นิทานธรรมะ



นิทานธรรมะ


 
หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเล่าต่างๆ ประกอบด้วยการ์ตูน เป็นแง่คิดเชิงธรรมะ อ่านง่ายๆสบายตา ได้ความคิด บางเรื่องก็ขำๆ เช่นเรื่องที่นำมาฝากนี้......อายุมากแล้ว ความเครียดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ทำใจให้สบาย คลายเครียดเสียบ้างอายุจะยืนยาว
 
 
 
 
 
 
 
ท่านผู้สูงวัยทั้งหลาย
โปรดอย่าลืมออกกำลังกาย
เพราะการออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพแข็งแรง
เช่นคุณตาท่านนี้ ท่านมีสุขภาพแข็งแรงดี
มาฟังเคล็ดลับจากท่าน
 
 
 

เป็นอย่างไรบ้างครับ เคล็ดลับของคุณตา
ใครจะนำไปใช้บ้างก็ได้นะครับ
 
แต่ประเภทออกไปวิ่งออกกำลังกายทุกวัน
วิ่งได้ปีกว่า อุ้มเด็กมาฝากเมียคนนึง
อย่างนี้คุณตาไม่เกี่ยวนะครับ
ตัวใครตัวมันนะครับ
 
ใครที่มีสามีขยันวิ่งทุกวัน แต่พุงไม่ยุบ
ก็ลองตามๆไปดูบ้างนะครับ ไม่รู้วิ่งไปบ้านไหน...
นี่เตือนด้วยความหวังดี (ประสงค์ร้าย) นะครับ
 
 
ขอให้มีความสุขในการเตรียมรับเงินปันผลทุกท่านครับ
 
สวัสดี
 
 
 
*************************
 

อนาคตประทศไทย


อนาคตประเทศไทย
 
อนาคตสหกรณ์ฯ
อนาคตคนเกษียณ




นี่แหละครับที่เรียกว่ากฎหมาย 11 ฉบับ ที่ IMF ให้ไทยปฏิบัติ
เพื่อแลกกับการให้กู้เงินมาฟื้นฟูประเทศ
มีการให้แปรรูป(ขาย)รัฐวิสาหกิจรวมอยู่ด้วย
 
 
ถ้าจะย้อนอดีตไปประมาณ 15 ปี ในราว พ.ศ.2540 ประเทศไทยและประชาชนคนไทยได้เผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจการเงินอย่างรุนแรงที่ไม่เคยพบมาก่อน  วิกฤตในครั้งนั้นได้รุกลามแพร่กระจายไปทั่วโลก จนได้รับการกล่าวขานในชื่อว่า วิกฤต "ต้มยำกุ้ง" เพราะว่ามันได้เริ่มต้นขึ้นจากประเทศไทย ที่ชาวต่างชาติรู้จักอาหารไทยที่ชื่อว่า "ต้มยำกุ้ง" เป็นอย่างดี
 
สาเหตุที่เกิดคือ "ฟองสบู่แตก"
 
 
"ฟองสบู่"..... เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าฟองสบู่คือสิ่งที่ฟูฟ่องเป็นฟองใหญ่โต ดูสวยงามแต่ข้างในไม่มีอะไรเลย มีแต่ฟองอากาศ อาการของฟองสบู่แตกก็คือเหลือแต่ความว่างเปล่า มีแต่อากาศนั่นเอง
 
การเกิดภาวะเศรษฐกิจที่เรียกว่าฟองสบู่ ก็คือเศรษฐกิจที่ดูจากภายนอกเห็นเฟื่องฟูสวยงาม แต่แท้จริงแล้วมีแต่ความว่างเปล่ากลวงโบ๋
 
ก่อนหน้านั้น ในยุคของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ที่มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ธุรกิจในช่วงนั้นเฟื่องฟูมาก การซื้อขายที่ดินทำกันวันต่อวัน ที่ดินท้องนาจากไร่ละไม่กี่ร้อยบาท สามารถปั่นราคาขึ้นเป็นหมื่นเป็นแสนภายในเวลาไม่นานนัก มีผู้กระโจนเข้าสู่อาชีพนักเก็งกำไร นักเล่นหุ้นกันอย่างมากมาย บางคนลาออกจากงาน ไปนั่งอยู่ตลาดหุ้นอยู่สักครึ่งวัน บอกอย่างไม่ได้ๆก็ได้ค่ากับข้าวสามสี่พันบาทแล้ว
 
ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร คอนโด ทาวน์เฮ้า ยังไม่ท้นลงมีอสร้างก็มีคนจองแล้ว แล้วคนจองนั้นก็สามารถขายใบจองโดยบวกกำไรกันต่อๆไปเป็นช่วงๆ การเกิดรายได้หรือกำไรจากธุรกิจเช่นนี้เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เกิดจากผลผลิต มันมีแต่ความว่างเปล่า  คือไม่ได้เกิดจากสินค้าที่ผลิต เป็นกำไรที่เกิดจากการเก็งกำไร และผู้ที่จะรับเคราะห์ก็คือผู้ถือครองคนสุดท้าย  ตัวอย่างเช่นแชร์น้ำมันหรือแชร์ชะม้อยเป็นต้น
 
 
 
 
ประกอบกับเวลานั้นรัฐบาลได้มีนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน  นโยบายนี้ทำให้เงินตราจากต่างประเทศสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุนในประเทศได้โดยเสรี  และโดยที่ขณะนั้นดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศมาก สถาบันทางการเงินหรือนักธุรกิจนักลงทุนจึงกู้เงินจากต่างประเทศกันเป็นการใหญ่ เพื่อนำมาลงทุนหรือนำมาใช้ในการเก็งกำไร ณ เวลานั้นผู้บริหารธนาคารหรือผู้บริหารสถาบันทางการเงินมีชีวิตที่อูฟู  มีห้องทำงานอย่างหรู มีรถประจำตำแหน่งราคาแพง รับโบนัสกันเป็นสิบๆเท่า  ใช้ชีวิตกันอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย
 
ในที่สุดบ้านจัดสรร คอนโดที่นักลงทุนกู้เงินจากต่างประเทศมาสร้างกันเป็นจำนวนมากก็ขายไม่ออก เพราะผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงก็ซื้อกันหมดแล้ว  เหลือแต่ผู้ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรวนกันไปวนกันมา ซึ่งผู้เก็งกำไรก็รู้แล้วว่าราคาสุดท้ายมันควรจะเป็นเท่าไหร่ ก็หยุดซื้อคนสุดท้ายก็ต้องถือไว้ ถ้ากู้เงินเขามาลงทุนก็ต้องนั่งส่งดอกเบี้ยอีกต่างหาก
 
ส่วนที่ดินที่ซื้อเก็งกำไรกันไว้มากมาย เมื่อไม่มีผู้ซื้อหน้าใหม่เข้ามา  ผู้ซื้อคนสุดท้ายก็ต้องรับกรรมไป  เช่นเดียวกับการเล่นแชร์ที่ให้กำไรอย่างงาม  โดยเอาเงินของลูกแชร์รายใหม่มาให้ลูกแชร์รายเก่า ถ้าหาลูกแชร์ใหม่ไม่ได้ก็จบ   อย่าลืมว่าในโลกนี้ไม่มีของฟรี
 
 
 
 
 
เศรษฐกิจที่เกิดจากการเก็งกำไร  มันไม่ใช่เศรษฐกิจที่แสดงถึงความมั่งคั่งมั่นคงของชาติ คือมันเป็น Non Product เป็นเศรษฐกิจกลวงๆ ที่เหมือนฟองสบู่  จึงเป็นช่องทางที่ผู้รู้จุดอ่อน มองเห็นหนทางที่จะหาประโยชน์ตรงจุดนี้
 
เอากันสั้นๆ หลังจากไอ้จอร์จ โซรอส ที่เค้าเรียกกันว่า "พ่อมดทางการเงิน" หรืออีกหลายฉายา เห็นจุดอ่อนตรงนี้ก็เข้ามาโจมตีค่าเงินบาทเพื่อเก็งกำไร รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ในขณะนั้นก็ทุ่มเงินบาทลงไปสู้เต็มที่ เพื่อรักษาค่าของเงินบาทไว้ แต่ก็สู้ไอ้จอร์จไม่ไหว  ต้องยอมปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว
 
คิดดูสิครับคนที่กู้ฝรั่งมา 1 ดอลล่าร์ในขณะนั้นรู้สึกว่าจะประมาณ 21-23 บาท(จำไม่ได้) แต่ต้องใช้คืนประมาณสี่สิบกว่าบาทหรือไงนี่จำไม่ได้เช่นกัน  และที่กู้กันมาไม่ใช่แค่เหรียญสองเหรียญ แต่กู้กันเป็นร้อยล้านพันล้าน แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ทรัพย์สิน สินค้าอะไรก็ไม่มี มีแต่ลม   ธนาคารหรือสถาบันทางการเงินที่ให้กู้ไปเก็งกำไร เจ๊งกันเป็นแถวๆ
 
ยุคนั้นจึงเกิดศัพท์ใหม่ขึ้นมาคำหนึ่งคือ "คนเคยรวย" นักธุรกิจ คนทำงานเกี่ยวกับเงินๆทองๆต่างตกงานกันเป็นแถว ใครส่งลูกไปเรียนเมืองนอกก็ต้องกลับ (ลูกผมอยู่อังกฤษยังต้องเพิ่มค่าเทอมอีกเท่าตัว ก็ไม่พ้นต้องกู้สหกรณ์ฯส่งไปให้...ต้องขอบคุณสหกรณ์ฯที่ให้กู้ยันเกษียณ)
 
อ้อ...อีกคำคือ "ไม่มี....ไม่จ่าย.....ไม่หนี" ของเจ้าพ่อเหล็กเส้น(จำชื่อไม่ได้) แกก็พูดของแกอย่างนี้ ก็มันไม่มี(เจ๊ง)แล้วจะเอาที่ไหนไปจ่าย  แต่ตอนหลังได้ข่าวว่าแกคงค่อยฟี้นตัว ก็คงค่อยๆเคลียร์หนี้ไป อย่างนี้เรียก "นักเลงจริง"
 
สรุปได้ว่าภาวะวิกฤตในครั้งนั้นได้ทำให้ชีวิตประชาชนคนไทยเปลี่ยนแปลงไปครั้งยิ่งใหญ่  คนเคยรวยก็กลายเป็นจน  คนที่จนอยู่แล้วก็จนหนักไปอีก เด็กบางคนต้องเปลี่ยนโรงเรียนหรือไม่ได้เรียนเลย  บางคนรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถึงกับฆ่าตัวตาย
 
แม้แต่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของชาติ  เมื่อชาติอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย  ทรัพย์สินต่างๆที่มีอยู่ก็ถูกบังคับให้ขายเพื่อนำเงินไปใช้หนี้  กฟน.ก็อยู่ในข่าย ถึงแม้จะรอดการแปรรูปมาได้  ก็ได้ถูกบังคับให้เปลียนแปลงหลายอย่างเช่นการจ้างบุคคลภายนอก หรือการลดขนาดเช่นโรงพยาบาล ซึ่งทุกอย่างย่อมมีผลกระทบต่อพนักงานทั้งสิ้น  โดยเฉพาะเรื่องโรงพยาบาล ผู้ได้รับผลอย่างมากก็คือผู้เกษียณ
 

พน้กงานที่อายุยังน้อยคงไม่ได้ผ่านพบประสบการณ์นี้ แต่พ่อแม่ก็ต้องเจอมาบ้างแล้ว แต่ละคนคงรู้รสกันดี แต่คนที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจก็ยังถือว่าโชคดีอยู่มาก ผู้ที่เดือดร้อนมากคือผู้ที่อยู่ในวงการการเงิน พ่อค้า นักธุรกิจ คนไม่มีเงินไปผ่อนรถผ่อนบ้าน ธนาคารหรือไฟแนนซ์ก็เจ๊ง มันลามเป็นลูกโซ่  คนไม่มีเงินจับจ่าย  พ่อค้าก็เจ๊ง
 
 
 
 
 
 

ที่รื้อฟี้นเรื่องนี้ขึ้นมาพูด  เพราะดูๆแล้วเกรงว่าประวัติศาสตร์มันจะย้อนกลับมาอีกครั้ง และที่น่ากลัวคือ  ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในระดับ "กูรู" ของต่างประเทศและของไทยต่างกล่าวว่า ถ้าเกิดกรณี "ต้มยำกุ้ง" ขึ้นในประเทศไทยขึ้นอีก  ครั้งนี้จะรุนแรงกว่าครั้งก่อนหลายเท่านัก  อาจจะถึงขั้นยากจะเยียวยา
 
เหตุที่ กูรู ทั้งหลายพยากรณ์ออกมาอย่างนั้น เกิดจากการวิเคราะห์นโยบาย "ประชานิยม" ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั่นเอง  ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาข้าว ประกันพืชผลทางการเกษตร การคืนภาษีรถยนต์คันแรก  ค่าแรงขั้นต่ำ  เงินเดือนปริญญาตรี ฯลฯ  ว่ากันว่าภายใน 1-2 ปี จะมีปัญหาการผ่อนส่งรถคันแรกที่ฐานะทางการเงินยังไม่พร้อม  แต่ต้องการใช้สิทธิ์  ถึงเวลานั้นวงการไฟแนนซ์คงปั่นป่วนพอสมควร
 
การใช้เงินจำนวนมากเป็นแสนๆล้าน หรือถึงขนาดเป็นล้านล้าน  โดยสามารถหารายได้เข้าประเทศได้น้อย  ประเทศก็เหมือนคนละครับ  มีรายได้น้อยแต่ใช้จ่ายมาก  สักวันหนี้สินล้นพ้นตัว ก็ต้องล้มละลาย
 
นโยบาย ประชานิยมนี้ได้ถูกติติงทักท้วงจากผู้รู้หลายฝ่าย นอกจากอาจารย์,นักวิชาการแล้วก็มี  สถาบันเช่น TDRI หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นที่ปรึกษาหรือเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลเช่นอาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร , ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรืออดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ก็ยังทนไม่ได้ ฯลฯ  แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งนโยบายนี้ได้
 
จากปรากฏการณ์ในต่างประเทศ เช่นประเทศอาร์เจนติน่า ประเทศสเปน ประเทศกรืซ ได้เกิดความล่มสลายหนี้สินล้นพ้นตัวจนบ้านเมืองก่อการจราจลวุ่นวายไปทั่ว  รัฐบาลไหนเข้ามาก็แก้ไม่ได้  จะเลิกแจกเลิกแถม ประชาชนก็ไม่ยอม  นี่ก็กลัวอยู่เหมือนกัน ถ้ายกเลิกการรักษาพยาบาล คนเกษียณก็แย่แล้ว
 
มีนักวิจารณ์ต่างประเทศวิจารณ์ว่า ถ้าประเทศไทยยังใช้นโยบายนี้ต่อไป  อีกไม่เกิน 5 ปี เจ๊งแน่ และที่มีนักวิชาการอีกส่วนบอกว่า ถ้าเกิดครั้งนี้จะรุนแรงกว่าครั้งก่อนหลายเท่านัก  เมื่อนำคำพยากรณ์สองส่วนนี้มารวมเข้าด้วยกันจึงสรุปได้ว่า  ถ้ารัฐบาลยังใช้นโยบายประชานิยมเช่นนี้ต่อไป อีกไม่เกิน 5 ปี เจ๊งแน่ และจะรุนแรงกว่าต้มยำกุ้งคราวที่แล้วหลายเท่านัก
 
ที่ผมนำมาพูดนี่  ไม่ใช่กระต่ายตื่นตูม  แต่เป็นการเตือนสติ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท  อย่าลืมว่า กฟน. เป็นทรัพย์สินของรัฐ(ไม่ใช่รัฐบาล) ถ้ารัฐหมดเนื้อหมดตัวขึ้นมาก็ต้องขายสมบัติ เช่นที่ IMF เคยบังคับไทยมาแล้ว  ถึงเวลานั้นสถานะพนักงานจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้
 
สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นองค์กรที่ผูกพันผลประโยชน์อยู่กับสมาชิกที่ส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) เป็นพนักงาน กฟน.และอดีตพนักงาน (ผู้เกษียณ)  ถ้าสถานะของพนักงานเปลี่ยนไป  สถานะของสหกรณ์จะเป็นอย่างไร มีนโยบายการวางแผนการบริหารอย่างไร  ขอฝากไว้ที่ผู้อาสาเข้ามาบริหารสหกรณ์ด้วยครับ  การเตรียมพร้อมอย่างไม่ประมาท  ถ้ามันไม่เกิดมันก็ไม่เสียหายอะไร   ส่วนการเตรียมอะไรเตรียมอย่างไร  ก็เป็นหน้าที่คณะกรรมการบริหารสหกรณ์จะต้องคิดละครับ
 
เพราะผมเชื่อมั่นในตะกร้าใบนี้ และก็มีไข่อยู่ไม่กี่ใบเองจึงใส่ตะกร้าไว้ใบเดียวนี่แหละครับ ถ้าตะกร้าใบนี้ตกไข่แตกหมด ผมก็จบล่ะครับ
 
ก็ขอบ่นแค่นี้แหละ ตามประสา ส.ว.  นั่งดูข่าวรัฐบาลจะกู้ทีเป็นแสนๆล้าน ทั้งที่ตุนข้าวไว้ยังขายไม่ออก กู้มาก็ใช่ว่าจะถึงชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปลงเจ๊นั่นเจ๊นี่  ดูแล้วก็เสียว  หากประเทศไทยเจ๊งจริงๆพวกนี้ก็เผ่นไปนอนลูบพุงในคฤหาสถ์เมืองนอกหมดแล้ว  ก็คงเหลือคนอย่างเราที่ "มีทองเท่าหนวดกุ้ง  นอนสะดุ้งจนเรือนไหว" ให้นอนเอาตีนก่ายหน้าผากอยู่เมืองไทยนี่แหละ(วะ)
 
 
 
 
 
ปู่..อย่าซ่ามากนัก เก็บเงินเก็บทองไว้บ้าง
เดี๋ยวเจ๊งแบบประเทศกรีซ แล้วจะหาว่าไม่เตือน
 
 
 
 
 
********************
 
 

ฮาร์ดคอร์ ก ไก่


ข้อมูล ข่าวสาร




ข้อมูล ข่าวสาร




การให้ข้อมูลข่าวสาร มีความจำเป็นเสมอ



ก่อนอื่น ต้องขอเปิดใจในวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการเขียนบล็อกนี้อีกครั้ง หลังจากที่เคยเขียนมาบ้างแล้ว แต่บางท่านเพิ่งมาอ่านเฉพาะเรื่องหลังๆนี้ บางทีอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน จึงขอชี้แจงอีกครั้ง

หลังจากเกษียณแล้ว ก็ไม่มีอะไรทำ เราต้องแยกจากสังคมที่เคยออกมาอยู่บ้านคนเดียว อาชีพอี่นก็ไม่ได้ทำอะไร ก็เลยคิดว่าเราเอาแต่นอนอ่านหนังสืออยู่อย่างนี้ทุกวัน เราคงแย่แน่ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต


หลังจากมาสนใจในคอมพิวเตอร์ นั่งอ่านนั่งค้นไปเรื่อยก็ได้พบว่า มันเป็นเพื่อนที่ดีของเราคนหนึ่งเลยทีเดียว มันมีความรู้เรี่องราวมากมายอยู่ในนี้ และโดยเฉพาะมันไม่เถียง ไม่ค้าน ไม่บ่น ถ้าเราไม่ถูกใจมันตรงไหนเราก็คลิ๊กหนีไปที่อื่นเสีย ก็เท่านั้น

จนกระทั่งมาพบว่าในมีเดี่ยนี้เขามีพื้นที่ให้เราแสดงออกแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ เขาเรียกพื้นที่นี้ว่า Blog และคนที่มาเขียนเรียกว่า Blogger เขียนแล้วก็ส่งออกเผยแพร่ได้เลย ไม่ต้องผ่านประธาน ผ่านกรรมการ ผ่าน บ.ก. ใคร ใดๆ ทั้งสิ้น

ทีนี้ก็เข้าทางเราเลย อ่านหนังสือมาก็เยอะ ประสบการณ์ก็(น่าจะ)เยอะ นึกอะไร คิดอะไร ไม่รู้จะบอกใคร (แก่แล้ว คนเขาไม่ค่อยอยากฟัง ทั้งลูกเมีย แม้แต่หลานก็ยังรำคาญ) เอาละ ทีนี้เราก็มีที่ระบาย(ความคิด)แล้ว แรกทีเดียวก็เปิดมันเสียหลายบล็อกเลย เพราะมีหลายแนว เขียนไปเขียนมา เขียนไม่ไหว มันเขียนไม่ทัน และถ้าเราไม่เขียนต่อเนื่อง คนที่เข้ามาอ่านเห็นว่าไม่มีเนื้อหาใหม่ๆ อีกหน่อยก็ไม่มีคนเข้ามาดู บล็อกนั้นก็จะแห้งตายไป ถึงแม้จะมีบทความ (ดูเหมือนภาษาคนเขียนบล็อกเขาเรียกว่า Entry) ใหม่ๆมาอีกก็ตาม เหมือนเราไปซื้อของร้านไหนแล้วไม่มีของบ่อยเข้า ที่หลังเราก็ไม่ไปร้านนั้นอีก

นี่ก็เหลือ "ชุมชนคนเกษียณ" นี่แหละ ที่ยังเขียน(เกือบ)ประจำอยู่ เพราะมีคนเปิดเข้าดูอยู่ก็เลยเลิกไม่ได้ และอีกเหตุผลก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวพันใกล้ตัวที่เรามีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมส่วนนี้อยู่ ก็เลยยังพอเขียนอยู่เรื่อยๆ

ความตั้งใจเดิม ก็คิดว่าบล็อกนี้จะเป็น two way communication คิดว่าจะมีคนมาแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนทรรศนะกันบ้าง แต่เอาเข้าจริงแล้วมีน้อยมาก และก็จะส่งมาทางอีเมล์ และบางส่วนก็โทรฯมาถามบางเรื่อง และเป็นที่น่ายินดีว่า มีบุคคลภายนอกมาอ่านบล็อกนี้บ้างเหมือนกัน เช่นเคยมีนักศึกษาปริญญาโทกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องชีวิตหลังเกษียณ โทรมาสอบถามข้อมูล หรือบางท่านโทรมาถามข้อมูลบางอย่างในเรื่องที่เขียน สรุปในที่สุดก็ลงเอยกลายเป็น one way communication ไปนั่นเอง




One Way ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ
คุยกันไม่ได้ ก็นั่งยิ้มกันไป


ในเมื่อไม่มี Feedback กลับมาบ้าง ผู้เขียนก็เดาไม่ออกว่าผู้อ่านคิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร จะได้แลกเปลี่ยนทรรศนะในเรื่องที่สนใจร่วมกัน ในที่สุดผู้เขียนก็ต้องตัดสินใจว่า เอาอย่างนี้ก็แล้ว ต่อไปนี้เราก็เขียนตามใจที่อยากเขียนก็แล้วกัน อยากจะเขียนอะไรก็เขียนไป ใครไม่ชอบ ไม่น่าสนใจเค้าก็ไม่อ่านเองนั่นแหละ ถือว่าการเขียนเป็นความสุขของเรา เป็นงานอดิเรก ป้องกันสมองเป็นอัลไซเมอร์ และยังไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร นอกจากค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ค่าเช่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟ ค่ากาแฟบ้างเท่านั้นเอง

ใครรำคาญคนแก่บ่นก็ข้ามไปนะครับ อย่ามาด่ากันว่าเขียนไม่ได้เรื่องก็แล้วกัน (แต่จริงๆแล้ว ผมกลัวเขียนแล้ว "ได้เรื่อง" มากกว่า)


ถึงแม้ผมจะยืนยันอยู่เสมอว่า บทความที่ผมเขียนนี้เป็นความคิดของผม เป็นความรับผิดชอบของผม และบล็อกนี้ก็ใช้ฟรี ไม่ได้เอาเงินใครมาทำ แต่ด้วยที่ผมเป็นกรรมการชมรมผู้เกษียณของสหกรณ์ออมทรัพย์ (ชสอฟ.) อยู่ด้วย จึงกลายเป็นว่ามีหมวกอีกใบ ดังนั้นเมื่อผมเขียนพาดพิงกระทบกระเทือนถึงการทำงานของกรรมการสหกรณ์คนหนึ่งในฐานะที่ผมเป็นสมาชิก จึงอดไม่ได้ที่จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ในชมรมเห็นว่าการกระทำของผม "ไม่เหมาะสม" ถึงกับเสนอวาระให้คณะกรรมการพิจารณาการกระทำของผม กรรมการท่านนั้นกล่าวว่าการกระทำของผม เกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กรรมการสหกรณ์คนนั้น ซึ่งอาจจะมีปัญหากับเงินช่วยเหลือชมรมฯ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากกรรมการสหกรณ์ ผมก็คิดว่าควรจะลาออกในวันนั้น แต่ด้วยความเคารพท่านประธานชมรมฯที่ไกล่เกลี่ยให้ยกวาระนั้นไป จึงยับยั้งใจไว้ และเป็นที่น่ายินดีว่าในวันประชุมใหญ่วันที่ 11 กุมภาฯนี้ ผมก็จะสิ้นสุดการเป็นกรรมการชมรมฯ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีเสียงจิ้งจกตุ๊กแกมาร้องจุ๊กจิ๊กให้รำคาญอีกต่อไป

แต่ความอิสระของผมคือความคิดทั่วๆไปที่ควรเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อสังคม ไม่ใช่จะเที่ยวไปว่ากล่าวใครได้มั่วๆ อาจจะโดนข้อหาหมิ่นประมาทได้ การพาดพิงไปถึงผู้หนึ่งผู้ใด จะต้องเป็นเรื่องที่บุคคลผู้นั้นกระทำไปในฐานะบุคคลสาธารณะ ที่ท่านอาสาเข้ามาบริหารองค์กรต่าง ๆ ท่านจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าการกระทำของท่านมีผลกระทบต่อสมาชิก หรือผู้ร่วมองค์กร  แต่จริงๆแล้วผมไม่ต้องการจะเขียนถึงตัวบุคคลใดทั้งสิ้น นอกจากจะกล่าวทางด้านดี  ทั้งนี้ เพราะทุกคนก็เป็นเพื่อนเป็นน้องที่คบหารักใคร่กันมาแทบทั้งนั้น  ใครมีการกระทำอย่างไรควรเป็นหน้าที่ของสมาชิกส่วนใหญ่ที่จะพิจารณาตัดสินกันเอาเอง  การเสนอความเห็นใดๆของผมก็เพื่อประโยชน์ของสมาชิกเป็นที่ตั้ง ขอให้ทราบว่าไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ไม่มีใครฟังก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะเราก็มีเพียงเสียงเดียว แถมยังเป็นเสียงแหบๆอีกด้วย




เจอขาใหญ่เข้า หลบมานอนเงียบเชียวนะ เจ้าหำใหญ่

ในระหว่างที่รอวันที่ 21 กุมภาฯ เพื่อจะไปเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ฯแทนชุดที่หมดวาระไป ก็คิดดูว่าเราจะใช้ข้อมูลอะไรเป็นข้อพิจารณาว่าจะเลือกใครดี เพราะผู้เกษียณแต่ละคนก็อยู่ที่บ้าน การหาเสียงแถลงนโยบายของผู้สมัคร ก็ทำกันเฉพาะที่เขต กฟน. ต่าง ๆ เท่านั้น ผู้เกษียณไม่มีโอกาสรู้ได้เลย
ลองคิดคร่าวๆว่าหากสมาชิกสหกรณ์มีทั้งหมดประมาณหมื่นคน ในจำนวนหมื่นนั้นน่าจะมีผู้เกษียณอยู่ประมาณสองพันคน ถือว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งทีมที่ชนะคะแนนจะอยู่ที่ประมาณ 4000 - 6000 คะแนน เมื่อเทียบคะแนนต่ำสุดของผู้ชนะ จะใกล้กับคะแนนสูงสุดของทีมที่แพ้ ดังนั้นถ้าเสียงของผู้เกษียณไม่กระจัดกระจาย สามารถรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ ก็อาจมีพลังในการตัดสินผู้ชนะได้ เช่นพรรคการเมืองขนาดกลาง ที่สามารถชี้ชะตาตัดสินพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ผู้นำผู้เกษียณมองไม่เห็นพลังตรงนี้ มัวแต่กลัวว่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการฯ จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหกรณ์ฯ จึงทำให้สมาชิกผู้เกษียณขาดการให้ความสนใจจากกรรมการสหกรณ์ ถือว่ามีผู้นำเป็นที่ปรึกษาแล้ว ผู้เกษียณก็เหมือน "หมูในอวย" จะเลือกกรรมการตามที่ผู้นำแนะนำ โดยไม่ต้องมีข้อมูลใดๆเลย
ในอดีตนานมาแล้ว เคยมีการจัดประชุมผู้เกษียณ ก่อนมีการเลือกตั้ง แต่รู้สึกว่าการเรียกประชุมครั้งนั้นเป็นการจัดขึ้นของคณะกรรมการบริหารในขณะนั้น เพื่อชี้แจงข่าวที่ไม่ดี หรือข่าวลืออะไรส้กอย่าง จำไม่ได้แล้ว หลังจากนั้นรู้สึกว่าจะไม่เคยจัดอีกเลย
ที่รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพื่ออยากให้สหกรณ์ถือเป็นระเบียบวาระว่า ก่อนมีการเลือกตั้ง ต้องมีการเปิดประชุมผู้เกษียนที่สมัครใจเข้ารับฟังนโยบายของผู้สมัครทุกทีมและผู้สมัครอิสระทุกคน โดยใช้งบประมาณของสหกรณ์ และให้มีการตั้งกรรมการกลางขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ต้องมีการส่งหนังสือแจ้งสมาชิกผู้เกษียณทุกคน ก็แล้วแต่ผู้เกษียณจะมาหรือไม่มา
การกระทำเช่นนี้จะมีผลดีคือ
1.) ผู้สมัครอิสระทุกคน และทุกทีมจะได้มีโอกาสแถลง ชี้แจง นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เกษียณ
2.) ผู้สมัครหน้าใหม่จะได้มีโอกาสแนะนำตัวแก่ผู้เกษียณ เพื่อความเป็นธรรม ถึงแม้ผู้เกษียณอาจมาไม่ครบทุกคนก็ตาม ถ้าผู้เกษียณเห็นว่าดี ก็จะบอกต่อๆกันไป
3.) เป็นการให้โอกาสผู้สมัครที่มีนโยบายต้องการดูแลช่วยเหลือผู้เกษียณได้มีโอกาสเสนอแนวคิดถึงตัวผู้เกษียณ เพื่อการตัดสินใจ
4.) ผู้เกษียณมีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น จากการลงคะแนนเสียงให้ทีมที่มีนโยบายเกื้อหนุนช่วยเหลือผู้เกษีนณ
ผลเสีย
1.) ผู้สมัครที่ไม่มีนโยบายต่อผู้เกษียณ อาจไม่ชอบ เพราะไม่มีนโยบายอะไรจะแถลง
2.) ผู้สมัครที่มีเครือข่ายคุมเสียงผู้เกษียณอยู่แล้ว อาจไม่ชอบ เพราะอาจถูกแบ่งคะแนนเสียงไปได้
นี่เป็นหนึ่งแนวคิดที่ผมขอเสนอ คงยังไม่สายเกินไปก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ผมไม่มีเวลาและโอกาสตรวจสอบว่าสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นผู้เกษียณมีกี่เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกทั้งหมด และเป็นผู้มีเงินอยู่ในสหกรณ์เท่าไหร่ แต่เทียบไม่ได้กับสวัสดิการและสิทธิที่ควรจะได้รับ  เสียงที่มีอยู่ประมาณสองพันเสียงน่าจะทำให้ผู้เกษียณได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
อย่าลืมว่า ปรัชญาของสหกรณ์ คือ ผู้มีและผู้ไม่มีจะอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันอย่างเท่าเทียมกัน
............................
จะมีใครฟังหรือเปล่า ผมไม่ทราบ
แต่ผมได้ทำตามความคิดของผมแล้ว
บอกแล้วไง...."คิด" ไม่ต้องเสียตังค์
สวัสดีครับ....
***********


สร้างโลกให้งดงาม




**สร้างโลกให้งดงาม**






 ทำงาน สร้างโลกให้งดงาม


อย่าทำหน้าที่เพื่อแค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
เพราะสัตว์ดิรัจฉานมันก็ทำ...
คนมันต้องดีกว่านั้น เพื่อแสดงความเป็นคน....
แสดงว่ามีมนุษยธรรม มีธรรมะของมนุษย์สูงขึ้นไป
ทำหน้าที่นี้เพื่อสร้างโลกให้เป็นโลกที่งดงาม
...

เราไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ใช่ข้าราชการ
และก็ไม่ใช่ลูกจ้างบริษัท อะไรก็ไม่ใช่ลูกจ้าง

เราเป็นมนุษย์ผู้ร่วมงานทำโลกนี้ให้งดงาม
เราคิดอย่างนี้ นายจ้างจะคิดยังไง ช่างหัวนายจ้าง
แต่เราจะเป็นผู้ที่ร่วม สหกรณ์กับนายจ้าง
สร้างโลกนี้ให้งดงาม

เงินที่เค้าให้เรามาไม่ใช่ค่าจ้าง
เงินเดือนไม่ใช่ค่าจ้าง เงินเดือนเป็นค่าตอบแทน
ที่เป็นค่าใช้สอย ให้เราได้ใช้สอยมีชีวิตอยู่
สำหรับทำหน้าที่เพื่อช่วยกันสร้างโลกนี้งดงาม

พุทธทาสภิกขุ


......................

ถ่ายทอดจาก Facebook
พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo
แชร์มาจาก
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
Buddhadasa Indapunno Archives's photo

.........................

หมายเหตุจาก Blog
สหกรณ์ - พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525
อธิบายไว้ดังนี้

สหกรณ์ : งานร่วมมือกัน เช่น ทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เพื่อหากำไรหรือเพื่อประโยขน์อื่นๆ ในงานนั้นๆร่วมกัน, วิธีจัดการอย่างหนี่ง ที่บุคคลพอใจร่วมมือกันเพื่อบำรุงความเจริญในทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งกำไรเสมอกัน
 
 
......................................
 
นำมาฝากเป็นแง่คิดจากท่านพุทธทาสภิกขุ......
 
 
 ขอทุกท่านจงมีความสุขความเจริญเทอญ
 
 
*********************

โหมโรง



โหมโรง





 
จ๊วบบ...จ๊วบบ..อะหย่อย...
 
         บอกแล้วไงครับว่าต้นปีของทุกปี พวกเราชาวเกษียณก็จะได้มีโอกาสขยับเนื้อขยับตัว มีชีวิตชีวาชุ่มชื่นขึ้นมาบ้าง ถึงแม้จะไม่มีโอกาสได้รับเงินโบนัสเช่นสมัยที่ทำงานอยู่ แต่ก็มีความหวังอยู่ที่เงินปันผล ที่เกิดจากเงินก้อนสุดท้ายที่เกิดจากการทำงานมาตลอดชีวิตของเรานั่นเอง
 
        ใครมีมากมีน้อยก็แล้วแต่กรรม คือการกระทำของตนเองจากอดีตที่ผ่านมา ใครที่มีโอกาสสะสมไว้มาก ก็จะได้รับผลดีไป ใครที่สะสมไว้น้อยก็ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังหน่อย
 
        ใครที่มีมากมิใช่ว่าจะเป็นคนที่เก็บหอมรอมริบดี รู้จ้กใช้จ่าย  ใครที่มีน้อยก็มิใช่ว่าจะเป็นคนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเสมอไป  เพราะคนเราแต่ละคนที่เกิดมา ก็รู้อยู่แล้วว่าเลือกเกิดกันไม่ได้  บางคนเกิดมามีพ่อแม่มีฐานะดี ได้รับการศึกษาดี มีพ่อแม่จุนเจอในการสร้างชีวิต คนเหล่านี้ก็ถีอว่ามีต้นทุนในการเริ่มต้นชีวิตที่ดี ถ้าเปรียบเป็นกีฬาก็ถือว่ามีแต้มต่อ
 
        แต่บางคนเกิดมาพ่อแม่มีฐานะไม่ดี บางคนจะส่งลูกเรียนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ลูกเรียนจบทำงานได้ก็ต้องเก็บเงินช่วยพ่อแม่ใช้หนี้ ซ้ำยังเรียนไม่สูง ทำงานเงินเดือนก็น้อย คนเหล่านี้ไม่ใช่เริ่มต้นที่ศูนย์ แต่เป็นการเริ่มต้นที่ "ติดลบ"  ดังนั้นในบั้นปลายชีวิตจึงยากที่คนพวกหลังนี้จะมีความเป็นอยู่เช่นคนพวกแรก ยกเว้นอาจจะมีบ้างบางคน แต่ถ้าดำเนินชีวิตอย่างปกติแล้วคงจะร่ำรวยอู้ฟูคงยาก
 
         ดังนั้นในสหกรณ์ก็จึงมีสมาชิกที่ฐานะหลากหลายแตกต่างกันไป  คนที่มีทุนเยอะก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร
 
       แต่คนที่มีทุนน้อย ที่ต้องดูตัวเลขในบัญชีด้วยความพินิจพิเคราะห์ทุกครั้งที่ต้องเบิกเงินออกจากบัญชี สหกรณ์ก็ควรมีมาตรการ ช่วยเหลือ ดูแลคนประเภทหลังนี้บ้างจะอ้างว่าทุกคนต้องเสมอภาคเท่าเทียมกันคงไม่ถูกต้องนัก เพราะปรัชญาของสหกรณ์ คือการร่วมมือกันระหว่างคนที่มี กับคนที่ไม่มีเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
 
        หลายครั้งที่ผมเจอรุ่นพี่ๆที่เกษียณไปแล้ว คุยไปคุยมาพอพูดถึงชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. จะได้รับคำตอบว่า "ผมไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว" หรือ "ผมลาออกแล้ว" เหตุผลก็คือ ถอนหุ้นไปใช้หมดแล้ว พูดง่ายๆก็คือ อายุยืนไปหน่อย เงินเลยหมดก่อน เข้าทำนอง "แสนสลด ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย"  ทั้งๆที่หลายคนที่ผมคุยด้วยเคยเป็นนักกิจกรรม เคยเป็นกรรมการสหภาพฯ เคยเป็นกรรมการสหกรณ์ฯ ยิ่งไปกว่านั้น มีถึงขนาดที่เคยเป็นถึงประธานสหกรณ์มาแล้ว บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักกิจกรรมโอทงโอทีก็ไม่ค่อยได้ทำ เงินเก็บสะสมก็จึงไม่มากมายอะไร สมัยก่อนเกษียณก็ไม่ได้ตังมากมายเท่าไหร่ พอผ่านไปห้าปีสิบปีเงินก็หมดแล้ว ใครมีลูกเต้ามีการมีงานทำดีหน่อย ก็อาศ้ยพึ่งลูกกินไป ใครมีลูกฐานะไม่ค่อยดีก็ลำบากหน่อย ผมเคยเจออายุจะเจ็ดสิบแล้วยังมารับจ้างแผนกเครื่องวัดฯอยู่เลย
 
        การต้องลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ นั่นก็หมายถึงอย่างน้อยก็เสียสิทธิ์ในการได้รับประโยชน์จากเงินค่าทำศพที่ควรจะได้รับเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว เมื่อสมาชิกเสียชีวิตลง   และก่อนที่จะเสียชีวิต เขาต้องถูกตัดออกจากการมีส่วนร่วมในสังคม ที่เขาเคยเป็นสมาชิกอยู่ น่าเสียดายที่แทนที่เราจะช่วยกันดูแลผู้สูงอายุให้มีความอบอุ่นอยู่ในสังคม  แทนที่เราจะไปเยี่ยมเยียนบุคคลเหล่านี้ในบางวาระ เรากับตัดทอดทิ้งเขาออกไป โดยไร้การเหลียวแล
 
         แสดงถึงความคิดคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยคำนึงถึงหรือคิดถึงคุณคนที่ทำคุณประโยชน์ให้ตกมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน สมัยก่อน สหภาพฯ สหกรณ์ฯกว่าจะเติบโตมาถึงปัจจุบัน ให้คนรุ่นนี้ไดัเสวยสุขกันนั้น ทั้งกรรมการทั้งสมาชิกแต่ละคนต้องต่อสู้กันมาอย่างไร ต้องเอาตำแหน่งหน้าที่ความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตัวเองเข้าแลกกันอย่างไร (ยกเว้นบางคนมาเป็นกรรมการแล้วใหญ่โตขึ้นก็มีบ้าง...ถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัว) แต่ละคนต้องถูกหมายหัวหรือที่เรียกกันว่า "ขึ้นบัญชีหนังหมา" จากผู้บริหาร  อดีตกรรมการบางคนมีชีวิตบั้นปลายที่ยากจนตกต่ำโดยไม่มีใครเหลียวแล
 
        ผู้ที่ควรยกย่อง ไม่ใช่มีเพียงคุณไพศาล ธวัชชัยนันท์เพียงคนเดียว คุณไพศาลฯคงไม่อาจทำงานได้สำเร็จ ถ้าไม่มีคนอื่นเป็นผู้ร่วมทำงานด้วย และคุณไพศาลคงเห็นด้วยถ้าได้ยินคำพูดของผม
 
        มีอยู่ปีหนึ่งที่กรรมการสหกรณ์คณะหนึ่งมีมติเห็นชอบให้มอบเงินช่วยเหลือผู้เกษียณอายุเพื่อเป็นสินน้ำใจผู้สูงอายุ ไม่มากไม่มายแค่ปีละหนึ่งพันบาท ก็ตกประมาณเดือนละ 83.33 บาท น้อยกว่าคนงานทำโอที 1ชั่วโมงเสียอีก แค่นี้ก็มีคนออกมาโวยวายว่าไม่เป็นธรรม ถ้าจ่ายให้ผู้เกษียณก็ต้องจ่ายให้ทุกคน โดยไม่ได้คิดว่าผู้เกษียณถูกลดสิทธิ์ต่างๆลงไปหลายอย่างหลังเกษียณ ถ้าจะให้ความเป็นธรรมผู้เกษียณก็ควรมีสิทธิ์ทุกอย่างเท่าเทียมกับสมาชิกทุกคน ใช่หรือไม่
 
       พูดเหมือนว่า ไอ้คนพูด มันจะอยู่ไปโดยไม่ต้องเกษียณงั้นแหละ
 
       คราวนั้นก็เกิดกระแส เปิดประเด็นเรื่องนี้จนเกิด "ฟีเวอร์" จากผู้เกษียณจนกรรมการจากชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. คือนายบุญเลิศ เด่นดี ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสหกรณ์ในกลุ่มของ "กลุ่มปฏิรูปสหกรณ์" ด้วยคนหนึ่ง โดยมีการเทคะแนนเสียงจากผู้เกษียณชนิดม้วนเดียวจบ
 
       หลังจากนั้น เรื่องเงินหนึ่งพันบาทที่จะให้แก่ผู้เกษียณก็เงียบหายไป ไม่มีใครพูดถึงกันอีก....
 
        ม้วนเดียวจบเหมือนกัน....
 
        ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็แสดงถึงความละเลยทอดทิ้ง ไม่นึกถึงคุณของผู้สูงอายุที่เคยทำประโยขน์ ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แทนที่จะปล่อยปละละเลยให้บุคคลเหล่านี้ต้องหมดสมาชิกภาพไปตามกาลเวลา ตามสภาพฐานะทางการเงิน ควรเสียเป็นอย่างยิ่งที่จะเชิญอดีตกรรมการ หรืออดีตสมาชิกที่จำเป็นต้องหมดสมาชิกภาพไปให้มารับตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์เสีย แทนที่จะไปเที่ยวเชิญเที่ยวมอบให้บรรดาผู้บริหารฯ กฟน.เพื่อเทิดทูนเอาหน้าเอาตาเป็นเกียรติแก่เหล่าบรรดากรรมการทั้งหลายแหล่
 
       นี่ก็อยู่ในสมัยหาเสียงเลือกตั้งกันแล้ว ถ้าผู้สมัครกลุ่มไหนมีนโยบายอย่างนี้ ผมเลือกยกทีมเลย และจะช่วยรณณรงค์ให้ด้วย  แต่ไม่ใช่จบแล้วจบเลยเสียล่ะ และนโยบายนี้ก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนสมาชิกสามัญแต่อย่างใด คงไม่ต้องกลัวเสียคะแนน คนที่ยังไม่เกษียณในวันนี้ วันหน้าท่านก็ต้องเกษียณท่านก็ต้องมาอยู่ในฐานะอย่างพวกเรา
 
       และผู้เกษียณ(ที่มีโอกาสอ่านข้อเขียนนี้) รวมถึงผู้ที่ยังไม่เกษียณก็ควรช่วยกันเลือกผู้ที่มีนโยบายอย่างนี้ เพราะอย่างน้อยคนที่เคารพให้เกียรติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุก็คงจะเป็นคนดีพอสมควรแหละ
 
        ตอนนี้ก็จดที่ปฎิทินไว้ก่อน "อย่าลืมวันที่ 21 รับเงิน"
 
        
     
 
 
คณะกรรมการชุดรอดมาจากวันโลกแตก (อิ อิ)
 
         เมื่อวันพุธที่ 9 มกราคม 2556 เป็นวาระการประชุมนัดสุดท้ายของคณะกรรมการชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. ปี 2554-2555 ณ ห้องประชุมใหม่สหกรณ์ฯ
 
       ก็ถือว่าได้ใช้ห้องประชุมที่สะอาดสะอ้านสวยหรูเป็นครั้งสุดท้าย ยกเว้นผู้ที่จะได้รับการคัดสรรคัดเลือกจากท่านประธานคนใหม่ตามข้อบังคับใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่อีกสมัย
 
 
       การประชุมครั้งนี้ ประธานแจ้งให้ทราบถึงวันประชุมใหญ่ของชมรมว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ สถานที่ก็สนามม้านางเลิ้ง ที่เก่า เวลาเดิม เหมือนทุกๆปี และปีนี้เป็นปีครบวาระ 2 ปีของกรรมชุดปัจจุบัน ก็คงต้องตั้งกันใหม่ ผมก็ไม่รู้จะใช้คำว่าเลือกตั้งหรือสรรหาก็ว่าๆกันไป คือต้องมีกรรมการชุดใหม่ก็แล้วกัน จะหน้าเก่าหรือไม่ก็แล้วแต่ "แกนนำ" ใครจะอยู่ใครจะไป อีกไม่กี่วันก็คงรู้  สำหรับผมเองก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่าเป็นมาสองสมัยคงพอแล้ว ให้คนใหม่ๆไฟแรงที่เพิ่งเกษียณที่เขาพร้อมรอคิวอยู่มาแสดงฝีมือบ้าง ตอนนี้ประธานเขาจะได้มีโอกาสจัดคนแท็กทีมคนรู้ใจทำงานลื่นไหล ลื่นปรื้ด ลื่นปรื๊ด เหมือนโทรศัพท์ไอโฟน 5 ยังไงยังงั้น ตัวเราเองอยากไปนอนอ่านหนังสือที่ซื้อไว้ตั้งแต่สมัยทำงานเป็นร้อยๆเล่มที่ยังไม่มีเวลาอ่านเสียที ดูแล้วอ่านยันตายก็ยังไม่หมด(ที่ออกตัวไว้ก่อนนั้น เกรงว่าเขาจะไม่เลือกแล้วจะมาเสียฟอร์มเอาตอนแก่นั่นเอง หลังๆนี่ยิ่งดวงตกๆดวงไม่ค่อยดีอยู่ด้วย หลังจากเจ็บไข้โหงวเฮ้งไม่ค่อยดี ปีนี้เขาว่าเป็นปีชงเสียอีก เลยต้องเจียมเนื้อเจียมตัวขอปลีกวิเวก ก่อนที่จะเดินไปไหนแล้วไม่มีคนทัก)
 
       ที่มาที่ไปก็คือ คณะกรรมการชมรมฯเห็นชอบให้มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับ ที่มาของคณะกรรมการใหม่ คือให้มีการเลือกตั้งหรือคัดเลือก(ผมอาจเขียนไม่ตรงกับต้นฉบับนะครับ)ประธานกรรมการเพียงคนเดียว หลังจากนั้นเป็นสิทธิ์ของประธานที่จะไปเลือกกรรมการตามจำนวนที่ระบุไว้ในข้อบังคับอีกที 
 
        ระเบียบข้อบังคับใหม่นี้จะต้องขอมติรับรองในที่ประชุมใหญ่คือวันที่ 11 ก.พ.นี้ก่อน จึงจะมีผลบังคับใช้
 
 
 
 
คติเตือนใจ 
 
 
 
        ที่ประธานแจ้งให้ทราบที่ควรนำมาแจ้งให้ทราบกันไว้  แม้ว่าคงทราบกันทั่วไปแล้วอีกเรื่องก็คือ
 
        ในปีนี้นายบุญเลิศ เด่นดี รองประธานกรรมการชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. ได้ครบวาระการเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ทางคณะกรรมการชมรมจึงได้มีการพิจารณาส่งตัวแทนกรรมการเข้าไปสมัครรับเลือกตั้งกับ "กลุ่มปฎิรูปสหกรณ์"จำนวน 1 คน แต่ได้รับแจ้งจาก "กลุ่มฯ" ว่าโควต้าผู้สมัคร "เต็ม" แล้ว จึงไม่สามารถรับผู้สมัครจาก ชมรมฯได้อีก
 
        ในปีนี้จึงไม่มีกรรมการจากชมรมฯ เข้าร่วมทีมสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์กับกลุ่มปฏิรูปสหกรณ์แต่อย่างใด
 
        เอ้า.....โควต้าเต็ม....เสือฝ้ายถอยยยยย...
 
 
 
 
 
       วันนี้ขอ "โหมโรง" แค่นี้ก่อนนะครับ  และขอยืนยันว่าข้อเขียนนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ไม่เกี่ยวกับชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ.แต่ประการใด ผิดถูกอย่างไร ผมรับผิดชอบเอง ประธานชมรมฯคนปัจจุบันไม่เกี่ยวครับไม่ต้องไปฟ้องท่าน ไหนๆก็ต้องไปประชุมที่สนามม้าแล้ว ก็ต้องขอยืมคำพูดของ "เสธ.อ้าย" มาใช้กันหน่อย

        "ผมรับผิดชอบเองครับ"
 
 
        สุดท้ายก็มีคำเตือนใจที่อยู่ข้างบนมาฝาก  คนเรามีขึ้นมีลง ยามขึ้นก็มีคนแห่แหน ยามลงผู้คนก็หนีหาย เหลือเดียวดายเหมือนหมาตัวหนึ่ง ดูข้าราชการ นักการเมือง หรือไม่เว้น เป็นได้ทุกอาชีพทุกผู้ทุกคน ใครพานพบเวลาขาขึ้นก็อย่าได้ดีใจเกินเหตุ ใครอยู่ในอารมณ์ขาลง ก็จงทำใจให้มั่นคงไว้ จิตใจจะได้ไม่เจ็บป่วย...

ขอให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญตลอดไป
 
 
 
 
 
สวัสดีครับ
 
 
 
 
*************

ไปร่วมประชุม ชกฟน.




งานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555
 ชมรมพนักงานเกษียณอายุ
 สโมสรการไฟฟ้านครหลวง ชกฟน.




บรรยากาศรอบๆงาน
 
 
 

 
 
 
         เมื่อวาน วันที่ 13 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นวันหลังวันเด็กหนึ่งวันก็เป็นวันของผู้ใหญ่บ้าง
 
 
         ประเดิมต้นปีด้วยงานประชุมใหญ่ฯของ ชกฟน. ซึ่งปีนี้ก็คงจัดขึ้นที่เดิม คือที่บริเวณริมน้ำด้านหลังโรงพยาบาลสามเสน  สำหรับปีหน้าไม่ทราบว่าจะจัดที่ไหน เพราะได้ข่าวว่าจะมีการสร้างอาคารสโมสรขึ้นที่บริเวณนี้
 
 
          ในฐานะสมาชิกชมรมด้วยผู้หนึ่ง ก็ถือโอกาสไปอัพเดทข้อมูลเสียหน่อย...ลงทะเบียนเสร็จ ชำระ 100 บาทเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายของชมรม ได้ป้ายแขวนคอมาหนึ่งอัน ส่วนปฎิทินหมดเสียแล้ว ไปไม่ทัน

 
 
 

 

 
 
 
 
        ภายในงานก็ได้เจอเพื่อนๆ ที่ได้เคยร่วมงานกันมาบ้าง  คนที่เคยรู้จักกันมาบ้าง ทักกันไปทักกันมา บางคนก็คุยกันเออๆออๆกันไปแต่ก็นึกไม่ออก จำชื่อไม่ได้ก็มี  อาจจะเป็นความจำเราไม่ดี  สายตาแย่ลง หรือไม่ก็เพื่อนอาจเปลี่ยนแปลงไปมากจนเราจำไม่ได้ ก็มีหลายเหตุผล  คิดว่าปีหน้าพบเจอเพื่อนคนไหนต้องถ่ายรูปจดชื่อไปลงเฟซบุ๊คไว้ให้หมด จะได้ไม่ลืม.....
 
        แต่การถ่ายรูปนี่ หลายคนชอบ  แต่บางคนเค้าไม่ชอบก็มี เคยโดนว่ามาแล้ว ก็เลยเกรงๆ นอกจากเพื่อนที่คุันเคยกันจริงๆ ม่ายงั้นจะมีรูปเยอะกว่านี้
 
 

 
 
รูปอย่างนี้ ทุกคนยินดีให้ถ่ายครับ
 
 
 
 
 

 
       เมื่อคณะกรรมการแถลงผลงานเสร็จก็ยกเวทีให้กับ "คาราโอเกะ"
       คนที่จะขึ้นไปร้องไม่ใช่ง่ายๆนะครับ คิวยาวเพียบ    และต้องชำระคนละ 20 บาทเป็นค่าบำรุงชมรมฯต่อหนึ่งเพลงก่อนจึงจะขี้นร้องได้...สามท่านนี่คงรอคิวไม่ไหวเลยขึันร้องหมู่เสียเลย ดูตั้งอกตั้งใจกันดีนะครับ ไม่วอกแว็ก (เดี๋ยวจะมองไม่เห็นตัวหนังสือ)
 
 
 
 
 
 
            คุณเสน่ห์ ดำขำ ของโปรดคือลาบเลือดซกเล็ก เคยร่วมวงก๊งกันมา ยังแข็งแรงสุขภาพดีเป็นวัยรุ่นอยู่เลย เข้าใจว่าแกต้องทำหน้าที่กำกับเด็กควบคุมเครื่องเสียงเครี่องดนตรีในงานนี้ด้วย และเป็นธรรมดาที่ขาดไม่ได้ ใต้โต๊ะจึงมีสก๊อตวิสกี้ซุกอยู่ แต่หาแก้วไม่ได้ก็เลยใช้ความรู้เดิมเอาขวดเป็บซื่มาตัดเป็นแก้วด้วยความชำนาญ พัฒนามากินสก็อตแล้ว แต่ยังไม่ลืมแก้วแม่โขงนะเนี่ย   ขณะเดินผ่านหน้ากล้องเลยกดซะเลย งานนี้เจอกะคุณประเวทย์ คงอยู่กันยาว
 
 
        ก็นำมาบันทึกไว้เล็กๆน้อยๆ โอกาสที่ได้พบเจอเพื่อนเก่าๆที่เคยหัวราน้ำกันมา แต่ตอนนี้บางคนก็สุขภาพไม่ดี ก็ได้แต่ทักทายกันด้วยหวนระลึกถึงความสนุกแต่หนหลัง ส่วนคนไหนที่สุขภาพยังดีก็ว่ากันไป (ด้วยความอิจฉา)  มางานนี้ก็ได้ข่าวเพื่อนเสียชีวิตไปอีกหนึ่งคน ก็ขอให้เพื่อนหลับให้สบายเถิด ผู้ที่ยังอยู่ก็คงต้องดิ้นรนกันต่อไป
 
 
       สุดท้ายขอฝาก "ขำ ขำ" แต่บางทีก็ไม่ขำไว้ดังนี้...
 
       แสนเสียดาย 
       ที่ตายแล้ว  ยังใช้เงินไม่หมด
 
      แสนสลด
      ที่ใช้เงินหมด แล้วยังไม่ตาย

ประโยคหลังนี่ ก็คงจะอยู่ได้อีกไม่นานหรอก เดี๋ยวก็อดตายไปเองแหละ
 
 
 
      สวัสดี เดือนแรกของปีครับ......
 
 
^^^^^^^^^^^^^
 

สวัสดีปีใหม่ 2556

 
ส.ค.ส. พ.ศ.2556
 
สวัสดีปีใหม่
 
 
 
ความเมตตาเป็นคุณธรรมนำความสุข
 
ช่วยปลอบปลุกปรุงใจให้หรรษา
 
ความกตัญญูรู้คุณผู้เมตตา
 
ทวีค่าของน้ำใจไมตรีเอย
 
 
**********
 
 
         เป็นอย่างไรบ้างครับ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา... 
 
         ท่านที่ยังหนุ่มสาวยังทำงานทำการกันอยู่ก็คงต้องฉลองหนักหน่อย ไหนจะที่ทำงาน เพื่อนฝูง ครอบครัวญาติพี่น้อง กว่าจะครบก็คงเพลียกันทีเดียว
 
        สำหรับผู้เกษียณก็คงเบาๆอยู่กับครอบครัว ไม่หนักเหมือนยังอยู่ในสังคมเหมือนเดิม
 
         เดิมก็ไม่คิดจะเขียนอะไรในช่วงนี้ เพราะเห็นว่าอยู่ในช่วงปีใหม่ ผู้คนก็คงอยู่ในช่วงปีใหม่คงใช้เวลาสนุกสนานเที่ยวเตร่มีความสุขกัน หลังจากนั้นก็คงใช้เวลาในการพักผ่อน เพื่อเตรียมตัวทำงานต่อไป  คงไม่มีใครมีเวลามาอ่าน
 
          การที่จะมาเขียนอวยพร อำนวยพรกันในวันปีใหม่ตามธรรมเนียม ผู้เขียนก็มาคิดว่า ตัวเราเองก็แค่นี้แทบจะเอาตัวไม่รอด มีแต่จะนั่งรอว่าจะมีใครมาอวยพรให้เราอายุยืนๆไม่เจ็บไม่ป่วยบ้างน้า  คนแก่จะได้มีกำลังใจขี้นมาบ้าง 
 
         ดังนั้นจึงคิดว่า เพียงแค่รักษาเนื้อรักษาตัวให้รอดไปวันๆก็นับว่าเป็นบุญที่สุดแล้ว คงจะไม่มีบุญบารมีพอที่จะไปอำนวยพรให้ใครได้ก็เลยอยู่นิ่งๆเสีย  ได้แต่นั่งทบทวนชีวิตที่ผ่านมา (ก็ยังดีที่มีโอกาสมานั่งทบทวน) คิดถึงชีวิตที่ผ่านมา ประสบการณ์ต่างๆทั้งที่ผิดทั้งที่ถูก อยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาด มันก็ทำไม่ได้แล้ว มีทั้งที่ดีใจทั้งที่เสียใจ มีทั้งความสุขทั้งความทุกข์ เมื่อแก่ลงๆลง ผู้คนรอบข้างน้อยลงๆ ความเหงามันก็มาเยือนจะหวนกลับไปหาเพื่อนฝูงเก่าๆแก่ๆสมัยเด็กๆเพื่อจะทบทวนความหลังความสนุกสนานในวัยเด็กที่โหนเถาวัลย์โดดน้ำคลองด้วยกัน เพื่อนก็ล้มหายตายจากกันไปหลายคน แทนที่เราซึ่งเป็นตัวเสี่ยงที่สุดทั้งกินเหล้าทั้งขี่มอเตอร์ไซค์กลิ้งมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งกลับรอดมาได้....นี่แหละชีวิต ในวัยเด็กเราก็ไม่รู้อนาคตของกันและกันว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อเติบใหญ่
 
         แต่เมื่อได้มาเปิด Blog ดู ก็เห็นว่ายังมีผู้มาเปิด Blog ดูบ้างอย่างประปรายจึงคิดว่า...เอ้อ..ถึงแม้จะเป็นวันพ้กผ่อนก็ยังมีผู้มาเปิดดูกันนะ ถ้ายังมีคนอ่านแล้วเราไม่เขียน ก็จะเป็นการเสียน้ำใจกันเปล่าๆ (ที่จริงก็มีเรื่องจะเขียน แต่มันเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วอาจจะมีความทุกข์เพิ่มขึ้น ผมเลยไม่อยากจะเขียนในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เช่นนี้ เลยเว้นไว้ก่อน)
 
 
        ไหนๆก็มีโอกาสได้พบกันในโอกาสย่างเข้าปีใหม่ปี พ.ศ.2556 แล้ว จะไม่ทักทายให้กำลังใจกันบ้างก็ดูกระไรอยู่
 
        โอกาสในวันปีใหม่ปีนี้ผมหวังว่าทุกท่านคงได้รับพระราชทานพรปีใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันอย่างถ้วนหน้ากันแล้ว  และผมก็หวังและขอให้พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงคุ้มครองประเทศไทยและประชาชนคนไทยรวมถึงชนชาติต่างๆที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัยจากภัยพิบัติและความขัดแย้งต่างๆ ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขอยู่ภายใต้บารมีของพระองค์ด้วยเทอญ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ขอให้ทุกท่านมีความสุขเช่นหนูน้อยผูันี้นะครับ
 
 
 
 
 
**********
 
ทุกต้นปีจะมีกิจกรรมชุกหน่อยนะครับ
แล้วจะมารายงานครับ
 
******