สหกรณ์ออมทรัพย์


สหกรณ์ออมทรัพย์

เอ้า...ข่วยๆกันเข็นหน่อย

วันนี้ผมได้อ่านบทความในเว็บ THAIPUBLICA จากการแขร์ในเฟซบุ๊คของท่านผู้หนึ่ง ผมเห็นว่าเป็นความรู้สำหรับพวกเราๆที่ต้องอาศัยพึ่งพิงสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ซึ่งอาจเป็นทั้งผู้กู้และหรือเป็นผู้ฝากเงิน จึงได้คัดลอกนำมาให้อ่านกันเพื่อเป็นความรู้ ในบทความนี้มีประเด็นที่น่าสนใจตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับกฎระเบียบการกำกับดูและของรัฐและการบริหารของกรรมการสหกรณ์ ว่าอ่าจจะไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสหกรณ์ในปัจจุบันแล้วก็ได้ ทำให้ผมนึกถึงเมื่อแรกตั้งสหกรณ์ในสหภาพ กฟน.  สมัยนั้นมีเงินกันแค่หลักพันหลักหมื่น กู้ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท เดียวนี้เรามีทุนเป็นพันๆล้าน การบริหารเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ต้องขอขอบคุณเว็บที่เผยแพร่รวมทั้งผู้เขียนบทความนี้และขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ หากท่านใดสนใจ ยังมีเรื่องน่ารู้อีกหลายเรื่องขอแนะนำให้ติดตามได้ที่ http://thaipublica.org/2013/10/cooperatives-household-debt/ ตามนี้นะครับ

ไม่ทราบว่าตัวหนังสือจะเล็กไปสำหรับผู้สูงอายุหรือเปล่า ก็ซูมเอาหน่อยนะครับ





"สหกรณ์ออมทรัพย์" เจ้าหนี้ครัวเรือนที่ต้องจับตา มีสมาชิก 2.8 ล้านคน เงินฝากเกือบ 4.5 แสนล้านบาท

29 ตุลาคม 2013
รายงานโดย ศิริกัญญา ตันสกุล สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ช่วงที่ผ่านมามีข่าวมากมายเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนว่าเพิ่มขึ้นเร็วมาก และอยู่ในระดับสูงจนน่าเป็นห่วง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยว่า ยอดหนี้ครัวเรือนนั้นสูงเฉียด 9 ล้านล้านบาท หรือสูงถึง 77.5% ของ GDP แม้ว่าอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกของปี 2556 ที่ 14.8% ต่อปี จะคลายความร้อนแรงลงจากที่ขยายตัวถึง 17.4% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 แต่ก็นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้และเงินออม เป็นเหตุให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงและเกรงว่าจะเกิดผลเสียแก่ระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง หากเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว และส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
42% ของสินเชื่อครัวเรือนนั้นปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถึงแม้จะมีสัดส่วนที่สูง แต่ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมแล้วกลับไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลสามข้อด้วยกัน หนึ่ง คือ สินเชื่อประเภทนี้มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 2% เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ สอง เป็นเงินกู้เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 3 ใน 4 ของสินเชื่อทั้งหมดไปแล้ว ซึ่งเงินกู้ทั้งสองประเภทจัดเป็นสินเชื่อคุณภาพดีกว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่นๆ เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และข้อสุดท้าย ธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งพอที่สามารถที่จะรับมือกับหนี้ภาคครัวเรือนได้ วิธีหนึ่งที่จะวัดว่าธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพทางการเงินคือดูจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราส่วนที่ว่าเฉลี่ยอยู่สูงถึง 11.63% ใกล้เคียงกับของธนาคารพาณิชย์ในสหภาพยุโรป ในขณะที่เกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. กำหนดไว้ที่ 4.25%
แต่ใครจะคาดว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เป็นหนี้ที่ปล่อยโดยสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นตามหน่วยงานราชการ หรือบริษัทเอกชนต่างๆ ทำหน้าที่คล้ายๆ ธนาคารพาณิชย์ คือ รับฝากเงินและให้กู้เงิน โดยมีจุดเริ่มต้นเพื่อส่งเสริมการออม และเป็นสวัสดิการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสมาชิก ปัจจุบันได้กลายมาเป็นเจ้าหนี้ครัวเรือนรายใหญ่อันดับ 3 รองจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
สหกรณ์ออมทรัพย์โตเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในระยะเวลาเพียง 5 ปี จาก พ.ศ. 2551-2555 มียอดเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า สินทรัพย์โตขึ้น 76% มีสมาชิกทั่วประเทศร่วม 2.8 ล้านคน มีเงินรับฝากจากสมาชิกเกือบ 4.5 แสนล้านบาท และมีส่วนของทุนเรือนหุ้นที่มาจากการซื้อหุ้นของสมาชิกอีก 6 แสนล้านบาท รวมแล้วมีสินทรัพย์ร่วม 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ เทียบขนาดได้เท่ากับธนาคารออมสิน


สหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้ให้กับครัวเรือนเพิ่มเป็นเกือบ 2 เท่า ใน 5 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้หนี้เสียจากงบการเงินจะยังดูไม่สูงมากก็ตามแต่ก็มี 3 เหตุผลอีกเช่นกัน ที่ทำให้เราต้องพิจารณาเป็นพิเศษ
1. สหกรณ์มีมาตรฐานการกันสำรองสำหรับ NPL ต่ำกว่าเกณฑ์สำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์มีเกณฑ์การตั้งสำรองสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงที่เคร่งครัดน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ (ดูตารางที่ 2) ในปี 2555 มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมด 3 พันล้านบาท จากสินเชื่อทั้งหมด 1 ล้านล้าน หรือคิดเป็นเพียง 0.3 % เท่านั้น

2. สหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้มีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง มีแต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม อย่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ทั้งสองหน่วยงานอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเท่ากับธนาคารแห่งประเทศไทยและยังไม่ได้มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนสำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านต่างๆ อย่างเช่นที่สถาบันการเงินทั่วไปทำ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ควรมีการกำกับดูแลเสมือนว่าเป็นสถาบันการเงิน แต่รวมถึงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายคลึงกับสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน
3. เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีเพียงกฎกระทรวงกว้างๆ ให้สำรองสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากไว้ไม่ต่ำกว่า 1% เท่านั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งใดแห่งหนึ่งล้ม สมาชิกที่ฝากเงินมีโอกาสที่จะไม่ได้รับเงินคืนเลยไม่ว่าจะมีเงินในบัญชีมากน้อยเท่าใดก็ตาม แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่แน่นอนว่าจะกระทบกับสมาชิกที่เป็นประชาชนทั่วไปในฐานะผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้น ตามระเบียบสหกรณ์นั้นบังคับให้สมาชิกทุกคนต้องซื้อหุ้นเป็นประจำ และสามารถขายคืนได้เมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก โดยสหกรณ์จะจ่ายปันผลตามมูลค่าหุ้นให้กับสมาชิกทุกปีที่มีกำไร แม้ในทางบัญชีจะบันทึกว่าเป็นทุน แต่สมาชิกรับรู้ว่าเป็นเงินฝากประเภทหนึ่ง ซึ่งสหกรณ์มีภาระต้องจ่ายคืนเต็มจำนวนหากสหกรณ์ล้ม จึงไม่เหมือนกับส่วนของทุนของบริษัททั่วไป ที่มูลค่าหุ้นจะลดลงหากบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดตั้งโครงการเงินออมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการต้องซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของยอดเงินฝาก เมื่อประสบปัญหาสภาพคล่องสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถกู้ยืมจากชุมนุมสหกรณ์ได้ไม่เกิน 3 เท่าของมูลค่าตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นระยะเวลา 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังมีสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการไม่มากนัก
บางคนอาจคิดว่า สหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะไม่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างสถาบันการเงิน แต่จากกรณีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น น่าจะเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นผลของความหละหลวมของการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อ ที่นำไปสู่การยักยอกเงิน และการให้กู้กับบริษัทพวกพ้องที่มีหลักทรัพย์มูลค่าต่ำกว่ามูลหนี้มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ส่งผลให้ในปัจจุบันสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นขาดสภาพคล่อง ต้องหยุดการบริการเบิกถอนเงินฝากชั่วคราว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาของการไม่มีระบบคุ้มครองเงินฝาก เนื่องจากมีสหกรณ์อื่นๆ ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกว่า 8 พันล้านบาท ซึ่งถ้าไม่สามารถเบิกถอนเงินฝากได้ ก็จะส่งให้สหกรณ์อื่น ๆ อาจประสบปัญหาสภาพคล่องตามไปด้วย
ข่าวดีก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์มีความเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์น้อยมาก เงินฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์ฝากกับธนาคารพาณิชย์รวมคิดเป็นเพียง 0.3% ของเงินฝากรวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ สหกรณ์ออมทรัพย์มีการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์คิดเป็น 2% ของสินเชื่อทั้งระบบเท่านั้น หากเกิดปัญหาอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ สัดส่วนNPL ของสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นยังต่ำกว่าสัดส่วน NPL ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์
แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำเป็นต้องทบทวนว่าควรจะมีหน่วยงานการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์เสมือนหนึ่งว่าเป็นสถาบันการเงินหรือไม่ และหน่วยงานใดควรทำหน้าที่นี้รวมถึงเรื่องเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ และการบริหารความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญทางการเงินให้สมาชิกได้รับทราบ และร่วมตรวจสอบรวมทั้งการตั้งระบบประกันเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์เองก็เป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นระบบสมัครใจหรือต้องบังคับให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งต้องเข้าร่วม จะบริหารงานโดยเป็นกองทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์เอง หรือจะร่วมกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากก็ตาม

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นสหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในด้านจำนวนสมาชิกและมูลค่าสินทรัพย์ โดยรายงานประจำปี 2555 ระบุว่า สหกรณ์ฯ มีสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ 52,683 คน และมีสินทรัพย์ 21,790 ล้านบาท
ต่อมาได้มีการตรวจสอบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และพบความผิดปกติในการปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกสมทบ 27 ราย เป็นมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และมีเบิกเงินทดรองจ่ายอีก 3 พันล้านบาท รวมทั้งมียอดดอกเบี้ยค้างชำระสูงถึง 1.2 พันล้านบาท คิดเป็น 73% ของดอกเบี้ยที่ควรได้รับ อันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและสภาพคล่อง จนกระทั่งปัจจุบัน อดีตคณะกรรมการบริหารยังอยู่ระหว่างการถูกข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์จากดีเอสไอ และสหกรณ์ได้ระงับการเบิกถอนของสมาชิกชั่วคราว
ที่มา: รายงานประจำปีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 2555อ่านเพิ่มเติมThaipublica.org



*****************

คน(แก่)กับหมา


คน(แก่)กับหมา



ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
จากหนังสือ คึกฤทธิ์ ๘๒

ณ เวลานี้ ท่านที่เกษียณมาใหม่ๆ อาจจะยังไม่ค่อยเหงา เพราะยังอาจมีน้องๆเพื่อนๆ นัดเลี้ยงนัดอำลากันอยู่ วันนี้บ้าง วันนั้นบ้าง สนุกสนานเฮฮากันไป  บางท่านก็ยังอาลัยที่ทำงาน ยังอาจแวะเวียนไปเยียมเยือนน้องๆ ทักทายพูดคุยกันบ้าง ตามประสาคนคุ้นเคยทำงานร่วมกันมา 

แต่เวลาผ่านไปสักพัก เรื่องที่จะคุยกันก็ชักจะไม่ค่อยมี บรรดาน้องๆก็ต้องทำงานกัน เราเที่ยวไปทักคนนั้นคนนี้ เขาก็ต้องละงานมาคุยกับเรา ก็ต้องเกรงใจเขา ด้วยเหตุนี้ หลังเกษียณ ผมจึงตั้งใจว่าจะไม่เข้าไปที่ทำงานอีกเลย 

เมื่อเวลาผ่านไป ความห่างเหินก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความต่างวัย (เราแก่ขึ้น สุขภาพเสื่อมลง) ต่างกันทางชีวิตความเป็นอยู่ ทางสังคม ต่างกันทางด้านเศรษฐกิจ การระมัดระวังในเรื่องค่าใช้จ่ายของคนเกษียณ(ไม่มีเงินเดือนแล้ว) ยกเว้นที่เขามีเยอะ

ดังนั้น ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้เกษียณเช่นนี้นี่แหละ ผู้เกษียณจึงต้องปรับตัว ปรับชีวิตของตัวเองให้อยู่ได้อย่างไม่ต้องถึงกับมีความสุขหรอก แต่เพียงขอให้ไม่ถึงกับเหงาก็คงจะเพียงพอแล้ว  

สำหรับผู้เกษียณที่โชคดี มีหลานวัยน่ารักไว้ให้เล่นให้หัว(เราะ)ก็ดีไป ได้เพลินได้ยุ่งไปวันๆ แต่สำหรับบางท่านลูกเต้าโตหมดแยกบ้านแยกเรือนไปแล้ว เหลือแต่ภรรยาคู่ชีวิตที่เต่งตึง(พุงกับหู)อยู่ร่วมชายคาเพียงคนเดียว วันนี้ผมจึงอยากแนะนำให้หา "เพื่อน" มาอยู่เป็นเพื่อน "เพื่อน" ในที่นี้ไม่ใช่เพื่อนที่เป็นคนนะครับ เดี๋ยวจะยุ่ง "เพื่อน" ที่ผมว่านี่หมายถึง "น้องหมา" หรือสุนัขนั่นเอง

ในชีวิตผม ตั้งแต่เด็กๆมา ที่บ้านไม่เคยขาดหมาเลย เลี้ยงมาตลอดไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน มาว่างเอาตอนก่อนเกษียณนี่แหละ หมาตัวสุดท้ายที่เลี้ยงได้ตายลง ก็ไม่ได้เลี้ยงอีกเลย ก็คิดว่าเวลาเรามีธุระหรือจำเป็นต้องไปต่างจังหวัด จะได้ไม่ต้องเป็นห่วง ก็เลยว่างมาหลายๆปี




นั่่งรอเห่า


แต่แล้ว จู่ๆมาปีนี้ลูกสาวพาหลานมาเยี่ยมบ้าน หลานเกิดอยากจะเลี้ยงหมาขึ้นมา ที่จริงเขาอยากจะเลี้ยงมานานแล้ว แต่ที่อังกฤษ (เค้าอยู่ประเทศอังกฤษ) การเลี้ยงหมามีกฎระเบียบที่ยุ่งยากมาก ก็เลยคิดว่าจะเลี้ยงที่เมืองไทยนี่แหละ โดยฝากตายายเลี้ยงไว้ก่อน ปีหนึ่งก็มาเยี่ยมสักครั้งสองครั้ง เราก็ว่าตายายแก่แล้วมาเลี้ยงหมาตอนนี้ มันก็คงลำบากในการดูแล หากเจ็บป่วยก็ต้องพาไปหาหมอ แล้วหมาสมัยนี้เขาเลี้ยงกันอย่างกะเด็กคนหนึ่งทีเดียว ไม่ว่าจะฉีดหยูกฉีดยา อาหารการกิน โรคภัยไข้เจ็บ ไม่เหมือนสมัยก่อนเลี้ยงกันง่ายๆ

แต่ที่ไหนได้อีกสองวันลูกสาวไปหิ้วมาแล้ว ก็เลยตกกระไดพลอยโจน เป็นตายายมีหมาเป็นหลานอีกตัวนึง ตอนนี้แม่ลูกก็กลับอังกฤษไปแล้ว ทิ้งเจ้าหมาน้อยไว้ให้ตายายดูแล แต่พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาก็เกิดความผูกพันความรัก เจ้าหมาน้อยก็รู้จักประจบเสียเหลือเกิน คลอเคลียมาชวนเล่นตลอดเวลา ผมเคยอ่านหนังสือที่เขียนโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ท่านเคยเขียนเรื่องหมา ที่ท่านเลี้ยงไว้หลายรุ่น หลายตัว มีที่ท่านรักมากเป็นพิเศษเช่น เสือใบ เสือดำ ฯลฯ และอะไรๆอีกผมจำไม่ได้ไว้ในหนังสือรู้สึกว่าจะชื่อ "คนรักหมา" หรืออะไรทำนองนี้แหละผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว และยังหาหนังสือไม่เจออีกด้วย(สงสัยจะแก่ขึ้น) ท่านเขียนเกี่ยวกับอุปนิสัยของหมาไว้ทำนองนี้ว่า....



...หมาฝรั่งนี่เป็นหมาขี้เล่น  ไม่รู้จักโต ติดคนต้องอยู่กับคนตลอด ไม่เหมือนหมาไทย พอโตหน่อยจะเริ่มแยกตัว ไปนอนอยู่ห่างๆ มีชีวิตเป็นส่วนตัวของเขาบ้าง แต่ก็รักดูแลเจ้าของ

คือว่าง่ายๆก็คือหมาไทยมีนิสัยเป็นผู้ใหญ่ ส่วนหมาฝรั่งจะเป็นเด็กตลอด....เจ้าหมาน้อยที่ผมเลี้ยงมันถึงเล่นจัง ของเล่น(ที่ลูกซื้อไว้ให้)เกลื่อนเต็มบ้านหมด แต่ตอนนี้ยังถือว่าเป็น(หมา)เด็กอยู่

ตอนนี้ผมก็เลยมีหน้าที่อาบน้ำให้หมา หยอดยากันเห็บหมัด พาหมาไปฉีดยาตามนัด ดูแลสภาพทั่วไปว่ามีอะไรผิดปรกติหรือไม่ และเวลาเราคอฟฟี่เบรคเช้าบ่าย เจ้าหมาน้อยก็ได้เวลามานั่งรอเบรคด้วยเหมือนกัน โดยต้องเตรียมของว่างเป็นสแน็ค(Snack)สำหรับหมา กินพร้อมกัน ดูมันก็ยุ่งๆกว่าเดิมนิดหน่อย ที่เราเคยนอนอ่านหนังสือ เบื่อก็มาเปิดคอมพิวเตอร์ หิวก็ไปชงกาแฟกิน เดี๋ยวนี้มีเจ้าหมาน้อยมาเดินตามอยู่ตัวหนึ่ง คอยงับคอยเห่า กินก็ต้องกินด้วย ก็เพลินไปอีกแบบ ส่วนยายก็มีหน้าที่ให้อาหารหลัก ซึ่งก็ไม่ยากอะไรเพราะเป็นอาหารเม็ด



เจ้าของตัวจริงเขาหละ


ที่เอาเรื่องนี้มาคุย ก็เพราะเห็นว่า การเลี้ยงหมานี่ก็อาจจะเป็นเครื่องผ่อนคลายความเหงาของคนแก่คนชราได้ทางหนึ่ง ผัวเมียบางคน วันทั้งวันแทบจะไม่ได้พูดคุยอะไรกันเลย ต่างก็อ่านหนังสือ ต่างก็เอาแต่ดูทีวี ตกค่ำต่างคนต่างเข้านอน ถ้าเรามีหมาสักตัว เราจะได้อาศัยมันเป็นเพื่อนคุย เราคุยอะไรมันก็ไม่เถียง ได้แต่เอียงคอกระดิกหูกระดิกหางไปตามเรื่อง(เรื่องคือไม่รู้เรื่อง) หรืออาจเห่าบ้างเบาๆเป็นบางครั้ง แสดงว่ามันฟังอยู่ ไม่เหมือนคุยกะเมียมักจะคุยไม่ได้นาน

ท่านที่เกษียณแล้วท่านใด ถ้าเหงาๆก็ลองหาหมามาเลี้ยงแก้เหงาสักตัวก็ได้นะครับ รับรองเลี้ยงหมาท่านจะไม่มีเสียใจ(ยกเว้นหมาตาย)หมามันจะไม่มีพูดให้ท่านเสียใจ น้อยใจ มันจะไม่ดูถูกเหยียดหยาม แม้ว่าเงินในธนาคารของท่านเหลือน้อยเต็มที แม้ท่านจะไม่มีตำแหน่งใดๆ มันก็จะไม่คลายความรักไปจากท่าน มันจะไม่มีเปลี่ยนใจหนีไปอยู่กับคนอื่นเด็ดขาด ถ้าท่านยังเลี้ยงดูมัน ไม่ขับไสไล่ส่งมัน มันก็จะอยู่กับท่านจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่งหละ 

มีการกล่าวกันว่า
ความเหมือนกันระหว่าง "คนแก่" กับ "หมา" ก็คือ

"หมา" มีนิสัยชอบไปนั่งที่หน้าบ้าน คอยเห่าคนหรืออะไรที่ผ่านไปมา

"คนแก่" จะชอบไปนั่งหน้าบ้าน (หรือที่สาธารณะ)
เพื่อมองดูคนผ่านไปมา เพื่อทักทาย (เพราะความเหงา)

(ในต่างประเทศเขาจึงมักจะมีเก้าอี้ ม้านั่งไว้ตามสวนสาธารณะ ตามห้างตามห้องล็อบบี้ตามอพาร์ทเม้นต์ เพื่อให้คนชราไว้นั่งพักผ่อนและทักทาย (มอร์นิ่งๆ)ผู้คนแก้เหงา บางแห่งจะมีป้ายเขียนไว้เลยว่าสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้ผู้อื่นไปนั่ง)




ผมไม่สนหรอกว่าใครจะไม่รักผม
เพราะเวลาของผมมีไว้ให้คนที่รักผมเท่านั้น





**********






กิจกรรม กับคนแก่




กิจกรรม กับคนแก่

ถ้าผมมีคนดูแลอย่างงี้ จะไม่ง้อใครเลย

ไม่ต้องเกรงใจกันหร็อก แก่แล้วก็ยอมรับว่าแก่ ไม่ต้องมาเรียกกันว่า สอ-วง-สอ-วอ เอาใจกันหรอก ส.ว.ตอนนี้ชื่อเสียงมันก็ไม่ค่อยจะดีมีเกียร์ติตามชื่อที่เขายกย่องกันนักหรอก

แก่แล้ว ยอมรับว่าแก่ ผู้พบเห็นเขาจะได้เมตตา ไม่ใช่ทำตัวเป็นหนุ่มวางมาดเท่ห์ แต่จะก้าวขึ้นรถเมล์ยังยกขาไม่ค่อยจะขึ้น

พูดถึงความแก่ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงความเจ็บป่วย พูดถึงความเจ็บป่วยก็ไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงหมอ 

ดังนั้นกิจกรรมของคนที่ใช้ชีวิตยามบั้นปลายก็หนีไม่พ้นที่จะต้องติดต่อวิสาสะกับบรรดาคุณหมอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม ผู้สูงวัยท่านใดที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวน ก็นับเป็นบุญกุศลที่ทำมา แต่ไม่ได้ว่าผู้ที่เจ็บป่วยมีโรครุมเร้าเป็นผู้ทำบาปทำกรรมมานะครับ อาจจะเป็นพวกทำบุญไม่ขึ้นก็ได้

วันนี้ (พุธที่ 16 ตุลาฯ) ตั้งใจว่าจะไปหาหมอทางเดินปัสสาวะ ที่ ร.พ. กฟน.ที่สามเสนสักหน่อย ไม่ทราบว่าคุณหมอท่านหายเจ็บป่วยจากการประสบอุบัติเหตุหรือยัง นัดคราวที่แล้ว ท่านยังไม่หาย ก็ได้คุณหมอท่านอื่นจ่ายยามาให้ก่อน แล้ววันนี้ก็พอดีตรงกับวันที่รถโมบายของสหกรณ์ออมทรัพย์จะมาให้บริการที่เขตนนท์ จึงตั้งใจว่าจะแวะไปเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนเสียหน่อย ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงวัดเลียบ เสร็จแล้วจึงจะต่อไปสามเสน

แต่ที่ไหนได้ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืน คุณแม่ "นารี" ทีไม่ได้ขี่ม้าขาว แกขึ้นทีเวียดนามจะไปอีสาน แต่แกเอาหางๆชายกระโปรงของแกสะบัดมาทางกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้ฝนกระหน่ำทั้งคืน แต่ช่วงเช้าดูเบาลงก็เลยคิดว่าเขตนนท์อยู่ไกล้บ้านแค่นี้เอง ขอออกไปเบิกเงินก่อน แล้วจะต่อไปสามเสนหรือไม่ค่อยว่ากัน แต่เพื่อความแน่ใจก็เลยโทรเช็ครถโมบายที่เบอร์ที่เคยโทรคือ 08 8222 1435 แต่ไม่รับสายจนสัญญาณหลุด ตัดสินใจขับรถออกจากบ้านในซอยเรวดี มีรถติดก็นึกว่าติดเป็นธรรมดาเดี๋ยวคงว่าง แต่ค่อยๆขยับอยู่เกือบชั่วโมงจึงจะโผล่ออกรัตนาธิเบศร์ได้ ระหว่างนั้นก็พยายามโทรติดต่อรถโมบายอีกหลายครั้งแต่ไม่รับสาย(สัญญาณติด) ก็เลยไม่แน่ใจว่าถ้าผ่านแคลายไปได้ คงจะใช้เวลาอีกเป็นชั่วโมง (จ.ส.100 แจ้งว่าแคลายถูกล็อกหมดทุกด้าน)แล้วจะเจอรถโมบายหรือไม่ ก็เลยตัดสินใจวกรถย้อนไปหาซอยวกกลับเข้าบ้านดีกว่า นี่คือทุกข์ของคนแก่ที่ไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าสามารถติดต่อรถโมบายได้ก็อาจจะทราบข้อมูล อาจไม่ต้องออกจากบ้าน(ที่ไม่แน่ใจเพราะรถโมบายมักจะมีเหตุขัดข้องหรือมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย) โทรไปที่สหกรณ์ ไปติดเบอร์ใครไม่รู้ บอกให้โทรไปอีกเบอร์ก็เป็นสัญญาณแฟ็กซ์เสียอีก....จบ

สรุปว่ากิจกรรมแรกล้มเหลวไป เพราะโดน "นารี" ถล่ม กิจกรรมที่สองก็คงต้องยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะฟัง จ.ส.100 แล้วรถติดทั่วกรุงเทพและรอบๆการจราจรเป็นอัมพาทไปหมด

เปิดปฏิทินดู พุธหน้าก็ตรงกับวันที่ 23 ตุลาฯ ซึ่งเป็นวันหยุด ก็คงต้องหยุดยาไปสักพัก ไม่ทราบว่าจะขอให้หมอท่านอื่นจ่ายยาแทนให้ได้หรือไม่ เพราะที่พอทราบมา หมอเขาไม่ค่อยจะเต็มใจจ่ายยาแทนหมออื่น อาจจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบ เกี่ยวกับอันตรายในการใช้ยา



พูดถึงหมอ หลายคนก็เล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าหมอที่ไหน บางคนก็เจอหมอถูกใจ อย่าพูดว่า "หมอดี" เลย เพราะหมอที่บางคนว่าดี แต่อีกคนบอกว่าไม่ดี เอาเป็นว่าความถูกชะตากันระหว่างหมอกับคนไข้ ถ้าถูกชะตากันก็โอภาปราศรัยกันดี ถ้าโหงวเฮ้งไม่ค่อยตรงกัน คนไข้คนนั้นก็ซวยไป แต่หมอบางท่านๆก็ไม่ค่อยถูกชะตาสมพงษ์กับโหงวเฮ้งคนไข้คนใดคนหนึ่งเอาเสียเลย ประเภทนี้คนไข้ก็พยายามหลบหลีก ขออย่าได้พบกันเลย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเลี่ยงไม่ค่อยได้ ถ้าท่านไม่ได้สะสมเงินทองไว้มากมายที่จะไปใช้บริการตามโรงพยาบาลเอกชน หรือไม่ก็ต้องเป็นรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองใหญ่ เป็นบุคคลมีชื่อเสียง ถ้าเป็นบุคคลเหล่านี้ โรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือหมอใหญ่ๆ จะแย่งตัวกันไปรักษาอย่างดีเยี่ยมทันที 

รู้อย่างนี้แล้ว เวลาไปหาหมอ ควรแต่งกายให้เรียบร้อย ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น อันอาจจะทำให้หมอวิงเวียนศีรษะอารมณ์เสียได้ เวลาเข้าไปพบหมอพยายามทำตัวให้สุภาพที่สุด วางสีหน้าให้นอบน้อมถ่อมตน ให้ดูแล้วผู้ที่ได้พบเห็นจะได้เกิดความเมตตาสงสาร (แต่อย่าให้ถึงขั้นเวทนา มันจะเกินไปหน่อย) อายุขนาดผมนี่มีประสบการณ์พอสมควร เรื่องมีเรื่องมีราวก็ไม่ยอมใครเหมือนกัน แต่เรื่องไปทะเลาะกับหมอนี่ต้องขอเลี่ยงๆไว้ก่อน โดยเฉพาะหมอที่เราไม่ต้องจ่ายตังค์ ถึงแม้จะมีคนจ่ายแทนให้แล้วก็ตามเถอะ(หมอไม่ได้รักษาให้เราฟรีๆนะ แต่บางหมอคิดว่าเรารักษาฟรี)


จะไปหาหมอได้ยังไงหว่า


มาถึงตรงนี้แล้ว คนแก่ๆ อย่างพวกเราก็คงนีไม่พ้น "มือหมอ" มีทั้ง ความดัน หัวใจ เบาหวาน ข้อเสื่อม ทางเดินปัสสาวะ ตาต้อ ตามัว ฟันผุ ฟันหัก ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อสองสามวันมานี้ ก็มีเพื่อนวัยเกษียณท่านหนึ่ง เขียนมาปรับทุกข์ในเฟซบุ๊คผม เกี่ยวกับเรื่องทำฟันที่ ร.พ. กฟน. สามเสน... ซึ่งเรื่องทำฟันนี่ผมก็เคยประสบมา ก็มีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ซึ่งผมว่าเป็นบุคลิกลักษณะนิสัยของหมอแต่ละท่าน บางท่านก็ดีใจหาย บางท่านก็ดุเสียเหลือเกิน และปัญหาที่ไม่ค่อยเข้าใจกันระหว่างหมอและคนไข้ทำฟัน ผมว่ามันเป็นเรื่องที่คนไข้ไม่สามารถพูดจาสื่อสารโต้ตอบหรือแจ้งปัญหาในระหว่างทำฟันได้ เพราะต้องอ้าปากค้างอยู่อย่างงั้น เช่น บางทีหมอถามว่าเจ็บมั้ย เราเจ็บแทบแย่ แต่ก็พูดไม่ได้ ได้แต่ อ๊ะ อ๊ะ...หมอก็นึกว่าเราไม่เจ็บ  ครั้งหนึ่งระหว่างทำฟันอยู่ ผมก็สำลักน้ำที่ฉีดเข้ามาในปากตลอด หมอก็บอกให้อยู่นิ่งๆ ผมก็พูดไม่ได้เพราะปากอ้าอยู่ ก็ได้แต่สำลักคั่กๆอยู่อย่างนั้นจนหมอโมโหหยุดทำ ดึงเครื่องซัคชั่นออกมาจึงรู้ว่าเครื่องดูดน้ำมันเสีย มันไม่ดูด น้ำจึงไหลเข้าคอผมเสียหลายอึก จะขอโทษสักคำก็ไม่มี ดุผมไปหลายรอบเลย เมื่อเร็วๆนี้ก็โดนอีกที มัวแต่ไปรอหมออายุรกรรมอยู่ข้างล่าง ข้างบนเรียกแล้วยังไม่มา มาเอาเวลาใกล้หมดแล้ว ทำให้หมออารมณ์เสีย ปากเลยบวมไปร่วมอาทิตย์เพราะความผิดของเราเอง...นี่แหละคนแก่...ฟันฟางปากคอมันไม่แข็งแรงเหมือนคนหนุ่มสาวแล้ว โดนกระแทกกระทั้นแรงๆหน่อยมันก็แย่เหมือนกัน ก็อย่างที่ว่า คุณหมอเขาคงคิดว่าเรามาใช้บริการฟรีมั๊ง

ลองอ่านคำปรับทุกข์ของคนแก่หน่อยนะครับ ผมจะไม่บอกชื่อทั้งคนบ่นและเบอร์โต๊ะคุณหมอหละครับ ผมบอกแล้วไปผิดใจกะหมอเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง
   
(กำลังเขียนอยู่ดีๆ ไฟดับวาบ นึกว่าข้อมูลหายหมดแล้ว ไฟมาแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อย คอมมันบอกให้ reload ข้อมูลกลับมา ต้องรีบโพสท์ขึ้นบล็อกไว้ก่อน ใครมาอ่านตอนนี้ ยังเขียนไม่จบ....พักนี้ไฟกระพริบบ่อย(บ่อยนี่ก็คือหลายเดือนทีนะครับคุณเปี่ยม) กลัวคอมจะพัง....เขียนต่อครับ วันนี้ ทำอะไรก็ไม่ดีเลย)

เขาปรับทุกข์ว่าหยั่งงี้ครับ

......เมื่อวานไปทำฟัน.ที่รพ.ไฟฟ้า ขูดหินปูน ไม่ทราบว่าคนทำเป็นหมอ หรือผู้ช่วย ไม่ทราบว่าโกรธผมหรือเปล่า รู้สึกว่าทำด้วยความรุนแรงเจ็บมากพูดไม่ออก ได้ยินแต่เสียงพูดว่า อ้าปากกว้าง ๆ ลุง นี่ แปรงฟันทุกวันหรือเปล่านี่ ถามได้ไง ทำได้รวดเร็วดี ไม่ถึง 10 นาที ใครไปทำระวังนะ เก้าอี้หมายเลข...คิดว่าคงไม่กล้าไปทำอีก ยอมเสียตังที่ไม่ค่อยจะมี ทำที่คลินิค ดีกว่าเนาะ จำไม่ได้นะว่าหมอชื่อไร จากคนเกษียณ .....


ผมก็คงช่วยได้เพียงเป็นเพื่อนวัยชรา รับฟังคำปรับทุกข์ของท่าน ส่วนผู้ที่จะช่วยได้ก็คงเป็นผู้อาสาเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของพนักงาน คือกรรมการสหภาพฯนั่นแหละ ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ยังมีโครงการสานความเข้าใจตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่ก็ขอฝากบอกคุณหมอทั้งหลายว่ากรุณาหน่อยเถอะครับ คนแก่ๆ โดยเฉพาะการขูดหินปูนแค่ปีละสองครั้งเอง ขีวิตที่เหลืออยู่ก็คงมีโอกาสที่จะขูดอีกไม่กี่ครั้งนักหรอก ขอความเมตตาของคุณหมอให้ได้ประทับอยู่ในดวงใจของผู้ชราไว้ก่อนตายเถิด...

วันนี้ก็ขอจบเรื่องความล้มเหลวในการทำกิจกรรมของคนชราอันเนื่องมาจากคุณ "นารี" ทำให้ไปไหนไม่ได้ เท่านี้แหละครับ





*****************


สหกรณ์ : ค่าจูงใจ


"ค่าจูงใจ"



ไป..ลูก..รีบไปเลือกตั้้งกรรมการสหกรณ์กัน...



เชื่อว่าผู้ที่ติดตามอ่านบล็อกนี้ คงจะมีเกินครี่งละครับที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ สำหรับผม เวลาไปไหนมีโอกาสได้พบเจอคนที่รู้จักก็มักจะมีการพูดคุยสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับสหกรณ์ฯ มีข้อเสนอแนะฝากไปยังกรรมการสหกรณ์ฯ  ซึ่งหลังๆนี้ผมก็มักจะต้องชี้แจงว่าผมได้ห่างเหินสหกรณ์มานานพอสมควรแล้ว เพียงอยู่ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นถ้าท่านมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะใดๆ ก็สมควรที่จะเสนอต่อกรรมการสหกรณ์ได้โดยตรงในฐานะสมาชิก ส่วนผมเป็นเพียงสมาชิก"คงสภาพ" คือเขายังให้ "คงสภาพ" อยู่ได้ก็นับว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว จึงมิบังอาจไปเสนอแนะท่านกรรมการที่แต่ละท่านมีความรู้ความสามารถล้นเหลือกันทั้งนั้น อันอาจจะไปสร้างความรำคาญให้ท่านได้

แต่ในฐานะที่สหกรณ์เป็นที่พักพิงที่เดียวที่ผมมีอยู่ จนกว่าเงินที่มีอยู่เล็กน้อยค่อยๆร่อยหรอหมดไป เมื่อถึงเวลานั้น ถ้ายังไม่ตายจากกัน ผมก็คงต้องกล่าวลาสหกรณ์ที่ผมเป็นสมาชิกได้พึ่งพาอาศัยมาตลอดชีวิตการทำงานจนกระทั่งถึงบัดนี้ แต่ผมก็ได้ตอบแทนให้สหกรณ์ในรูปของดอกเบี้ย เพื่อเป็นการตอบแทนผู้เป็นเจ้าของเงินที่นำเงินมาให้เราได้มีโอกาสสร้างบ้านสร้างครอบครัวให้มีชีวิตที่ดีขึ้น...ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้ให้ความสนใจบ้างในความเคลื่อนไหว ความเป็นไปในแวดวงของสหกรณ์ต่างๆ

เช่นเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีข่าวสหกรณ์ยูเนี่ยนมีปัญหาในการปล่อยกู้ และก็ทราบมาว่าสหกรณ์ยูเนี่ยนให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูง ก็ไม่ทราบว่าพวกเราๆมีใครนำเงินไปให้สหกรณ์ยูเนี่ยนกู้กันบ้างหรือไม่ 

และก็บังเอิญเมื่อวันสองวันนี้ได้อ่านข่าวการแจกเงินผู้มาเลือกตั้งจากเว็บของหนังสือพิมพ์ "ไทยโพสท์" วันที่ 9 ตุลาคม 2556 ซึ่งพาดหัวข่าวเสียดูตื่นเต้น ก็เลยนึกขำว่าถ้าผู้สื่อข่าวมาทำข่าวการเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ของ สอฟ. คงจะตื่นเต้นยิ่งกว่านี้...ก็เลยขออนุญาต "ไทยโพสท์" คัดลอกข่าวนี้มาให้อ่านกันเล่นๆเป็นความรู้(ทั่วไป) กัน ณ ที่นี้นะครับ


ที่เดียวในโลก จ้างหัวละพัน! มาลงคะแนน




พิลึก! เลือกตั้งประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิจิตรแจก

เงินสดๆ ให้ผู้มาลงคะแนนคนละ 1 พันบาท   เบ็ดเสร็จ  

8.2 ล้านบาท ผู้จัดการสหกรณ์ฯ เผยเป็นเงินของ

สมาชิก มาจากกำไรการบริหาร จ่ายเป็นค่าเดินทาง  โว

ได้ผลเกินคาดเพราะครูมีความรู้แห่มาใช้สิทธิ์ 

94.25%   พร้อมแนะนำให้ “กกต.” นำไปใช้ ดีกว่าจะ

ทุ่มเงินรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ “สดศรี” 

ระบุไม่ผิด เพราะไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.เลือกตั้ง แต่ไม่มี

ประเทศไหนเขาทำกันแบบนี้ 


    เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายสุทัด ชื่นผล ผู้จัดการสหกรณ์

ออมทรัพย์ครูพิจิตร ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่อาคารเลข

ที่ 5/2 ถนนบึงสีไฟ ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.พิจิตร เปิด

เผยว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิจิตรริเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ 

พ.ศ.2502 ในคราวนั้นมีสมาชิกร่วมก่อตั้งจำนวน 257 

คน มีทุนเรือนหุ้น 7,720 บาท ดำเนินกิจการด้วยความ

มั่นคงมาแล้ว 54 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 7,952 คน มีทุน

ดำเนินการ 15,000 ล้านบาท ที่รับเงินฝากจากสมาชิก

เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็น

ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน ในสังกัดกระทรวง

ศึกษาธิการ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เป็นกลุ่มครู” 



    นายสัดทัดกล่าวต่อว่า โดยการบริหารองค์กรจะมีผู้

จัดการเป็นฝ่ายปฏิบัติและมีประธานเป็นฝ่ายวางแผน

และนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิจิตรมี

ประธานมาแล้ว 21 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านจะมีวาระในการ

บริหารงานคราวละ 2 ปี และเป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 

วาระ ดังนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงจัดให้มีการ

เลือกตั้งประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิจิตรขึ้น โดยจัด

แบ่งให้มีหน่วยเลือกตั้งใน 12 อำเภอของจังหวัดพิจิตร 

พร้อมทั้งจัดให้มีการเลือกประธาน-กรรมการประจำ

อำเภอ-ผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งได้รับความสนใจจาก

ประชาชนทั่วไป และผู้ที่เป็นสมาชิกที่ล้วนเป็นคนใน

แวดวงครู 



    โดยมีผู้สมัคร 2 คน คือ หมายเลข 1 ว่าที่ 

ร.อ.สาโรช ยกให้ รองผู้อำนวยการ สพป.พิจิตร เขต 2 

ซึ่งมีบิดาเป็นอดีต ผอ.พื้นที่การประถมศึกษาพิจิตรเขต 

1 แข่งขันกับนายไพบูลย์ อยู่สุข ผู้อำนวยการโรงเรียน

บ้านเนินขวาง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งเคยเป็น

ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเมื่อสมัย พ.ศ.2551-

2552 จึงทำให้เป็นคู่แข่งที่สมศักดิ์ศรี

     ทั้งนี้ มีการประกาศรายชื่อสมาชิกผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

7,952 คน โดยแบ่งแยกเป็นจุดรับบัตรเลือกตั้งเป็นกลุ่ม

ประถมศึกษา กลุ่มมัธยมศึกษา กลุ่มอาชีวศึกษา กลุ่ม

สำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อสะดวกและ

รวดเร็วต่อการใช้สิทธิ์ โดยทุกคนที่มาใช้สิทธิ์จะต้อง

แสดงบัตรสมาชิกที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูออกให้ หรือ

บัตรข้าราชการครู เพื่อขอรับบัตรลงคะแนน 3 ใบ

พร้อมๆ กัน คือ บัตรเลือกประธานสหกรณ์ออมทรัพย์

ครู, บัตรเลือกกรรมการฯ, บัตรเลือกผู้ตรวจสอบ พร้อม

กับรับเงินสดคนละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเดินทางใน

การมาใช้สิทธิ์ลงคะแนน สำหรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

ปรากฏว่าผู้ที่ชนะได้เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

พิจิตรคนที่ 22 ได้แก่ นายไพบูลย์ ได้ 5,208 คะแนน 

ส่วนคู่แข่งคือผู้สมัครหมายเลข 1 ว่าที่ ร.อ.สาโรช ได้ 

2,121 คะแนน

    "การจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ใช้กรรมการ 256 คน 

ใน 13 หน่วยเลือกตั้ง ใช้เงินในการจัดการเลือกตั้งและ

จ่ายเป็นค่าเดินทางให้กับผู้ที่มาลงคะแนนทุกคน รวม

เป็นเงินทั้งสิ้น 8,200,000 บาท ซึ่งได้ผลเกินคาด 

ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์มากถึง 94.25% จึงทำให้

บรรยากาศการเลือกตั้งเต็มไปด้วยความคึกคัก เพราะ

บรรดาคุณครูซึ่งล้วนเป็นคนที่มีความรู้ล้วนตั้งใจเลือก

คนที่ตัวเองรัก เลือกนโยบายที่ตนเองชอบมาตั้งแต่

บ้าน ดังนั้นหน้าคูหาจึงอนุญาตให้ผู้สมัครเดินยกมือไหว้

ขอคะแนนได้ แต่ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนใจหน้าคูหาได้

ยาก อีกทั้งไม่มีการซื้อเสียง เพราะถ้าคิดจะซื้อเสียงก็

ต้องซื้อ 100% แข่งกับคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง 

ซึ่งจะต้องใช้เงินมหาศาล และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการ

ซื้อเสียงแต่อย่างใด" นายสุทัดกล่าว 

    ผู้จัดการสหกรณ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินที่จ่ายก็ล้วน

เป็นเงินของสมาชิกที่เป็นกำไรมาจากการบริหารจัดการ

สหกรณ์ก็คล้ายกับเงินภาษี กรรมวิธีแบบนี้มีมานาน

แล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางแห่งที่มีกิจการมีกำไรดีมี

การจ่ายในลักษณะนี้ถึงเสียงละ 3,000 บาทก็มีแล้ว ดัง

นั้นหาก กกต.จะใช้วิธีเช่นนี้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ดีกว่าไป

จ้างศิลปินมารณรงค์การเลือกตั้งลงโฆษณา

หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หมดเงินไปหลายพันล้าน 

แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นวงจรการซื้อเสียง 

    "สู้ผู้จัดการเลือกตั้งจ่ายค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา ให้

เป็นแรงจูงใจด้วยเงินสดแบบเปิดเผย แบบนี้ดูจะได้ผลก

ว่า เพราะทุกครั้งที่จัดการเลือกตั้งไม่เคยมีผู้ใช้สิทธิ์ต่ำ

กว่า 90% เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำเอาชาวบ้านที่เห็น

การลงคะแนนแล้วรับเงินสดคนละ 1,000 บาท ต่าง

อิจฉาไปตามๆ กัน ซึ่งภายหลังจากลงคะแนนได้เงิน

แล้ว ก็มีร้านขายของให้ช็อปปิ้งกันอย่างสนุกมือที่

บริเวณหน้าคูหานั่นเอง" นายสันทัดกล่าว


    ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง 

(กกต.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วสหกรณ์

ออมทรัพย์ต่างๆ เขาจะมีการทำแบบนี้ อย่างเช่นบางที่

ก็มีการให้เงินค่ารถกันคนละ 1,000 บาท เขาถือว่ามัน

ไม่ได้เป็นการแจกเงินซื้อเสียง แต่เป็นเพียงการให้เงิน

ค่ารถในการเดินทางมาเลือกตั้ง ซึ่งก็มีการทำกันมาเช่น

นี้ตามปกติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และก็ไม่

ได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นหรือเลือกตั้ง

ระดับชาติ


     "คงเป็นเรื่องที่เขาทำได้ตามข้อปฏิบัติและระเบียบ

ของเขาเอง ดังนั้นกรณีดังกล่าวถือว่าสามารถทำได้ 

เพราะว่าเขาไม่ได้จูงใจว่าให้เลือกคนใดคนหนึ่ง แต่

จูงใจให้มาเลือกตั้งแค่นั้นเอง และเงินที่นำมาแจกนั้นก็

เป็นเงินกำไรของทางสหกรณ์เอง ไม่ใช่เงินของตัว

คนใช้สิทธิ์ ส่วนการขนคนมาใช้สิทธิ์คือการที่คนจะซื้อ

สิทธิ์เป็นคนขนและจ่ายเงิน แต่กรณีดังกล่าวสหกรณ์

เขาทำกันเอง" นางสดศรีกล่าว และว่า ส่วนจะเป็นการ

ส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างไรนั้น มันเป็นการแลก

เปลี่ยนกันว่าผู้มาใช้สิทธิ์ได้รับเงินไป และเป็นการเอื้อ

อำนวยให้คนออกมาใช้สิทธิ์เยอะๆ แต่กรณีดังกล่าวใน

ต่างประเทศไม่ทำกัน.

*****



ขอขอบคุณข่าวจาก "ไทยโพสท์"
ขอขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค....


*******