรก็เป็นความคิดของแต่ละคน สำหรับผม ผมคิดของผมอย่างนี้  ก็หวังว่าคนที่คิดไม่เหมือนกันก็ไม่ควรจะต้องมาเป็นศัตรูกันก็แล้วกัน


           สำหรับคุณไพบูลย์ ที่ได้รู้จักกันมา และจะเกษียณในปลายปีนี้  ก็ถือว่าชกมาจะครบยกอยู่แล้ว  ถึงแม้ปลายยกสี่จะโดนถลุงเสียเป๋ เมาหมัดไปหน่อย  แต่ระฆังช่วยไว้ทัน  ขึ้นยกห้าเปลี่ยนพี่เลี้ยงย้ายค่ายใหม่ ฟุตเวอร์คดีหน่อย แย็บเก็บคะแนนคืนมาได้  ตอนนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ ยังไงๆก็อย่าให้เสียชื่อมวยรุ่นเก๋าเสียล่ะ มีหมัดเด็ดอะไรก็รีบปล่อยออกมาเก็บคะแนนคืนเพื่อเป็นเกียรติประวัติก่อนเกษียณสักหน่อย  ขอเอาใจช่วยครับ


          สุดท้าย ขอให้สมาชิกสหกรณ์ที่เห็นด้วยกับคุณไพบูลย์ช่วยเป็นกำลังใจให้คุณไพบูลย์และคณะด้วยก็แล้วกันนะครับ


         ชุมชนคนเกษียณยินดีต้อนรับล่่วงหน้า  ขอให้โชคดีครับ...




***************












        

คั่นเวลาเล็กน้อย

ขอคั่นเวลาหน่อยครับ

ขอแจ้งให้ทราบว่าท่านที่ดู Blog นี้โดยผ่าน Link ของสหกรณ์นั้น จะเปิด Blog ได้ไม่เต็มหน้า ถ้าจะดูเต็มๆดูได้จาก Link ของสหภาพฯ www.meawu.org หรือจาก weblog  http://60society.blogspot.com โดยตรงครับ  แล้วผมสงสัยว่ารูปในเว็บสหภาพฯทำไมมันยาวบ้าง-สั้นบ้าง (ทำให้ท่านประธานทั้งสองหุ่นเสียหมด) หรือคอมฯผมมันเพี๊ยนก็ไม่รู้....

อีกอย่างครับ เวลาดูเว็บสหภาพฯสามารถ Link มาสหกรณ์ได้ แต่เวลาดูเว็บสหกรณ์ ไม่มี Linkไปสหภาพ ช่วยดูหน่อยครับ



**************

ช่องทางสื่อสารของคนเกษียณ (1.)



การสื่อสารหลังเกษียณ (1)

          มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกเสร็จแล้ว ก็เริ่มสร้างมนุษย์ และสรรพสัตว์ต่างๆ เมื่อสร้างสัตว์ต่างๆแล้วก็กำหนดหน้าที่และชีวิตของแต่ละตัวว่าจะต้องทำอะไร มีหน้าที่อย่างไรบ้าง 

           เริ่มด้วยวัว ที่ต้องทำหน้าที่ทำนาทำไร่ ให้นม และก็กำหนดอายุว่าวัวจะมีอายุได้เท่าไร  เมื่อรู้ว่าตัวจะมีอายุเท่าไหร่ วัวจึงบอกพระเจ้าว่า "โอ๊ย...ให้ข้าทำงานหนักอย่างนี้ จะให้ข้ามีอายุยืนยาวขนาดนี้ ข้าไม่เอาหรอก ข้าขอคืนไป 30 ปีก็แล้วกัน" พระเจ้าก็ไม่ว่าอะไร


          ต่อมาเป็นลิง  ซึ่งพระเจ้าให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี จะเล่นจะทำท่าทางอย่างไรก็ได้  ให้ผู้ที่ได้พบเห็นได้สนุกสนาน ครื้นเครง มีความสุข  ลิงก็บอกกับพระเจ้าว่า "โอ๊ย...ให้ข้าทำอะไรเล่น ไร้สาระไปวันๆเช่นนี้  ข้าไม่อยากได้แล้ว  จะให้ข้าอายุยืนอย่างนี้ ข้าไม่เอาหรอก  ข้าขอคืนอายุไป 10 ปี ก็แล้วกัน ว่าแล้วก็ยักคิ้ว แยกเขี้ยวหลอก(พระ)เจ้าไปแผลบหนึ่ง   พระเจ้าก็ไม่ว่าอะไร แต่เผลอจะเอาไม้เท้าฟาดกระบาลไอ้ลิงที่บังอาจมาหลอกเจ้าสักโป๊ก เจ้าลิงรู้ทัน รีบกระโดดแผลว ขึ้นไปนั่งบนกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้ๆได้ทัน


          ตัวต่อมาเป็นหมา


.....แหม ต้องไปชงกาแฟกินสักถ้วย ชักง่วง.....รออ่านต่อนะครับ...


          ครับ..ตัวต่อไปคือ "หมา" หรือที่คนสมัยนี้เรียกว่า "สุนัข" นั่นแหละครับ จนกระทั่ง "คลองหมาหอน" ที่เรียกกันมานมนาน(นานนะครับ ไม่ใช่ยาน) พวกดัดจริตมาเปลี่ยนเป็นคลอง "สุนัขหอน" ฟังแล้วมันทุเรศสิ้นดี  ท่านลองคิดดูซิว่าเวลาเราเรียกใครว่า "ไอ้ชาติสุนัข" กับเรียกว่า "ไอ้ชาติหมา" อย่างไหนมันจะสะใจกว่ากัน


          พระเจ้ากำหนดให้หมามีหน้าที่เป็นเพื่อนคอยช่วยเหลือมนุษย์ ต้องซื่อสัตย์ต่อมนุษย์ คอยช่วยเฝ้าบ้าน เฝ้าทรัพย์สิน คอยเห่าหอนเวลามีคนมาใกล้ๆเื่พื่อให้เจ้าของรู้
          เจ้าหมารู้หน้าที่ของตัวแล้ว เห็นว่าอายุที่พระเจ้าให้มาดูจะมากไป ขืนมีอายุยืนขนาดนั้น มันคงต้องเห่าจนเป็นโรคคออักเสบแน่ๆ มันจึงขอคืนให้พระเจ้าไป 10 ปี


         ทีนี้ก็มาถึงคิวของคนหรือที่เรียกว่ามนุษย์  ซึ่งนั่งฟังพระเจ้าเจรจากับสัตว์ต่างๆมาตลอด  
          เมื่อเข้าไปหมอบอยู่หน้าพระเจ้า  พระเจ้าเห็นว่า เออมนุษย์นี่มันหน้าตาท่าทางดูดีกว่าสัตว์อื่นๆ ร่างกายก็ดูอ้อนแอ้นไม่แข็งแรงเท่าสัตว์อื่นมันคงทำอะไรไม่ค่อยไหว ฉะนั้นเราจะต้องให้มันมีชีวิตที่สุขสบายหน่อย เมื่อเกิดมาต้องมีคนคอยดูแล โตขึ้นก็ไม่ต้องทำมาหากิน ต้องมีคนคอยเลี้ยงดู ให้มันเที่ยวเตร่คบเพื่อนคบฝูงสนุกสนานกันไปตลอดชีวิต 20 ปีที่พระเจ้ามอบให้
          มนุษย์ได้ฟังดังนั้น ก็คิดว่า โอ้ ชีวิตเราช่างสะดวกสบายสนุกสนานเสียเหลือเกิน แต่พระเจ้าให้เวลาเราน้อยเกินไปซะแล้ว เมื่อกี๊นี้เราได้ยินสัตว์อื่นๆคืนอายุให้พระเจ้าไปรวมแล้วหลายสิบปี คิดได้ดังนี้แล้วไม่ได้การ(เหมือนลิเกมั๊ยครับ) เราจะต้องขออายุของสัตว์เหล่านั้นมาเป็นของเราซะ
          เมื่อพระเจ้ารู้ความประสงค์ของมนุษย์แล้วก็ไม่ขัดข้อง (ไม่ต้องยื่นหนังสือยื่นข้อเรียกร้องขอปรับสภาพการจ้างแต่ประการใด) "เอ้า เจ้าจะเอาทั้งหมดเหรอ ตกลง เอาของวัวไป 30 ปี เอาของลิงไป 10 ปี เอาของหมาไปอีก 10 ปี รวมแล้วเป็น 70 ปี OK นะ (แน่ะพระเจ้าเดาะภาษาอังกฤษเสียหน่อย..สงสัยพระเจ้านี่ ท่าจะเป็นคนไทย)
         ว่าแล้ว พระเจ้าก็สั่งปิดประชุม เพราะดูแล้วพวก ส.ส. เอ๊ยพวกสัตว์ต่างๆแว้บหายไปเยอะแล้ว เดี๋ยวไอ้พวก เสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่เหลืออยู่มันขอนับองค์ประชุมขึ้นมา จะเสียหน้ารัฐบาล เอ๊ย..เสียหน้าพระเจ้าเสียเปล่าปลี้....


       ...เรื่องจะเป็นอย่างไร พักไว้ก่อน รอประชุมครั้งต่อไป...


          เรามาเข้าเรื่องที่จั่วหัวไว้ว่า "การสื่อสารหลังเกษียณ" กันดีกว่า
          ที่นำเรื่องนี้มาคุย ก็เพราะผู้ที่เกษียณแล้ว ก็เสมือนว่าได้ถูกตัดขาดเปลี่ยนสภาพของสังคมไปสู่อีกสังคมหนึ่ง  ที่เคยอยู่ในสังคมเพื่อนร่วมงาน ก็จะไปอยู่ในสังคมครอบครัว เพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นสังคมเล็กๆ เพื่อนฝูง น้องนุ่งที่ทำงานก็ต้องห่างเหินกันไป เพื่อนรุ่นเดียวกันก็แยกกันไป ต่างคนต่างอยู่  บางคนตายจากกันไปโดยไม่มีใครรู้ มารู้อีกทีก็ในหนังสือของ ฌฟน.นั่นแหละ


         วันนี้เราจึงจะมาดูกันว่า หลังเกษียณแล้วเราสามารถทราบข่าวคราวจากทางใดได้บ้าง และจะได้ประโยชน์จากสื่อเหล่านั้นอย่างไรบ้าง
          ขอเริ่มด้วยวารสารในกลุ่มของสหกรณ์มีดังนี้
         "ข่าว สอฟ." เป็นรายงานผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ และบทความทัศนะต่างๆของกรรมการสหกรณ์ฯ และหากเป็นช่วงเวลาการเลือกตั้งกรรมการฯ ก็จะค่อนไปทางใช้ในการกล่าวหา หรือแก้ข้อกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามของกรรมการชุดที่บริหารอยู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอย่างไร สมคารหรือไม่ ก็แล้วแต่สมาชิกแต่ละท่านจะใช้วิจารณญาณคิดได้เอง  วารสารนี้แจกให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ผู้ที่เกษียณแล้วจะจัดส่งให้ถึงบ้านเลยครับ  หากใครไม่ได้รับ แจ้งสหกรณ์ได้เลย



          แต่สิ่งที่อยากจะเห็นใน "ข่าว สอฟ." คือข่าวความคืบหน้าของคดีความต่างๆ ที่กล่าวหากันในระหว่างการหาเสียง  การติดตามความสูญเสียต่างๆของสหกรณ์ เช่นหนี้สูญฯลฯ  วิสัยทัศน์ในการบริหารสหกรณ์ในภาวะปัจจุบัน  แนวโน้มในการลงทุนภายนอกของสหกรณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร ภาวะของอัตราดอกเบี้ยภายนอกที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ สหกรณ์มีนโยบายอย่างไร   มีความคิดและทางออกอย่างไรในการที่เงินปันผลมีแนวโน้มลดลงตลอดเวลา มีการสรุปผลการประชุมในกรณีสำคัญๆที่มีผลกระทบต่อสหกรณ์และหรือสมาชิก
         
          หวังว่ากรรมการแต่ละท่านที่เขียนบทความในวารสารนี้จะเขียนในสิ่งที่สมาชิกอยากรู้ น่าจะนำประเด็นข้างต้นมาชี้แจง หรือแจ้งความคืบหน้า ว่าเป็นไปอย่างไร  ไม่ใช่จะเขียนแต่ในสิ่งที่ท่านอยากเขียน  หรือจะเขียนเฉพาะตอนหาเสียง ซึ่งเขียนแจกแจงข้อมูลได้ "ละเอียด" ดีจริงๆ แต่หลังเลือกตั้งเสร็จ  เหตุการณ์ก็สงบเงียบดังผิวน้ำในบ่อน้อยยามดึกคืนพระจันทร์เต็มดวง 
      
       อีกสองเล่ม ก็เป็นรายงานประจำปีของสหกรณ์ออมทรัพย์ฯและของสหกรณ์บริการฯ ซึ่งท่านจะได้รับแจกในวันประชุมใหญ่(ปีละครั้ง) ซึ่งเป็นเรื่องปกติของหนังสือประเภทนี้  ไม่ค่อยมีคนสนใจอ่าน บางคนรับไปแล้วก็ไปวางทิ้งไว้ตามโต๊ะอาหาร  แต่ถ้าใครมีความพยายามหน่อย ค่อยๆดูไป อาจจะพบอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ไว้ถ้ามีเวลาจะอ่านมาวิเคราะห์กันดู


        เล่มต่อไปเป็นวารสารของสหภาพฯ คือ "ข่าวลูกจ้าง" เล่มนี้เป็นข่าวของสหภาพฯซึ่งจะออกเป็นระยะๆ แล้วแต่ความขยันของกรรมการแต่ละชุด  ผู้เกษียณต้องหมดสมาชิกภาพไปตามกฎหมาย จึงไม่มีแจกให้ผู้เกษียณ แต่ในทางอ้อมการเรียกร้องสวัสดิการต่างๆที่ได้รับหลังการเกษียณของสหภาพฯก็จะมีผลต่อผู้เกษียณด้วยเช่นกันเช่นการรักษาพยาบาลเป็นต้น  วารสารนี้มีวางตามเขต กฟน. ผู้เกษียณท่านใดสนใจ ลองไปถามหาตามเขตดูได้  สำหรับผมจะพยายามติดตามวารสารนี้ หากมีข่าวเกี่ยวกับผู้เกษียณ จะนำมาแจ้งให้ทราบ (ได้เขียนไปก่อนหน้านี้แล้ว  เรื่องการรักษาพยาบาล)


         เล่มต่อไป ... เป็น "ข่าวสาร ชกฟน." วารสารนี้จัดทำโดย "ชมรมพนักงานเกษียณอายุ" สโมสรการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งได้พัฒนารูปเล่มและเนื้อหามาตลอดจนปัจุบันมีรูปเล่มที่สวยงาม และมีเนื้อหาและข่าวคราวที่น่ารู้น่าสนใจ
          เล่มนี้ส่งให้ถึงบ้าน สำหรับสมาชิกของชมรมฯ (ชกฟน.)






          ทีนี้ก็มาถึง "จดหมายข่าว ชสอฟ." จดหมายข่าวนี้ ออกโดย "ชมรมสมาชิกผู้เกษียณอายุสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ  จัดทำโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของชมรมฯ  วารสารนี้เน้นไปทางสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และด้านธรรมเป็นต้น ออกเป็นแบบเอกสารถ่ายสำเนา(ตามทุนทรัพย์) อันนี้ก็ส่งถึงบ้านสมาชิกทุกคนเหมือนกันครับ






          วาระสุดท้าย..เอ๊ย  ไม่ใช่...
          ฉบับสุดท้ายที่เราผู้เกษียณจะได้รับกันปีละฉบับ ก็นี่แหละครับ "ข่าว ฌฟน." ตราบใดที่ท่านยังได้อ่าน ก็สบายใจได้ ว่าท่านยังอยู่ดีอยู่  ท่านจะได้ประโยชน์จากข่าวนี้ 2 เรื่องคือ
         หนึ่ง. ท่านจะรู้ว่าคนที่ท่านรู้จักเสียชีวิตไปแล้วกี่คน
          สอง. เป็นหนังสือที่ให้ลูกหลานพับเก็บไว้ คอยเตือนว่าเมื่อไหร่ครบกำหนดต้องส่งเบี้ยฌาปณกิจฯ "ถ้าเอ็งลืมส่ง ข้าตายไป เอ็งไม่ได้เงินกัน ข้าไม่รู้ด้วยนะ"
ในนี้จะมีรายละเอียดวิธีการชำระเงิน หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อ คำแนะนำที่มีประโยชน์ควรเก็บไว้  
          ก่อนๆนั้น นานมาแล้วผมเคยทราบว่า ในปีหนึ่งๆ มีสมาชิกหมดสมาชิกภาพไปปีละหลายๆคน จะโดยสาเหตุใดก็แล้วแต่  และถ้าเป็นคนแก่ที่หมดสภาพความจำเสื่อม ลูกหลานไม่รู้เรื่อง ขาดส่งค่าสมาชิกยิ่งน่าเสียดายและน่าสงสาร ที่ส่งค่าสมาชิกมาตลอดชีวิต ถึงเวลาจะใช้สิทธิ์ กลับไม่ได้ใช้เสียนี่  แต่เดี๋ยวนี้ ฌฟน.มีการออกจดหมายเตือนและมีการยืดหยุ่นเวลาการชำระเงินให้ ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกยิ่งขึ้น(ใครย้ายที่อยู่ ควรแจ้ง ฌฟน.นะครับ)  
          สำหรับผม ผมไม่รีบนะครับ ยินดีส่งค่าสมาชิกไปได้เรื่อยๆ อยากช่วยเหลือผู้อื่นไปอีกนานๆ


          สำหรับสื่อที่องค์กรที่เราเป็นสมาชิกอยู่ต่างๆกันนั้น มีการจัดทำสื่อต่างๆ  ที่สมาชิกผู้เกษียณได้รับ ก็คงมีเท่านี้แหละครับ
         ตอนต่อไปเราจะมาคุยกันว่า เราจะมาช่วยกันอย่างไร ให้พวกเราที่ยังคิดถึงเพื่อน หรือต้องการแก้เหงา จะมีวิธีการอย่างไรในการติดตามข่าวสารต่างๆ  หรือองค์กรที่เราเป็นสมาชิกอยู่ จะสามารถช่วยเราได้อย่างไรบ้าง


          โปรดติดตามตอนสองนะครับ.....


         อ้อ....แล้วมนุษย์ที่ได้อายุรวมกันมาแล้วถึง 70 ปี จะเป็นอย่างไรต่อไป คอยอ่านตอนสองอีกเช่นกันนะครับท่าน


          สวัสดีสำหรับวันนี้






******************




















อยากจะเป็น "สูงวัย ใจโจ๋" (บ้าง)



อยากจะเป็น "สูงวัย ใจโจ๋" (บ้าง...จังเลย)


          ผมทิ้งท้ายไว้ในบทความ "มาแล้วครับ" เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 ว่าประธานสหภาพฯ คุณประจวบ คงเป็นสุข  แจ้งมายัง "ชุมชนคนเกษียณ" ว่า ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้ กฟน.ปรับปรุงสภาพการจ้าง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554 โดยมีสวัสดิการเกี่ยวกับผู้เกษียณ 2 ข้อ และขอให้ชมรมผู้เกษียณทั้ง 2 ชมรมช่วยกันผลักดันให้ประสบความสำเร็จต่อไป  ข้อความนี้ส่งมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งอาจจะเข้าใจได้ว่าคุณประจวบคงจะเจตนาแจ้งข่าวนี้ใน "วันแรงงาน" เพื่อเป็นขวัญ-กำลังใจให้แก่รุ่นพี่ๆที่กำลังต่อสู้กับชีวิตความเป็นอยู่กับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวันๆ


          เมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องมารายงานให้ เพื่อนๆพี่ๆผู้เกษียณทั้งหลายได้ทราบว่า คุณประจวบในฐานะหัวหน้าทีม "กลุ่มปฎิรูปแรงงาน" ได้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องแก่ฝ่ายบริหารตามที่ได้ "หาเสียง" ไว้ ถึงแม้ผู้เกษียณจะไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่คิดว่าผู้ที่ยังไม่เกษียณก็คงสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะว่าถึงวันหนึ่งข้างหน้า พวกท่านก็ต้องมายืนอยู่ในสภาพเดียวกับพวกเรา


ประกบไว้เลย


          รายละเอียดที่ผมได้อ่านใน "ข่าวลูกจ้าง" ฉบับที่ 1/2544 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2554 ซึ่งถือได้ว่าเป็นฉบับแรกของกรรมการชุดใหม่นี้ ซึ่งได้ข่าวว่าสมาชิกแย่งกันอ่านมากจนไม่มีเหลือ ขนาดผมไปขอที่สหภาพฯยังไม่มีเลย ไม่ทราบเป็นแผนโปรโมทของฝ่ายประชาสัมพันธ์(ผู้จัดทำ)หรือเปล่า 

          "ข่าวลูกจ้าง" นี้ ผู้เกษียณจะไม่ได้รับแจก เพราะเราไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว (หมดสมาชิกภาพตามกฎหมาย) ไม่เหมือนกับข่าวของสหกรณ์ฯ ที่ยังแจกให้สมาชิกทุกคน ไม่เว้นผู้เกษียณที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้นถ้าท่านสนใจข่าวลูกจ้าง ท่านสามารถอ่านได้ที่เว็บของสหภาพฯ คือ www.meawu.org แต่ในข่าวลูกจ้างฉบับในเว็บฉบับนี้ หน้าตาไม่เหมือนฉบับจริง รายละเอียดของ "ข้อเรียกร้อง" ก็ไม่มี  ถ้าใครอยากดู "ข้อเรียกร้อง" ต้องเข้าไปดูที่ "กระดานข่าว" ซึ่ง admin ได้โพสท์ไว้ที่หัวเรื่อง "กม.แรงงาน" 
          เรื่องนี้ขอแทรกหน่อยครับท่านประธานฯ  เรื่อง "ยื่นข้อเรียกร้อง" นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นผลงานของสหภาพ ต้องระดมพลัง ปลุกกระแสให้สมาชิกรับรู้รับทราบ เกิดความคิดร่วมกัน แต่กลับเอาข่าวไปเก็บไว้ที่ "กระทู้" ซะลึกเลย ทำไมไม่เอามาไว้หน้าโฮมเพจ รวมถึงควรมีรูปถ่ายในการยื่น "ข้อเรียกร้อง" ให้เห็นกันจะๆไปเลย เพราะนี่คือ "พันธสัญญา" ที่จะต้องดำเนินการเจรจาต่อรองกันต่อไป

          พูดถึงเว็บของสหภาพฯ เรื่องนี้ก็ต้องขอให้เครดิตความคิดริเริ่มจากคณะกรรมการสหภาพฯชุดที่แล้วหน่อย โดยเฉพาะคุณวัฒนา สพสมัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี ได้ร่วมกันคิดและผลักดันให้มีการเริ่มต้นเกิดขึ้น  คงมีผู้อื่นร่วมด้วยซึ่งผมไม่ทราบเลยไม่ได้เอ่ยนาม ต้องขออภัยด้วยครับ   Blog ผมก็อาศัยเว็บของสหภาพนี่แหละเป็นที่เปิดตัวให้ผู้อ่านได้รู้จัก ก็ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ   ก็หวังว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันคงสานต่อและพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกต่อๆไป(และแน่นอน อย่าเอาแบนเนอร์ผมออกก็แล้วกัน ขออาศัยด้วยคนนะครับ)

          อ้อมไปเสียไกลเลย ขอกลับมาเรื่องข้อเรียกร้อง 2 ข้อที่เกี่ยวกับผู้เกษียณใหม่ สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ ใครอยากรู้ก็ไปอ่านเอาตามที่ว่าแล้วกัน (คงอั้นไว้นาน ออกทีก็ชุดใหญ่เลย) 2 ข้อที่ว่าคือ

          ข้อ 2.3  ขอให้พนักงานผู้เกษียณที่มีอายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปให้ได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าพนักงานปัจจุบันเฉพาะตัว...(มีต่อ..ไม่เกี่ยวผู้เกษียณ)

          ข้อ 2.4 ขอให้ปรับปรุงโรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง ให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล

          สองข้อเท่านั้นเองครับท่านผู้ว่าฯ สำหรับผู้เกษียณ  ยิ่งสำหรับข้อ 2.4 ยิ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะเดิมก็ทำอยู่แล้ว ทำอย่างมีคุณภาพจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของบุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการกันอย่างมากมาย  จนกระทั่งมาถึงผู้ว่าฯบางคนที่พยายามจะสนองตอบนโยบายรัฐบาลสมัยหนึ่ง ต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และก็ไปเชื่อทฤษฎีบ้าบอของพวกคลั่งการแปรรูปว่า "โรงพยาบาล" ไม่ใช่กิจกรรมของรัฐวิสาหกิจ ให้เลิกทำเสีย  ทั้งๆที่โรงพยาบาลเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงาน  การเปลี่ยนแปลงถือว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง  โดยเฉพาะข้อตกลงที่ทำกันในขณะที่พนักงานยังไม่เกษียณต่อเนื่องเมื่อเกษียณแล้วต้องได้รับสวัสดิการอย่างไรบ้าง   ดังนั้นเมื่อผู้เกษียณถูกลดสวัสดิการลง จึงถือว่า "ผิดสัญญาสภาพการจ้าง" แต่เนื่องด้วยผู้เกษียณขาดอำนาจต่อรอง จึงถูกเอาเปรียบจากผู้บริหาร กฟน.ที่หวังแต่จะแสวงหารักษาตำแหน่งของตัว (เรื่องนี้ ถ้าจะคุยแล้วมันยาว ขอเก็บไว้ก่อน)

          สำหรับข้อ 2.3 นั้นก็น่าสนใจ คนที่ทำงานมา 20 ปีแล้ว มันเข้าสายเลือดแล้ว ก็ทำมาเกือบครึ่งชีวิต ออกไปแล้วมันยังมีความผูกพันกันอยู่  แต่จู่ๆสิทธิที่เคยได้ก็ถูกตัดไป  เคยนั่งรอคิวในโรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวงที่คุ้นเคย พบปะกับผู้คนที่รู้จัก คุ้นเคยกับคุณหมอ  แต่หลังจากเกษียณต้องไปเรียนรู้ในการใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน มีผู้ใช้บริการที่แออัดยัดเยียด ต้องชำระเงินเองพูดง่ายๆแทนที่แก่แล้วจะสบาย กลายเป็นว่า "มาลำบากเมื่อแก่" ไม่เหมือนกับผู้บริหารที่มีรายได้มากพอที่จะไปใช้บริการ โรงพยาบาลเอกชนได้อย่างไม่เดือดร้อน

          ที่จะพูดต่อไปนี่ ไม่ใช่อิจฉา แต่มันสะท้อนใจ 

          ได้พูดคุยกับคนวัยเดียวกัน ถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของผู้สูงอายุ  แล้วเค้าก็ถามเราว่า เราไปรักษาที่ไหนล่ะ  เราก็บอกไปรักษาที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง แล้วแต่ว่ามีคนแนะนำ แต่ก็เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่เสียเงินน้อยหน่อย ยาก็ไม่ค่อยให้ ไอ้ที่ให้ก็ไม่ค่อยดี  เค้าก็บอกว่าทำไมไม่ไปที่นั่น-หรือที่นี่ล่ะ หมอก็ดี ยาก็จ่ายยาดีๆให้ เพราะฉันเบิกได้ ลูกฉันอยู่ไฟฟ้า...เออนะ  เราทำงานไฟฟ้ามาเกือบสี่สิบปี เกษียณแล้วต้องรอความกรุณาจากหมออย่างอนาถา สู้คนมีลูกอยู่ไฟฟ้าไม่ได้เลยนะ

          พักไว้แค่นี้ก่อนก็แล้วกัน

          ก็พอดีเปิดเว็บ www.mea.or.th คงทราบนะครับว่าเป็นเว็บขององค์กรไหน  พบข่าว   การไฟฟ้านครหลวงจัดกิจกรรม "สูงวัย ใจโจ๋"  ในข่าวบอกว่า เพื่อให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ  ในงานก็มีการตรวจสุขภาพ แจกยาสามัญประจำบ้าน ตัดผมฟรี มีการเสวนา "ทำอย่างไร สุขภาพใจและกายแข็งแรง" และมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย ลองไปเปิดอ่านเอาเองก็แล้วกัน

          ก็ดีครับ เป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรรูปแบบหนึ่ง  พวกเราผู้เกษียณก็ไม่ได้อิจฉาอะไร  แต่น้อยใจนิดๆได้แต่มองตาปริบๆ  ทำไมเราไม่ได้รับการดูแลเช่นนี้บ้างนะ  
          เอาภาพมาไห้ดูบางภาพครับ


ผู้บริหาร กฟน.

ประกวดขวัญใจวัยโจ๋

เป็นอย่างไรครับ ดูภาพแล้วน่าสนุกนะครับ
สำหรับภาพข้างล่างนี่ไม่ใช่ในงาน "สูงวัย ใจโจ๋" นะครับ
เป็นผู้เกษียณที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครับ



"ขอผมเป็น 'วัยโจ๋' ด้วยคนได้มั๊ยครับ"



            ก็ต้องขอขอบคุณประธานสหภาพฯคุณประจวบ คงเป็นสุข และคณะกรรมการทุกท่านที่ช่วยนำเสนอข้อเรียกร้องนี้  ทั้งนี้  หากได้รับความสำเร็จ ประโยชน์ที่ได้รับมิใช่ว่าจะตกอยู่กับผู้เกษียณรุ่นปัจจุบันเท่านั้น  ผลงานนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่พนักงานที่จะเกษียณในรุ่นต่อๆไป รวมถึงผู้บริหารทุกท่านก็จะได้รับประโยชน์นี้เช่นเดียวกัน    ดังนั้น ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกสหภาพฯปัจจุบันที่จะรวมพลังกันขับเคลื่อนเพื่ออนาคตข้างหน้ารวมทั้งเกิดจากความเข้าอกเข้าใจของฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้อง   สำหรับผู้เกษียณก็คงกระทำได้แต่เพียงเฝ้าดู และส่งกำลังใจ(อันอ่อนล้า)ไปเป็นกำลังใจให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน  
          
          ขอให้ประสบความสำเร็จครับ





"ทำให้สำเร็จนะครับ คุณประจวบ ปีหน้าเลือกอีก ชัวร์" 
(ว่าแต่ว่า เมื่อไหร่จะขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากบ้างล่ะครับ ของแพงจัง)


          สำหรับผม ในฐานะที่เป็นกรรมการ ชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. อยู่ด้วย ก็ได้รายงานให้คณะกรรมการทราบแล้ว  และคณะกรรมการมีมติว่า หากท่านประธานสหภาพฯจะไปเจรจาฯ หรือไปติดตามผลจากฝ่ายบริหารเมื่อไหร่ ขอให้แจ้งให้ชมรมฯทราบด้วย   ทางชมรมฯจะได้นำกระเช้าดอกไม้ไปร่วมให้กำลังใจต่อไป ขอขอบคุณอีกครั้งครับ  สวัสดี....



***************************


ทันตกรรม - สวัสดิการ

เกษียณแล้วอยากทำฟัน เชิญทางนี้


        หลังจากรอคิวมาเป็นเวลาแรมปี จนหมดหวังว่าจะได้ทำครอบฟันกับ รพ.กฟน. แล้ว อยู่มาวันหนึ่งก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าชื่อ ท.พ.สุทัศน์ โทรมาจาก รพ.กฟน. สามเสน ว่าผมได้รับคิวเข้าทำฟันแล้ว และได้นัดหมายกันเป็นที่เรียบร้อยว่าจะเริ่มกันวันไหน


        ก็เป็นที่แปลกใจและดีใจ เพราะผมนึกว่างานนี้เขายุบไปแล้วเนื่องจากไม่ได้รับการติดต่อมาเป็นเวลานาน  ไปติดต่อคลินิคข้างนอก ก็มีราคาแพงมาก จึงคิดว่าไม่ทำแล้ว เก็บเงินไว้ใช้ดีกว่า มันไม่เจ็บไม่ปวดก็คงไม่เป็นไร ตอนทำรากฟันก็รอมาร่วมสองปี คงเหลือเวลาใช้งานอีกไม่กี่ปี มันจะคุ้มมั๊ยนี่ เมื่อได้รับการติดต่อมาจึงตื่นเต้นดีใจมาก


        วันแรกที่ได้พบคุณหมอ คุณหมอได้อธิบายถึงขั้นตอนในการทำงาน และค่าใช้จ่าย เมื่อตกลงกันแล้ว จึงนัดวันเริ่มทำงานกันต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาทำ 3 วัน ก็ประมาณอาทิตย์ละวัน จนเสร็จเรียบร้อย และคุณหมอให้กลับไปลองใช้สักพัก ก่อนที่จะกลับมาตรวจความเรียบร้อยอีกครั้ง


        บางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา  แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ในระหว่างที่ทำงานอยู่ ไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพนัก เป็นอะไรก็ไม่ค่อยไปหาหมอ ทนได้ก็ทนไป ปวดหัวก็กินยาแก้ปวด ฟันผุก็ถอนออก ไม่เคยรู้ว่าเขามีการรักษารากฟันเพื่อถนอมฟันไว้ได้ มีการทำครอบฟัน มารู้เอาตอนเกษียณแล้ว  กรณีเช่นนี้อยากจะเตือนน้องๆไว้ว่า ในระหว่างทำงานควรรักษาสุขภาพและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่านึกว่าไม่มีเวลาไปหาหมอ เช้าขึ้นมาก็งานยุ่งทุกวัน ตัวอย่างเช่นผม พอเกษียณแล้วโรคภัยไข้เจ็บรุมกระหน่ำกันเต็มที่ เพื่อนๆบางคน มาดูแลสุขภาพเอาตอนเกษียณ เป็นอะไรตอนนี้ก็ต้องเสียเงินเองแล้ว  มีเพื่อนคนหนึ่งมารู้ว่าเป็นมะเร็งเอาตอนตรวจสุขภาพก่อนเกษียณ หลังเกษียณไม่เท่าไหร่ก็เสียชีวิต  ดังนั้นการทำครอบฟันครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต(แก่ๆ) จึงอยากจะนำมาเล่าให้ฟังกันหน่อย ใครเห็นว่าไร้สาระก็ข้ามเลยไปนะครับ


        มีใครคิดเหมือนผมมั๊ยครับ ว่าคนเรานี่กลัวหมอยิ่งกว่ากลัวตำรวจ  มีเพื่อนๆบางคนป่วยเป็นเบาหวานบ้าง ไขมันสูงบ้าง ปกติมันจะกินอุตลุต แต่เวลาใกล้วันหมอนัด มันจะควบคุมเต็มที่ เพราะกลัวโดน "หมอด่า" มันว่าอย่างนั้น


        ผมก็เช่นกัน มาพบหมอครั้งนี้ก็ตื่นเต้นว่า เอ หมอคนนี้จะยังไงน้า กลัวว่าจะเจอหมออารมณ์ไม่ค่อยดี  และยิ่งเป็นหมอฟันนี่(ไม่ใช่ Funny นะัครับ) เราจะตอบอะไรก็ไม่ได้ เพราะโดนให้อ้าปากค้างไว้ตลอดเวลา ก็ได้แต่ เอ้อๆๆ ได้แค่นั้น ทำให้ปอดๆอยู่เหมือนกัน


        แต่ผิดคาดครับ คุณหมอสุทัศน์ อารมณ์ดี พูดจาสุภาพ ให้คำอธิบายชี้แจงรายละเอียดต่างๆเป็นอย่างดี  ไม่ใช่ว่าจะชมไว้ก่อนเผื่อว่าจะมาทำอีกนะครับ ท่านดีจริงๆ จนถึงวันทำเสร็จ ขอขอบคุณ คุณหมอและผู้ช่วยด้วยครับ


        ในที่สุดที่คุณหมอบอกราคาใว้ 5,000.00 บาท คุณหมอบอกว่า กฟน.ออกให้ 2,100.00 บาท ให้ผมไปจ่ายเงิน 2,900.00  บาท  แล้ว(วันหลัง)ผมยังได้นำใบเสร็จรับเงินนี้ไปเบิกที่ชมรมพนักงานเกษียณอายุ (ชกฟน.)ที่มีอาคารอยู่หลังโรงพยาบาล ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีก 2,000.00 บาท ชึ่งเป็นสวัสดิการที่ให้แก่สมาชิกของชมรมฯ โดยได้รับการต้อนรับและบริการเป็นอย่างดีจากคุณวิชาญ ศิลป์วุฒยา ซึ่งขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ


        ที่เล่ามานี่ คืออยากจะแจ้งให้ท่านที่เกษียณทั้งหลายทราบว่า ในการทำฟันนั้น กฟน.มีสวัสดิการช่วยให้บางส่วน (โปรดดูตามตารางที่แสดงไว้ในช่อง "เบิกได้") และถ้าเข้าข่ายตามระเบียบของ "ชกฟน." ท่านสามารถเบิกได้อีก  ส่วนที่กฟน.ช่วยนี่ผมไม่รู้มาก่อนจริงๆ หากใครรู้แล้วก็ขอโทษด้วย ที่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน


        ตั้งแต่เกษียณมานี่ หาหมอทีไรเสียเงินเองทุกที คราวนี้ทำฟันเสียแค่ 900.00 บาท เอง ก็ต้องขอขอบคุณ กฟน. ที่ออกให้ส่วนหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ชมรมพนักงานเกษียณอายุ สโมสรการไฟฟ้านครหลวง" (ชกฟน.) ที่มีสวัสดิการให้สมาชิกปีละไม่เกิน 2,000.00 บาท โดยการจัดหารายได้มาจากคณะกรรมการชมรมฯ


        จากผู้ที่ไม่มีรายได้แล้ว ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 4,100.00 บาท ก็ดีใจเป็นธรรมดา  เลยอดไม่ได้ที่จะมาเล่าไว้ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ


        ท่านผู้เกษียณท่านใดสนใจ ลองดูรายละเอียดข้างล่างนี่ได้นะครับ เจ้าหน้าที่ได้กรุณามอบให้มาเผยแพร่  หากไม่เข้าใจอะไรลองสอบถามดูได้นะครับ รับรองไม่ดุแน่ๆ....








**************



แถมด้วยภาพเขียวเย็นตา ดูชุ่มชื่น หลังโรงพยาบาล กฟน.สามเสน หน้า ชมรม ชกฟน.
ใน กฟน.ที่อื่นๆ ดูจะหาที่สดชื่นเช่นนี้ยาก

ถ้ามีเก้าอี้สักหน่อยคงจะดี เวลารอหมอ จะได้มานั่งพักรับลมเย็นกันบ้าง



*******************


เชิญนั่งเรือชมคลื่นฯ

นั่งเรือ ชมคลื่นเล็กๆ เกาะเกร็ดงามตา
เจ้าพระยา บางปะอิน ศิลปชีพบางไทร


ชมรมสมาชิกผู้เกษียณอายุฯ (ชสอฟ.) จัดรายการผ่อนคลายกับอากาศร้อนๆ โดยเชิญชวนกันไปนั่งเรือล่องเจ้าพระยาตากลม-ชมวิวสองฟากฝั่งเจ้าพระยา พักผ่อนสายตากับหมู่แมกไม้ ไปเช้า เย็นกลับ ท่านละ 700 บาทเท่านั้น


วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน เป็นวันที่เราจะพบกัน  งานนี้จัดสำหรับผู้เกษียณและผู้ปกครอง เอ๊ยไม่ใช่..ผู้ติดตามเท่านั้น แต่สำหรับท่านที่จะเกษียณในปีนี้หรือปีหน้า ถ้าอยากจะลองสัมผัสบรรยากาศเพื่อเรียนรู้ ลองติดต่อกรรมการสอบถามดูได้นะครับ


ผู้สนใจโปรดดูีรายละเอียดในเอกสารที่แสดงไว้ได้เลยครับ หากประสงค์จะร่วมเดินทางโปรดติดต่อตามรายชื่อกรรมการและหมายเลขโทร.ฯ  ที่ให้ไว้ได้เลยครับ


เสียดายที่ผมไม่ได้ไปสำรวจเส้นทางกับเขาด้วย เลยไม่มีรูปสวยๆมาให้ดูกัน











*****************

งานอุปสมบท

งานอุปสมบท

        ด้วยคุณกิจจา บุญนาค อดีตผู้อำนวยการกองบริการ การจำหน่าย เขตสมุทรปราการ จะทำการอุปสมบทให้บุตรชาย นายณัฐสิทธิ์ บุญนาค (กร) โดยจะโกนผมนาคในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายนนี้ ตามรายละเอียดในบัตรเชิญที่แสดงไว้นี้  จึงขอเชิญท่านที่รู้จักชอบพอรักใคร่นับถือกันกับคุณกิจจาไปร่วมอนุโมทนาฯในครั้งนี้ด้วย  หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดสอบถามได้ที่ โทร. 081 459 3235 (คุณกิจจา) ได้เลยครับ













***************