ชวนฟังเพลง

มาฟังเพลงกันดีกว่า




*************


ข้างบนนี้เป็นประกาศเชิญชวนของคุณพันธุ์ศักดิ์ พูลเรือง เพื่อนรุ่นน้อง

อดีตพนักงานการไฟฟ้านครหลวงเหมือนกัน
(เป็นสมาชิกคงสภาพ สอฟ.ด้วย)

 ที่ได้ขอเกษียณก่อนกำหนด ไปจัดรายการเพลงที่ใจรัก
(ไม่รู้ใช่หรือเปล่า-ผมเดาเอาเอง)

โดยมีเพื่อนร่วมจัดรายการด้วยคือคุณไพรัช พันธุมวงศ์


ท่านที่ชอบขับขี่จักรยาน การออกกำลังกาย การท่องเที่ยว ผจญภัย

และชอบฟังเพลง

ก็ขอเชิญเปิดวิทยุฟังได้ตามรายละเอียดข้างบนนะครับ

(ประเภทชอบเสี่ยงภัยโดยไม่ชอบขี่จักรยาน แต่ชอบขี่อย่างอื่นที่สนุกกว่าขี่จักรยาน 
เช่นขี่มอเตอร์ไซค์ จะฟังด้วยได้มั๊ยครับ?)



และก็ยังฟังทาง คอมพิวเตอร์ได้อีกแน่ะ

จะขอเพลงหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ โทรไปได้เลยครับ

หรือจะคุยกันทาง Facebook ก็ได้ครับ "อีทีโอ จักรยานเพื่อสุขภาพ"


สำหรับคน "สุขภาพไม่ค่อยดี" อย่างผม

ก็ต้องฟังเสียหน่อย เผื่อว่าสุขภาพจะดีขึ้นบ้าง



นี่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เพื่อนๆจะได้ร่วมกิจกรรม(ฟังเพลง)ร่วมกันครับ


ขอให้ทุกท่านฝันดีหลังจากน้ำแห้งแล้ว

และขอเป็นกำลังใจ เอาใจช่วยสำหรับท่านที่ยังต้องทนทุกข์อยู่กับน้ำ

ขอให้น้ำลดไวๆนะครับ


************

เก็บมาฝาก


เก็บมาฝาก




ภาพ :  by ชาวจรัญร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม
จาก facebook คุณ Niwate Sri

จะไปไหนคร้าบบบ.... ผมจะไปส่ง

(สุนัขก็มีจิตอาสานะครับ)




ภาพ : by ชมรมคนชอบฟัง สถานีวิทยุจราจร
จาก Facebook คุณ Niwate Sri


ขอเชิญผู้เเกษียณเที่ยวฟรีครับ ไม่ต้องเสียค่าโดยสาร

ไม่ต้องมัดจำล่วงหน้า

ไม่ต้องผ่อนส่ง

"นำเที่ยว(เดียว)" แต่ไม่ "นำกลับ" นะครับ

ต้องกลับเอง (ขากลับกลัวตกราง)

**** โปรดจองด่วน ก่อนน้ำลด ****





The Best Things in Life are Free
By : Best Quotes (Facebook คุณ Niwate Sri)

ชีวิตเรา ไม่มีอะไรมาก

ถ้ามีตามสิ่งที่มีในภาพข้างบนนี้ ก็มีความสุขแล้ว

ทุกอย่าง ไม่ต้องเสียตังค์เลย...ได้มาฟรีๆ






ภาพนี้ ก็อปไว้แล้วจำไม่ได้อีกนั่นแหละ ต้องขออภัยเจ้าของภาพด้วยครับ



เกษียณแล้วไม่มี เบนลี่ เบนเล่ขี่กะเขา

ก็ต้องเล่นอย่างนี้แหละครับ สะเทินน้ำสะเทินบกดีนักแล

น้ำมันก็ไม่ต้องใช้  แต่ตอนนี้หญ้าหายากหน่อยเพราะน้ำมันท่วม



*********

นำมาฝากกันดูเล่นๆคลายเครียดยามรอน้ำลด
หรือรอล้างบ้าน
หรือรอรับเงินช่วยเหลือ..
ฯลฯ

ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพและท่านที่นำมาเผยแพร่ด้วยนะครับ
และก็ขออนุญาตย้อนหลังด้วยนะครับ
เจตนาเพื่อคลายเครียด ไม่มีธุรกิจครับ
ขอบคุณคุณ Niwate Sri ที่มีภาพดีๆ(ให้อยากนำมาแบ่งปันผู้อื่น)เยอะ


**********

คำขอบคุณจากคนชรา








คำขอบคุณจากคนชรา (ผู้เกษียณฯ)





(ขออภ้ยเจ้าของภาพ จำไม่ได้ว่านำมาจากที่ใด) ได้ที่มาแล้วครับ จาก Facebook คุณ Niwate Sri นั่นเอง ขอขอบคุณครับ..
 
นี่ขนาดมีพระนำนะครับ ยังลำบากขนาดนี้


             หลังจากที่ได้ร้องเรียนไปยัง ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และฝากผ่าน Blog ไปยังประธานสหภาพฯ

         บ่ายวันนี้ (23 พ.ย.2544) ก็ได้รับทราบจากประธานชมรมผู้เกษียณฯ ชสอฟ. นายวิเชียร ปั้นศรี ว่าคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯได้นำปัญหาในเรื่องการต้องแสดงเอกสารหนังสือรับรองว่าน้ำท่วมบ้านจริงจากทางราชการ โดยเขต หรือท้องถิ่นที่ผู้เกษียณที่บ้านถูกน้ำท่วมอาศัยอยู่มาแสดงพร้อมด้วยเอกสารอื่นๆที่สหกรณ์ฯกำหนดไว้ในประกาศฯ นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการฯ

          ผลการประชุมมีการพิจารณาเป็นประการใดขณะนี้ยังไม่ทราบเป็นทางการ  แต่ประธานสหภาพฯ นายประจวบ คงเป็นสุข ได้แจ้งโดยวาจากับประธานชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. ว่าเอกสารที่กล่าวถึง "ไม่ต้องใช้แล้ว"

          ดังนั้น จึงขอแจ้งมายังผู้เกษียณทุกท่านที่จะยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากสหกรณ์ฯในเรื่องน้ำท่วม ก็ไม่ต้องถ่อ(เรือ)ไปขอเอกสารใดๆจาก "ทางราชการ" อีกแล้ว และหากสมาชิกสหกรณ์ฯที่ยังไม่เกษียณท่านใดได้อ่านพบข้อความนี้ หากรู้จักผู้เกษียณท่านใด ก็ขอความกรุณาบอกต่อด้วย  เพื่อเป็นบุญกุศลแก่คนแก่ที่ทุกข์กับน้ำท่วมบ้าน แล้วยังต้องมาวิ่งไปวิ่งมาเสียค่ารถค่าเรือ(ค่าเรือจริงๆ)รวบรวมเอกสารอีก กว่าจะได้สักห้าพัน (หรือไม่เกินที่จ่ายจริง)

          ก็ต้องขอชมและขอบคุณประธานสหกรณ์ฯ ประธานสหภาพฯ และคณะกรรมการทุกท่านที่ร่วมพิจารณาในครั้งนี้ ทุกท่านได้ทำหน้าที่อย่างฉับไว สมกับเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ ที่สมาชิกส่วนใหญ่ได้เลือกสรรท่านเข้ามาดูแลองค์กร และดูแลทุกข์สุขของสมาชิก ไม่เหมือนกรรมการบ้าอำนาจบางคน(ที่ยอมย้ายข้างกลับไปกลับมาเพื่อให้อยู่ในตำแหน่ง)

          และต้องขอขอบคุณ ประธานชมรมผู้เกษียณฯ ชสอฟ.นายวิเชียร ปั้นศรี ที่ได้ติดตามข่าวสารประสานงานและแจ้งให้สมาชิกทราบ


         จบเรื่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ กฟน.แล้วครับ

         ต่อไปนี้ ผมจะเล่าถึงเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ของการประปานครหลวง กปน.บ้างครับ

         ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่รู้เรื่องเกี่ยวกับสหกรณ์ฯใน กปน.ดีพอสมควร ได้ข้อมูลมาดังนี้ครับ

         ....สหกรณ์ฯ กปน. กำหนดวงเงินช่วยเหลือสำหรับสมาชิกที่ประสบอุทกภัยไว้รายละ10,000.00 บาทครับ (ไม่ใช่ 5,000.00 บาทเช่นสหกรณ์เก่าแก่ ยิ่งใหญ่ อย่างสหกรณ์ กฟน.จ่าย) อันนี้กำหนดไว้นานแล้วด้วย ไม่ใช่เพิ่งมาใช้ในปีนี้....

        ....สหกรณ์ฯกปน.ใช้วิธีการบริการแบบที่โฆษณาบริษัทประกันภัย แห่งหนึ่งในทีวี  คือ "เคลมไว จ่ายไว" คือสหกรณ์จะจัดกรรมการไว้ประจำ เมื่อมีผู้มายื่นเรื่องมีเอกสารครบถ้วน กรรมการตรวจสอบเรียบร้อยอนุมัติฯ ใช้เวลาไม่กี่วัน ก็ทะยอยจ่ายไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ตกค้าง

          นี่แหละครับ ความก้าวหน้าของที่อื่นเขา หัดไปดูเขาบ้าง ไม่ใช่จะนั่งดูแต่ "ของเดิม" หากินกันทั้งชาติ มันง่ายดี ไม่ต้องคิด.....คิดได้แต่กูจะออกระเบียบให้มันยุ่งเข้าไว้ ไอ้เรื่องดีๆทันสมัยไม่ไปดูเขาบ้าง

         ก็มีแค่นี้แหละครับ บอกกล่าวกันให้รู้ไว้ อยากเป็นนักบริหาร มันต้อง "กว้าง- ไกล" ดูการพัฒนาความเปลี่ยนแปลงของโลกบ้าง อย่าติดยึดตนเอง อ้างของเดิมตลอด
        
         สำหรับจำนวนเงินที่สหกรณ์ฯ กฟน.จ่าย 5,000.00 บาท ซึ่งน้อยกว่าสหกรณ์ฯ กปน.นั้นหากท่านประธานสหภาพฯ ยื่นข้อเรียกร้องให้ กฟน.จ่าย 30,000.00 บาท สำหรับพนักงานที่ผู้ประสบอุทกภัยสำเร็จเสร็จแล้วประการใด   ถ้าจะกรุณาช่วยมายื่นข้อเรียกร้องให้สหกรณ์ฯกฟน.จ่ายเงินช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบอุทกภัยให้เท่ากับสหกรณ์ฯของ กปน. หน่อยก็คงจะดีครับ รัฐวิสาหกิจเกรดเดียวกัน ก็ควรจะทำอะไรเหมือนๆกัน อนาคตต่อไปหากจะอ้างอะไรถึงรัฐวิสาหกิจอื่นจะได้ไม่ถูกหาว่า "สองมาตรฐาน"  ผมเห็นใจผู้เกษียณที่อยู่รอบนอกที่ถูกน้ำท่วมบ้านสูงเป็นเมตร ห้าพันบาทก็คงซื้อไม้กวาด แปรง ผงซักฟอก ยาฉีดยุงก็คงจะหมดแล้ว...เงินดาวเงินเดือน รายได้ประจำก็ไม่มีเหมือนเขาแล้ว....

          สำหรับผม ได้ 5,000.00 ก็คงจะพอแล้ว แค่นี้ก็เหนื่อยฉิบ...

         ก็ขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่พิจารณายกเว้นเอกสารนี้ด้วยความจริงใจครับ  สำหรับมาตรการการตรวจสอบการทุจริตนั้น คิดว่าคงไม่เกินความสามารถ ของกรรมการทุกท่าน.....

         ขอให้ฉับไวเช่นนี้ตลอดไปนะครับ.....

         เลือกตั้งคราใด คงไม่พลาด....


          ************


กด-ระเบียบ สำหรับน้ำท่วม (ใหม่)

กด-ระเบียบ
แด่คนชราที่บ้านถูกน้ำท่วม




 
          ตามที่ผมได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายไพบูลย์ฯในการทำหน้าที่ประธานกรรมการพิจารณาความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ฯที่ประสบภัยถูกน้ำท่วม ในฐานะสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบจากกฏระเบียบที่ตั้งไว้คนหนึ่ง  การแสดงความคิดเห็นนี้ก็เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อความสะดวกแก่สมาชิก และเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง มิได้อ้างองค์กรหรือสถาบันใดมากดดันใดๆทั้งสิ้น

         ต่อมาคณะกรรมการฯก็ได้มีการประชุมและมีการพิจารณาแก้ไขระเบียบเป็นไปตามที่ผมเสนอ และก็ทำได้ดีเสียด้วย ซึ่งผมก็ได้แสดงความชื่นชม ไว้ในบล็อกนี้แล้วเช่นกัน

         แต่ในช่วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งเป็นเวลาของมหกรรมโจมตีกันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเปิดเวที แผ่นปลิว ใบปลิวเถื่อน จดหมาย ฯลฯ บทความที่ผมเขียนในบล็อกนี้ก็ถูกนำไปใช้ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต่างไปจากเจตนาที่ผมตั้งใจไว้

         เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของผู้ใดผู้หนึ่ง และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ได้รับการแก้ไขลุล่วงไปด้วยดีแล้ว ผมจึงได้ทำการลบบทความที่กล่าวนี้แล้ว และไม่ควรมีผู้ใดนำไปเผยแพร่หรือนำไปเป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากผู้ใดนำไปเผยแพร่ถือว่าเป็นการนำไปใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง

         สุดท้าย ผมขอยืนยันว่าผมมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์องค์กรตามสิทธิของสมาชิก และผมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวตามระบอบประชาธิปไตย  และขอประกาศตัวว่าผมไม่เคยอยู่ในอาณัติของใครทั้งสิ้น ไม่เคยมี "ปลอกคอ" ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหน ไม่ว่าหนุ่มว่าแก่ ถ้าผมจะนับถือใคร ผมจะนับถือที่ "ความคิด" ไม่ใช่นับถือที่ "ความแก่" และอย่านำมาเป็นประเด็นกดดันองค์กรที่ผมเป็นกรรมการอยู่  การกระทำทุกอย่างผมเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งสิ้นโดย "ชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ." ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งประธานชมรมฯ นายวิเชียร ปั้นศรี ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เคยมาก้าวก่ายความคิดเห็นของผมนอกห้องประชุม

          จึงขอเรียนมายังท่านที่อ่านบล็อกนี้ทุกท่าน เพื่อจะได้เข้าใจตัวตนของผมอย่างถูกต้อง...

         ขอบคุณครับที่อ่านจบ (โดยไม่ต้องเปิดเพลง "กรุณาฟังให้จบ" ของ แช่ม แช่มรัมย์)


      

         




                        
          

***********

คลายเครียด

คลายเครียด ยามน้ำท่วม





          ในห้วงแห่งเวลาที่ประเทศไทยค่อนประเทศ เจิ่งนองไปด้วยน้ำ หลายชีวิตหลายครอบครัวต้องทนลำบากกับการอยู่กับน้ำเน่า หลายครอบครัวต้องสูญเสียทรัพย์สินที่หามาด้วยความยากลำบาก เกษตรกรจำนวนมากต้องสูญเสียพืชผล ไร่สวนต้องล่มสลาย

         จากเหตุการณ์นี้ เราได้เห็นทั้งผู้มีน้ำใจ  ผู้ที่ต้องการรักษาประโยชน์ส่วนตน สันดานของนักการเมืองเลวๆบางคน การขับเคี่ยวชิงความได้เปรียบกันระหว่างพรรคการเมือง และนักการเมือง ฯลฯ

        สำหรับผู้เกษียณอย่างพวกเราๆ ก็คงมีโดนกันบ้าง แต่เรามิอาจติดต่อทราบ  ข่าวคราวกันได้  ก็หวังว่าพวกเราคงไม่โดนกันหนักมากนัก เพราะเงินดาวเงินเดือนก็ไม่มีกันแล้ว ซ่อมบ้านเรือน ของใช้ภายในบ้านก็คงต้องใช้ทุนเก่าไป  ทุนที่มีน้อยอยู่แล้วก็คงจะหมดเร็วขึ้น ที่บ้านผมก็โดน ก็ต้องซื้อถุงทรายซื้อปั๊มน้ำ ก็หมดไปเป็นหมื่น ก็ยังนับว่าน้อยกว่าคนอื่นมาก  ก็ขอเอาใจช่วยพี่ๆเพื่อนๆ ให้สู้กันต่อไปนะครับ

          นอกจากกำลังใจแล้ว ผมก็เพียงทำได้แค่นำบทความและภาพเล็กๆน้อยๆที่ขอแบ่งปันจากเพื่อนใน Facebook มาสู่กันเพื่อคลายเครียดนะครับ ยามแก่เฒ่าหมดเรี่ยวแรงแล้ว มันก็ลำบากหน่อย คนจะมาช่วยเยียวยาก็หายาก ขอให้ทุกคนโชคดีนะครับ และขอให้บ้านเรือนสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้โดยเร็ว  และฟังพระไพศาล วิสาโล แล้วจงมีกำลังใจเข้าไว้....






เรื่องแรกครับ ธรรมะจากพระ "ไพศาล วิสาโล" โดย "หนุ่มเมืองจันท์" www.matichon.co.th
มีเนื้อหาดังต่อไปนี้ครับ  เชิญอ่านได้ครับ

บทเรียนจาก "น้ำท่วม" 

ช่วงน้ำท่วม สังคมไทยอยู่ในภาวะเครียดอย่างหนัก

ทั้งหวาดกลัว ทั้งโกรธแค้น

และสุดท้ายก็ระบายออกด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ปัญหาทางกายภาพที่เกิดขึ้น  ไม่เท่ากับปัญหาทางใจของคนที่เผชิญกับวิกฤติการณ์ครั้งนี้

ในเฟซบุ้คของ "พระไพศาล วิสาโล" ช่วงน้ำท่วม มีคำสอนหลายเรื่องที่น่าจะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องแรก "การจัดการความกลัวด้วยธรรมะ"

มีผู้หญิงคนหนึ่งตั้งปุจฉาเรื่อง "ความกลัว"

เธออยู่กับบ้านพร้อมกับพ่อ พี่ชาย และหลานสาว เพราะคุณพ่อไม่ยอมอพยพ และเธอมีสุนัข 7 ตัวที่ต้องดูแล  บ้านของเธออยู่บนพื้นที่สูง ทำให้น้ำท่วมภายนอกรอบบ้านเท่านั้น แต่คนในซอยอพยพออกไปหมด ตอนนี้เธอพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับบ้าน ซื้อเรือมาพายไปไหนมาไหน และออกไปช่วยคนอื่นที่ลำบาก

คำถามของเธอคือ "แต่บางครั้งหนูก็รู้สึกกลัวว่าน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อพอจะแนะนำได้อย่างไรบ้างเจ้าคะ ที่เราจะขจัดความกลัวที่เกิดขึ้นเจ้าค่ะ"

"พระไพศาล" เริ่มต้นด้วยการขออนุโมทนาที่แม้ลำบากก็ยังมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น

"ความกลัวนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้น แต่ขอให้สังเกตุว่าเรากลัวเมื่อใจไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ปรุงแต่งถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาพดังกล่าวจะทำให้เกิดความกลัวและกังวล มันยังไม่เกิด แต่ก็กลัวเสียแล้ว เมื่อรู้เช่นนี้ก็ให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน"

ท่านสอนว่า "ความกลัว" กับเรื่องในอนาคตก็มีประโยชน์ หากมาใช้ในการวางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

"มองในแง่นี้ความกลัวก็มีประโยชน์ หากกลัวแล้วพยายามป้องกันหรือเตรียมวิธีการแก้ไข แต่ถ้ากลัวแล้วจ่อมจมอยู่ในความทุกข์ก็ไม่มีประโยชน์"

เรื่องที่สอง  "ข้อดีของเหตุการณ์ที่แย่ๆ"

"พระไพศาล" บอกว่าเหตุการณ์ที่แย่ๆทั้งหลายยังมีข้อดีอย่างน้อย 2 ประการ คือ สอนใจเรา และฝึกใจเรา  สอนใจเราให้ตระหนักถึงความจริงของชีวิตซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรเป็นนิจ เช่นของหาย ก็สอนใจเราว่าความพลัดพรากจากของรักเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราหรือเป็นของเราได้อย่างยั่งยืน

การถูกตำหนิก็สอนใจเราว่า สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ไม่มีใครที่จะได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว ไม่ว่าดีแค่ไหนก็ยังถูกนินทา

ฝึกใจเรา เช่น ฝึกใจให้ไม่ประมาท ระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นอีก หรือฝึกใจให้ปล่อยวางเพื่อรับมือกับเหตุร้ายที่แรงกว่าในอนาคต

พระไพศาล ยกตัวอย่างว่าหากใครทำโทรศัพท์หายยังปล่อยวางไม่ได้ ก็น่าตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเรื่องแค่นี้ยังปล่อยวางไม่ได้ แล้วจะทำใจได้อย่างไรเมื่อต้องสูญเสียคนรัก เช่นพ่อแม่ลูกเมีย ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่

เหตุการณ์แย่ๆนั้นจะช่วยฝึกใจเราให้มั่นคงเข้มแข็ง เพราะต้องเจออะไรต่ออะไรอีกมากมายในวันข้างหน้า อีกทั้งยังฝึกให้เราฉลาดและมีประสบการณ์มากขึ้น

"อย่าลืมว่า คนเราเรียนรู้จากความล้มเหลว ได้มากกว่าความสำเร็จ" คือ บทสรุปของ "พระไพศาล"


เรื่องที่สาม  "ปัญหาอยู่ที่ผู้มอง"

"พระไพศาล" เริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าในหนังสือ "จะเล่าให้คุณฟัง" ของ "ฆอร์เฆ่ บูกาย"

เป็นเรื่องของชายผู้หนึ่งโทรศัพท์ถึงหมอประจำครอบครัว

"ที่ผมโทรมาหาหมอ เพราะผมเป็นห่วงภรรยา"

เมื่อหมอถามว่า เธอเป็นอะไร ก็ได้คำตอบว่า "เธอกำลังจะหูหนวก อยากให้หมอมาดูอาการเธอหน่อย"

หมอไม่สะดวกไป จึงนัดให้เขาพาเธอมาหาวันจันทร์ แต่เขาอยากให้หมอรีบมาทันที หมอจึงทำการวินิจฉัยทางโทรศัพท์

"คุณรู้ได้อย่างไร ว่าเธอไม่ได้ยิน

"ก็เวลาผมเรียกเธอ เธอไม่ยอมตอบนี่"

หมออยากรู้ว่าเธอหูหนวกแค่ไหน จึงแนะให้เขาเรียกเธอจากจุดที่กำลังโทรศัพท์ ตอนนั้นเขาอยู่ห้องนอน ส่วนเธออยู่ห้องครัว

เขาตะโกนเรียกชื่อเธอ "มาเรียยยยยยยย........เธอไม่ได้ยินผมเลย หมอ"

หมอแนะให้เขาเดินไปที่ประตูห้องนอน แล้วตะโกนเรียกเธอจากทางเดิน

"มาเรียยยยยยยย...เธอไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อย  หมอ"

หมอแนะให้เขาเดินหาเธอแล้วตะโกนเรียกเธอไปด้วย จะได้รู้ว่าเธอได้ยินเสียงเขาเมื่ออยู่ใกล้แค่ไหน

"มาเรียยย.....มาเรียยย.... มาเรียยยยย  ทำอย่างไรเธอก็ไม่ได้ยิน" แล้วเขาก็พูดต่อว่า ตอนนี้เขาอยู่ตรงประตูครัว เห็นเธอหันหลังให้เขา กำลังล้างจาน แต่ไม่ได้ยินเสียงเขาสักนิด

หมอแนะให้เขาเดินเข้าไปใกล้อีกนิด แล้วเรียกชื่อเธอด้วย

คราวนี้ภรรยาหันขวับมาด้วยความฉุนเฉียวแล้วพูดว่า

"คุณต้องการอะไรกันแน่ฮึ  ต้องการอะไร  ต้องการอะไร  ต้องการอะไรรรรรร........คุณตะโกนเรียกฉันเป็นสิบครั้งแล้ว....ฉันก็ตอบคุณไปทุกครั้งว่า "ว่าอย่างไรคะ"  คุณนับวันจะหูตึงขึ้นเรื่อยๆ  ทำไมไม่ไปหาหมอสักที


คำตอบของภรรยา ชัดเจนว่าใครกันแน่ที่หูตึง และสมควรไปพบหมอ

"พระไพศาล" สรุปว่า นิทานเรื่องนี้เตือนใจได้ดีว่า ก่อนที่จะสรุปว่าคนอื่นมีปัญหา ควรตรวจสอบให้แน่ใจ ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเอง

เพราะบ่อยครั้ง เราเองต่างหากที่มีปัญหา หาใช่คนอื่นไม่

คนที่ชอบตัดพ้อว่า ทำไมเพื่อนไม่เข้าใจเราเลย ควรกลับมาถามตัวเองบ้างว่า แล้วเราล่ะ เข้าใจเพื่อนบ้างหรือเปล่า บางทีอาจจะพบว่า เป็นเพราะเราเอาแต่ใจต้ว หรือชอบเรียกร้องความเข้าใจจากคนอื่นต่างหาก

พอเพื่อนไม่ยอมทำตามความต้องการของเรา ก็เลยตีขลุมว่าเขาไม่เข้าใจเรา

"พระไพศาล" ตบท้ายว่า "คนที่ชอบกล่าวหาคนอื่นว่าไม่มีน้ำใจนั้น มักจะมองไม่เห็นตนเองว่าที่แท้ ตนเองนั่นแหละเห็นแก่ตัว"

บางที "ธรรมะ" จากพระไพศาล ทั้งสามเรื่องอาจทำให้เรามองปัญหาน้ำท่วมอย่างเข้าใจมากขึ้น

เข้าใจปัญหา  

 และ  เข้าใจตัวเรา

นอกจากนั้นก่อนจะวิจารณ์คนอื่นอย่างรุนแรง

ก็ให้นึกถึงเรื่อง "คนหูหนวก"  ก่อนเปิดวาจา

********
จบแล้วครับ...เป็นอย่างไรบ้าง  ได้อย่างที่ "พระไพศาล" ให้ข้อคิดไว้บ้างหรือไม่  แต่สำหรับผม ตอนนี้เวลาเรียกเมีย แล้วไม่ได้ยินเมียตอบรับ ต้องฟังให้ดีๆก่อน อย่าเพิ่งไปหาว่าเมียหูตึง (ตึงอยู่อย่างเดียว)ไม่ได้นะครับ เดี๋ยวโดนตะหวาดแบบคุณลุงข้างบน

ส่วนภาพต่อไป ขออนุญาตแบ่งปันมาจากเฟซบุค "ชุมชนคนใจดี บ้านสายรุ้ง" ครับ  เห็นว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องข้างบน เลยนำมาให้ดูเพลินๆ  คนวัยนี้ อะไรก็หย่อนหมด ยกเว้นหูนะครับ   ใครที่ยังหนุ่มยังสาวพึงสังวรณ์ไว้นะครับ  อย่าหัวเราะพวกเรา ส.ว. สักวันก็จะเจอกับตัวเอง   อิ อิ...
  





เมื่อกล่าวถึง "ความชรา" แล้ว  เราอาจจะคิดถึงอดีตของเรา ซึ่งดูเหมือนมันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว  เราอาจจะยังจำวันแรกๆที่เราเริ่มเข้าทำงานใหม่ๆ  แต่เวลาผ่านมาดูเหมือนไม่นาน  ก็ถึงวันเกษียณเสียแล้ว  จึงมีคำเตือนว่า  "ชีวิตนี้สั้นเกินกว่าที่จะทำอะไรให้สำเร็จ" ในช่วงชีวิตของเรา เรายังอยากทำอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกมากมาย  ดังภาพข้างล่างนี้  แม้แต่ป้ายที่เขียน ก็ยังเขียนไม่เสร็จเลย (ขอปันมาจาก facebook คุณปราย พันแสง ภาพโดย Feel Desian)



สุดท้ายครับ สำหรับใครที่กำลังมีความทุกข์ เหนื่อยหน่าย สิ้นหวัง
ผมมีภาพนี้มาฝากครับ
(By : Thai Book Swap & Review


"ถ้าชีวิตมันหนัก ....ก็ทิ้งของรกๆรุงรังไปเสียบ้าง"


(ภาพแถม)



สำหรับท่านที่จะต้องไปทำงานวันจันทร์
ซึ่งว่ากันว่าเป็นวันที่คนเกลียดที่สุด

(ภาพนี้ต้องขออภัยเจ้าของภาพ ผมยังหาที่มาไม่เจอ พบแล้วจะแจ้งให้ทราบ)

สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)

สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)




        ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ผู้สูงอายุมีอายุยืนขึ้น เฉลี่ยในผู้หญิง 74.5 ปี และผู้ชาย 69.9 ปี แม้ผู้สูงอายุจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตมิได้ดีขึ้นตามด้วย เนื่องจากสภาพร่างกายที่เสื่อมลง ประกอบกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้สูงอายุ 1  คนต้องมีผู้ดูแลมากถึง 9 คนเลยทีเดียว คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 ไทยจะก้าวกระโดดมีผู้สูงอายุมากถึง 14.4 ล้านคน และในปี พ.ศ.2593 ผู้สูงอายุจะล้นเมือง มีจำนวนมากถึงร้อยละ 27 ของพลเมืองทั้งประเทศ

          ความชราภาพเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอันยาวนานทางกายภาพ (physiology) อารมณ์ (emotional) พุทธิปัญญา (cognition) ความสัมพันธ์ (interpersonal) และฐานะทางการเงิน (economic)

จึงไม่แปลกที่ยิ่งชราภาพมาก ยิ่งพบความแตกต่างมากตามไปด้วย

As we grow older, we become unlike each other.

ซึ่งมีหลายทฤษฎีที่อธิบายความชราภาพนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ทฤษฎีทางชีวภาพ (Biological theory)

Genetic theory : ความชราภาพมีกรรมพันธุ์เป็นตัวควบคุมและกำหนด ถ่ายทอดหลายชั่วอายุคน แสดงออกทางกายภาพ เช่นผมหงอก หัวล้าน เป็นต้น

Error catastrophy theory : ความเสื่อมของเนื้อเยื่อและการทำงานที่ผิดพลาดของเซลล์ที่ชรา ทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานลดลง

Collagen theory : การหดตัวของคอลลาเจนไฟเบอร์ ทำให้เกิดริ้วรอย ความเหี่ยวย่นของผิวหนังและความผุกร่อนของกระดูก

Auto-Immune theory : ภูมิคุ้มกันที่ทำงานถดถอย ทำให้ร่างกายต้านทานต่อเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้ไม่ดี จึงพบความเจ็บป่วยได้ง่าย

Free Radical theory : อนุมูลอิสระ เป็นตัวการของความผิดปกติของยีนคอลลาเจนและอีลาสติน

ทฤษฎีทางจิต (Psychological therory)

Personality theory : พัฒนาการทางจิตและสัมพันธภาพในอดีตส่งผลต่อความสุขในบั้นปลายชีวิต

Intelligence theory : ความปราดเปรื่องจากการสะสมประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง

Erickson's theory : ความมั่นคงและคุณค่าแห่งตน เป็นผลจากความสำเร็จของช่วงชีวิตที่ผ่านมา

ทฤษฎีทางสังคม (Social theory)

Role theory : ความสำเร็จในแต่ละช่วงวัยที่ผ่านมา นำมาซึ่งการยอมรับความชราเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ

Activity theory : กิจกรรมและการเคลื่อนไหว นำพาความสุขและคุณค่าแห่งตนแก่ผู้สูงอายุ

Disengagement theory : การถอนตัวหลีกหนีจากสังคมเพื่อลดความตึงเครียด หรือความกดดัน

Contiuity theory : การปรับตัวและพฤติกรรมของผู้สูงอายุต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบข้าง เช่นลดน้อยลงของรายได้ โดยรูปแบบการปรับตัวแตกต่างกันตามบุคลิกภาพเดิม

Age strattification theory : อายุเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทางสังคม เช่น อายุการเกณฑ์ทหาร อายุการเกษียณ


          การส่งเสริมพลังทางปัญญาผู้สูงอายุ และการเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ "แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข" คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564)โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้านในการก่อเกิดสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคตดังนี้

1. ด้านการเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ
2. ด้านการส่งเสริมผู้สูงอายุ
3. ด้านระบบการคุ้มครองทางสังคม สำหรับผู้สูงอายุ
4. ด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติ และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ
5. ด้านการประมวลและพัฒนาองค์ความรู้ผู้สูงอายุระดับชาติ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ


การเตรียมตัวก่อนเกษียณ (Preretirement education)

          เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ผู้สูงอายุก่อนวัย 60 ปี ในด้านสุขภาพ อาชีพหลังการเกษียณ การจัดการรายได้และทรัพย์สินต่างๆให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ในต่างประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่มีอายุ 40-45 ปีขึ้นไปด้านการเกษียณอายุปีละ 3-4 ครั้ง ด้วยการอบรมสัมมนา  ประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือการเรียนรู้ผ่านสื่อการสอนด้วยตนเอง

การจัดการศึกษาหลังเกษียณอายุ (Post-retirement education)

          รูปแบบที่พบในไทย คือชมรมผู้สูงอายุ โดยเน้นให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในสังคม (Social participation) และพัฒนาคุณค่าแห่งตน (Self actualization) ของผู้สูงอายุ ด้วยการปรับกายจิตและสังคมในการดำรงตนในสังคมอย่างมีความสุข เสริมสร้างทักษะทางสังคมในการสร้างความบันเทิงแก่ตนเอง การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างและร่วมกิจกรรมสาธารณะ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

         ปัจจุบันเราเผชิญกับปัญหาสุขภาพในสังคมผู้สูงอายุไทย โรคที่คุกคามผู้สูงอายุมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และเบาหวาน ควบคู่กับปัญหาสุขภาพจิตที่พบ โรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุ คือโรคซึมเศร้า (พบร้อยละ 3) และอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยอื่น  จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่าผู้สูงอายุไทยมีความรู้สึกเบื่ออาหาร หรือความอยากอาหารลดลงมากที่สุด ตามด้วยคิดมาก วิตกกังวลใจ และหงุดหงิดรำคาญใจ

          การเตรียมความพร้อมและความเชี่ยวชาญอย่างเฉพาะทางของหน่วยบริการด้านสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมกับการให้อำนาจท้องถิ่นในการเชื่อมโยง และสนับสนุนการดูแลสุขภาพและสังคมแก่ผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุของคนในครอบครัว จะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในสังคมผู้สูงอายุ


********

*** คัดลอกจาก http://www.thaifamilylink.net/  สมาคมสายใยครอบครัว Thai Familylink Association*** ขอขอบคุณข้อมูลดีๆที่มีประโยชน์

***

          ในภาวะสังคม-เศรษฐกิจในปัจจุบัน การครองชีวิตที่มีค่าครองชีพสูง การหารายได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเหมือนในอดึตที่จะเปิดร้านชำ ร้านขายของหน้าบ้านกันได้อีกแล้ว  การเกษียณอายุจึงหมายถึงการสิ้นสุดการมีรายได้ประจำ อีกทั้งชีวิตในสังคมก็ต้องเปลี่ยนไป ความกดดันต่างๆจะเกิดขึ้นแก่ตัวผู้เกษียณ และแก่คนรอบข้าง

          การเตรียมตัวเพื่อการเกษียณที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่มีประโยชน์ทั้งในด้านการเงินและในทางจิตใจ รวมทั้งเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ผมได้คัดลอกบทความนี้มาให้อ่านกัน  หากท่านที่เห็นความสำคัญของการเกษียณจะได้เตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ ดังที่ในบทความนี้กล่าวไว้ ในต่างประเทศเขาเตรียมกันตั้งแต่อายุ 40-45 ปี ของไทยเราบางคนเกษียณแล้วยังงงๆอยู่เลย  ในที่นี้จึงอยากจะแนะนำให้ท่านที่จะเกษียณควรเริ่มเตรียมตัว อย่างช้าที่สุดก็ควรเตรียมตัวไม่เกินอายุ 55 ปี จะรวมตัวกันเป็นชมรมหรือเป็นกลุ่ม อะไรก็ได้ เพื่อศึกษาหาความรู้เตรียมพร้อมให้ "แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข" เพราะถ้าท่านเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่เกษียณ ปัจจัยต่างๆจะเอื้อในการทำงานได้มากไม่ว่าจะเป็นการรวมตัว การติดต่อนัดหมาย สถานที่ การเงิน และท่านจะได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ  ท่านไม่ควรรอจนถึงเกษียณ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมันสายไปเสียแล้วที่จะทำอะไรได้ตามใจปรารถนา

          จงรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนช่วยกันให้ความรู้ซึ่งกันและกัน เตรียมตัวให้พร้อม แล้วท่านจะ "เกษียณอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข" ขอให้ผู้ที่จะเกษียณในปีต่อไปและต่อไปจงประสบความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมนะครับ






**********