นโยบายช่วยผู้เกษียณ

สหภาพฯจะช่วยผู้เกษียณแล้ว......

- ผลักดันให้ กฟน.มีการปรับปรุงโรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวงอย่างเร่งด่วน

- ผลักดันให้ กฟน. ให้สิทธิรักษากับผู้เกษียณอายุ กฟน.  ใช้สิทธิ์รักษาได้ทั้งโรงพยาบาล กฟน. และโรงพยาบาลในสังกัดรัฐบาล (เพราะพนักงานเกษียณที่อยู่ตามต่างจังหวัดต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษา)

          ข้อความข้างบนนี้คือนโยบาย 2 ข้อ ใน 15 ข้อของนโยบายข้อที่ 2 ของทีม "กลุ่มปฎิรูปแรงงาน" โดยมี "ประจวบ คงเป็นสุข" เป็นหัวหน้าทีม  และขณะนี้ก็ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554  ได้เป็นผู้บริหารสหภาพชุดต่อไป


         ถึงแม้ว่าผู้เกษียณจะไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งกรรมการสหภาพฯแล้ว   แต่ผู้สมัครกรรมการชุดนี้ได้กรุณา มีนโยบายเผื่อแผ่มายังผู้เกษียณด้วยถึง 2 ข้อ  ซึ่งเป็นข้อที่ตรงใจผู้เกษียณเป็นที่สุด

          เนื่องเพราะว่า เมื่อเกษียณแล้ว ความสิ้นเปลืองในการใช้เงินทองในการใช้ชีวิตให้ยืนยาวต่อไป  ทั้งหมดทั้งสิ้นส่วนใหญ่จะหมดไปกับการรักษาพยาบาล  เมื่ออายุมากขึ้น ก็ต้องใช้เงินมากขึ้น  ในทางกลับกัน ยิ่งอายุมากขึ้น เงินทองก็ร่อยหรอลงทุกที  หนีไม่พ้นก็ต้องไปพึ่งลูก  และลูกๆส่วนใหญ่แล้วก็มีภาระในครอบครัวของตัวเองเต็มที่อยู่แล้ว

          ดังนั้น ถ้าคณะกรรมการชุดนี้ผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลนี้สำเร็จ  ก็จะเป็นอานิสงส์แก่ผู้เกษียณเป็นอย่างยิ่ง





         
           อันที่จริงแล้ว  ในอคีต โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง สามเสน  เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดมาแล้ว  เคยมีหมอแทบทุกสาขา  มีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย  มีห้องผ่าตัด มีกายภาพบำบัด ฯลฯ  มีการเปิดให้บริการบุคคลภายนอก   เช้าๆ นอกจากพนักงานแล้ว  ยังมีบุคคลภายนอก ข้าราชการ ฯลฯ มาใช้บริการ
และได้รับคำชมเชยจากบุคคลเหล่านี้ว่าบริการดี  รวดเร็วกว่าไปโรงพยาบาลของรัฐ

          จนกระทั่ง มาถึงวิกฤตการณ์ "ต้มยำกุ้ง" ที่ไอ้พวกฉ้อฉลทั้งหลาย ร่วมมือกันโกงกินยักยอกทรัพย์สินจนสถาบันการเงินปั่นป่วน ประเทศล่มจม  ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ IMF

          รัฐบาล "ชวน หลีกภัย" ในขณะนั้น  ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ IMF ซึ่งเป็นองค์กรทางการเงิน ที่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากประเทศทุนนิยมตะวันตก  ซึ่งประเทศเหล่านี้ จงเกลียดจงชัง "รัฐวิสาหกิจ" อยู่แล้ว   เพราะประเทศไหนที่มีรัฐวิสาหกิจมากๆ  มันก็ไม่สามารถเข้ามากอบโกย ขูดรีดหาผลประโยชน์ได้สะดวกนัก   ดังนั้น ข้อหนึ่งในเงื่อนไขในการช่วยเหลือทางการเงินของ IMF ก็คือ  ประเทศไทยต้อง  "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ"

          "ชวน หลีกภัย" จึงมีคำสั่งไปยังรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ให้ทำแผนแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  ฝ่ายบริหาร "บ้องตื้น" ก็ไม่รู้จะแปรฯอะไรอย่างไร  เพราะดูอะไรก็จำเป็นทั้งนั้น  แปรรูปไปแล้ว "พวกกู" จะไปอยู่ตรงไหน มองๆไปมองมา สวรรค์โปรด เคยอ่านทฤษฎีการแปรรูปมาว่า "อะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ให้คนอื่นเอาไปทำ"

         ปัญญาเกิดแล้ว  โรงพยาบาลนั่นไง  ไม่เกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าเลย (น่ายกย่องสมองผู้คิดจริงๆ คิดได้ยังไงเนี่ย) ผู้บริหารบุคลากรของโรงพยาบาล ก็ไม่ใช่สายตรง ไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก (น่าสงสัยว่าผู้บริหารของยาสูบ และรถไฟคงโง่กว่าเรา เพราะปล่อยให้โรงพยาบาลของเขา "ลอยนวล" อยู่ได้จนบัดนี้)
         
         เพื่อไม่ให้ยืดยาวขอสรุปว่า ตั้งแต่นั้นมา โรงพยาบาลก็ทรุดโทรมตลอดมา หมอไม่เห็นอนาคตก็ลาออกไป  คนลดลงก็ให้ลดไป เครื่องไม้เครื่องมือ ชำรุดทรุดโทรมก็ปล่อยมันไป งบประมาณลดลงๆ (แต่ผู้ว่าฯได้หน้า เพราะสนองนโยบายรัฐบาลได้)

          แม้มาถึงขณะนี้  ไทยจะหลุดพ้นจากการควบคุมของ IMF แล้ว แต่กระแสการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ยังไม่หมดไป  แต่เปลี่ยนเป็นการผลักดันจากนักธุรกิจการเมือง ที่พยายามจะเข้ามาซื้อรัฐวิสาหกิจผ่านทางตลาดหุ้น เช่น ปตท. หรือ กฟผ. ที่รอดมาอย่างหวุดหวิด

          มาถึงเวลานี้ การแปรรูปโรงพยาบาล ควรจะเลิกคิดได้แล้ว  ควรจะพัฒนาไห้รุ่งเรืองเหมือนเดิม  เพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน และก็ได้เผื่อแผ่มาถึงผู้เกษียณด้วย  เมื่อก่อนสามารถรักษาที่ ร.พ. กฟน.ได้ แต่เดี๋ยวนี้ หมอไม่มี เครื่องมือไม่มี ต้องไปเสียเงินรักษาข้างนอก   นอกนั้นยังเป็นการแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลของรัฐที่ต้องให้บริการด้วยความแออัดยัดเยียด  แต่โรงพยาบาลสามเสน ปล่อยตึกว่าง ห้องว่างไว้เป็นปีๆมาแล้ว ตีเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเท่าไหร่   การบริหารโรงพยาบาลนี้ ผมว่าอาจจะใช้งบประมาณน้อยกว่างบประชาสัมพันธุ์ที่ออกไปทำกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อภายนอกรวมทั้งออกสปอตโฆษณาตามสถานีวิทยุเสียอีก  การ "ให้" สู่ภายนอกเป็นสิ่งดี  แต่ก็ขอให้มองภายในบ้าง  ทั้งยังไม่อยากจะคิดว่า ฝ่ายบริหารไม่ยอมปรับปรุงพัฒนาโรงพยาบาลเพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ผู้เกษียณมาใช้บริการ เป็นการบีบทางอ้อมให้ผู้เกษียณต้องไปใช้บริการข้างนอก อย่างนี้เป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ได้ตกลงสัญญากันไว้หรือไม่ ท่านประธานสหภาพฯคนใหม่

          ท้ายนี้ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับกรรมการสหภาพฯชุดนี้ ที่จะสามารถผลักดันนโยบายนี้ได้มากน้อยแค่ไหน  อันที่จริงแล้วนโยบายนี้มิใช่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เกษียณในปัจุบันนี้เท่านั้น  แต่หากยังเป็นประโยชน์ต่อพนักงานทุกคนที่เมื่อถึงวันหนึ่งท่านก็ต้องเกษียณ  ถึงเวลานั้นท่านก็จะได้รับสวัสดิการนี้เช่นเดียวกัน เหมือนเช่นที่กรรมการสหภาพฯรุ่นก่อนๆได้เคยเรียกร้องสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้ผู้เกษียณที่ผ่านมา  จึงอยากขอร้องให้สมาชิกที่กำลังจะเกษียณหรือน้องๆที่ยังอยู่อีกห่างไกลการเกษียณ ช่วยกันเป็นกำลังให้สหภาพฯทำงานนี้ได้สำเร็จด้วยเถิด 

          อย่าทำตัวเช่นผู้บริหารบางคน  เมื่อเวลาเป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจตัดสินใจได้ ไม่เคยเหลียวแลข้อเรียกร้องของสหภาพฯเลย  แต่พอเกษียณแล้วกลับมองเห็นประโยชน์-สวัสดิการที่ควรได้ มาแนะนำข้อเสนอให้สหภาพฯ   โธ่......... 

        



******************
        

ผลการเลือกตั้งฯ


ขอแสดงความยินดีกับประธานสหภาพฯคนใหม่

นายประจวบ คงเป็นสุข


ผลการเลือกตั้งกรรมการสหภาพฯ
วันที่ 27 มกราคม 2554


หมายเลข 1
นายเพียร ยงหนู และทีม ได้   2189  คะแนน

หมายเลข 2
นายประจวบ คงเป็นสุข  และทีม  ได้ 2460 คะแนน

(โปรดตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง)



การแข่งขัน ย่อมมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ
ผู้แพ้ก็ต้องหาสาเหตุว่าทำไมจึงแพ้ เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุง เพื่อสู้ใหม่

ผู้ชนะก็อย่าทระนงตน ท่านชนะเพราะสมาชิกให้ความไว้วางใจ เลือกท่านเข้ามา
คำมั่นสัญญาใดๆ ที่ให้ไว้ต้องนำมาปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงอย่างเต็มกำลังความสามารถ
และ ณ บัดนี้ สมาชิกทุกคน ไม่ว่าจะเลือกท่าน หรือไม่เลือกท่าน
ต่างก็ล้วนเป็นสมาชิกสหภาพฯเดียวกัน 
ทุกคนต้องได้รับการปฎิบัติและคุ้มครองจากสหภาพฯอย่างเท่าเทียม เสมอกัน


ขอให้คณะกรรมการฯทุกท่านจงประสบผลสำเร็จในการบริหารสหภาพฯ
ให้เจริญก้าวหน้า เป็นคุณประโยชน์ต่อสมาชิกและองค์กรสืบต่อไป
















***************

สวัสดีปีใหม่


สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.2554




ขอให้ทุกท่านจงมีความสุขความเจริญ มั่งมีศรีสุข
ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บตลอดไป























**********