ก่อนที่สถาบันทางการเงินของประเทศไทยจะล่มสลายเมื่อปี พ.ศ.2540
ก่อนหน้านั้นมีนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง มีสโลแกนว่า "เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ในเวลานั้นจะมีการซื้อขายที่ดินกันถี่มาก ท้องไร่ท้องนามีราคาเป็นเงินเป็นทองไปหมด ไม่ว่าบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ นักเก็งกำไร ต่างนั่งรถตระเวณดูที่ ซื้อมาขายไป ใช้เวลาไม่เท่าไหร่ มีกำไรเป็นร้อยล้าน ต่างนั่งเครื่องบินไปกินปูขนตัวละพัน ตัวละหมื่นที่ฮ่องกงกันเป็นทิวแถว อาจารย์ นักธุรกิจ พ่อค้า อาซิ้มอาแป๊ะไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ไปนั่งตลาดหุ้นเล่นๆ วันๆก็ได้ค่ากับข้าวแล้วสี่ซ้าห้าพัน ชิวๆ
![]() |
(ภาพประกอบ ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ) |
ฟองสบู่แตกแล้ว.....
แล้วทำไมสถาบันการเงินจึงล่มสลาย ก็เพราะเงินที่หมุนเวียนเอามาปั่นกันนี้ มันเอามาจากธนาคาร จากสถาบันการเงินทั้งนั้น ไม่ใช่เงินของคุณพ่อคุณแม่มันหรอก และไอ้ธนาคาร โดยการใช้เส้นใช้สายการติดสินบน การร่วมมือกันหาผลประโยชน์ ตีราคาสินทรัพย์ให้สูงกว่าความเป็นจริง ถึงเวลาลูกหนี้เจ๊ง ธนาคารไปยึดมาตีราคาไว้ไร่ละ 10 ล้าน ราคาจริงไร่ละสามพัน อย่างนี้ไม่เจ๊งทนไหวหรือ มีนายธนาคารติดคุกให้เห็นบ้างเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไปเสวยสุขอยู่ต่างประเทศหมดแล้ว
ย้อนมาดูสหกรณ์ออมทรัพย์ของเรา หลายปีที่ผ่านมานี่จะมีข่าวความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ของเราบางส่วนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งทีก็ถูกนำมาเป็นประเด็นในการหาเสียงที ใครถูกใครผิด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สมาชิกแต่ละท่านจะเป็นผู้ใช้วิจารณาญาณเอง ไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะเขียนในวันนี้
ที่ผมจะเสนอความเห็นในวันนี้คือ ทำไมเราไม่แก้ที่ต้นเหตุ
ต้นเหตุมันเกิดจากอะไร มันเกิดจากกรรมการสหกรณ์ที่ทำหน้าที่ประเมินราคาที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่สมาชิกนำมาค้ำประกันเงินกู้ใช่หรือไม่ อันนี้ถ้าประเมินได้ใกล้เคียงกับราคาจริง ถ้าสมาชิกไม่มีกำลังส่ง สหกรณ์ยึดมา พูดง่ายๆก็ว่าไม่ขาดทุน แต่ถ้าประเมินสูงกว่าราคาจริง(เพื่อช่วยกัน) แต่สมาชิกสามารถส่งค่างวดได้ตลอดรอดฝั่ง ก็ไม่มีปัญหาอะไร
ไอ้ที่มีปํญหา มันอยู่ที่ผู้ประเมินก็ประเมินสูงกว่าราคาจริง(ค่อนข้างมาก) ส่วนผู้กู้ก็ไม่มีกำลังพอจ่าย จะโดยรู้เห็นเป็นใจกันหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ถึงเวลาผู้กู้ไม่มีปัญญาจ่าย สินทรัพย์ก็ต่ำกว่าราคาตลาด สหกรณ์ก็เสียหายซิครับ เมื่อมีหนี้สูญเกิดขึ้นเงินปันผลมันก็น้อยลงน่ะซี กรรมการก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ดูอย่างที่เจ้าหน้าที่โกงเงินไป 5 ล้าน (ถ้าจำไม่ผิด) ก็ไม่เห็นจะมีความคืบหน้าอย่างไร ก็คงเข้าบัญชีหนี้สูญตามเคย ไม่ต้องมีใครต้องรับผิดชอบ แม้แต่เจ้าหน้าที่ประจำ (ถ้ามีการแถลงความคืบหน้าแล้ว โดยผมไม่ทราบ ก็อยากขอทราบด้วย)
เมื่อครั้งที่ผมเคยเป็นกรรมการสหกรณ์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ขณะนั้นก็มีการพูดกันถึงเรื่องว่ากรรมการบางคนไปตรวจที่แล้วได้ผลประโยชน์ หรือไม่ก็ไปซูเอี๋ย(รู้กัน)ตีราคาให้สูงกว่าราคาจริง แต่ก็ยังไม่มีเรื่องเสียหายนัก ผมก็เสนอว่า เพื่อความโปร่งใส ควรจ้างบริษัทประเมินสินทรัพย์ให้เป็นผู้ประเมิน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์ แต่เหตุผลของผมต้องตกไป ด้วยเหตุว่า สมาชิกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตีราคาประเมิณสูงกว่าที่กรรมการประเมิน อีกประการคือสมาชิกส่วนใหญ่อยากจะให้ตีเกินๆไว้หน่อย เผื่อขาดสภาพคล่อง ถ้าซื้อที่จริงปลูกบ้านจริงอยู่อาศัยจริง ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นใดๆ มีรายได้พอส่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งไม่มีใครพูด และผมก็ไม่อยากพูด คือค่าธรรมเนียมในการตรวจที่ ขณะนั้น 300 หรือ 500 บาท ผมจำไม่ได้เพราะผมไม่เคยตรวจที่(มีคนมารับโควต้าของผมไปด้วยความยินดี) วันหนึ่งตรวจอย่างน้อยวันละ 5-6 ราย คิดดูได้วันละเท่าไหร่ บางคนตรวจทั้งเสาร์อาทิตย์ (บริการสมาชิกที่อยู่บ้านในวันหยุด) ผลประโยชน์ตรงนี้แหละครับ ที่อาจเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลง หรือที่ร่วมสมัยในขณะนี้คือ "Change" (ที่ทีมผู้สมัครทีมหนึ่งใช้เป็นสโลแกนในการหาเสียงในการเลือกตั้งกรรมการสหภาพฯ) แต่การที่จะ Change อะไร มันต้องมี "Chance" คือต้องมีโอกาสมีจังหวะมีหนทางที่จะเปลี่ยนได้ ถ้ายังไม่มี Chance ก็จะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ (ผลประโยชน์ตรงนี้ถ้ากรรมการท่านใดเห็นว่าไม่จริง โปรดบอกผมได้ ผมจะแก้ข่าวให้) และในเวลานั้น ก็ยังไม่มีการกระทำที่ "ครึกโครม" เหมือนในเวลานี้ จึงยังไม่มีการ "Change"
สหกรณ์ฯของเราขณะนี้ บริหารเงินเป็นหมื่นล้าน ถึงเวลาหรือยังที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารงานให้สากลขึ้น ให้ทันสมัยขึ้น ใช้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลกันให้เกิดความโปร่งใส การบริหารเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันความเสียงแค่ไหนถึงจะยอมรับได้ ผมไม่เคยเห็นทีมไหนหาเสียงว่าจะปรับปรุงการบริหารงานให้โปร่งใส ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จะแสวงหาการลงทุนที่มั่นคง มีผลตอบแทนที่เหมาะสม ฯลฯ กรรมการที่เลือกเข้ามาก็ควรจะมาใช้สมองคิดพัฒนาองค์กรให้เจริญก้าวหน้า ตรวจสอบการบริหารภายในไม่ให้เกิดช่องว่างให้ทุจริตได้อีก ไม่ใช่เอาเวลาไปวิ่งตรวจที่ นับวันต่อจากนี้ไป สหกรณ์ก็คงทำได้แค่เอาเงินฝากมาออกเงินกู้กินส่วนต่างไปวันๆ (ป่านนี้พวกเพื่อนๆนักเลือกตั้งคงด่าผมกันตรึมแล้ว)
ก็เป็นความเห็นที่ฝากไว้ให้คนรุ่นใหม่ลองคิดดูว่าถึงเวลาจะ "CHANGE" กันหรือยัง ถ้าเห็นด้วยก็ช่วยกันขยายผลผลักดันต่อไป ถ้าไม่เห็นด้วยก็นึกว่าเสียเวลานั่งฟังคนแก่บ่นให้ฟังก็แล้วกัน คนเกษียณแล้วก็ทำได้แค่อาศัยสหกรณ์เป็นที่พักเงิน(ใช้คำว่า "พักเงิน" เพราะเงินอันน้อยนิด กับดอกเบี้ยที่นิดหน่อย ไม่สามารถนำมายังชีพได้เพียงพอ) และก็เบิกกินไปแต่ละเดือนจนกว่าจะหมดก็ต้องหมดสมาชิกภาพไปโดยปริยาย ยกเว้นคนเงินถุงเงินถัง ที่บ่นให้ฟังนี่ไม่ใช่เป็นห่วงเงินของตัวเอง มีอยู่ไม่กี่ตังค์หรอก แต่อนาคตของสหกรณ์ฯต้องเป็นที่พึ่งอันมั่นคงของสมาชิกตลอดไป
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะใช้มืออาชีพเป็นผู้ประเมินสินทรัพย์ เพื่อความโปร่งใส
การใช้มืออาชีพนี้ มิใช่เป็นการปิดกั้น สมาชิกที่มีความจำเป็นหรือมีความเดือดร้อน แต่การช่วยเหลือสมาชิกที่อยู่นอกเหนือกติกานี้ ก็ควรมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณารับผิดชอบโดยรอบคอบเป็นรายๆไป เพื่อความโปร่งใส และเพื่อสมาชิกไว้วางใจได้
หรือเราจะปล่อยให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัย์การไฟฟ้านครหลวงฯได้ลุ้นกับความโปร่งใสของกรรมการในแต่ละปีๆกันต่อไป เมื่อแก้ที่คนไม่ได้ ก็ควรต้องแก้ที่ระบบ
การเขียนบทความนี้มิได้มีเจตนาจะให้เป็นคุณเป็นโทษต่อผู้ใด เพราะแต่ละคนก็รู้จักชอบพอกันทั้งนั้น วัตถุประสงค์เพียงต้องการเสนอวิธีแก้ปัญหาและการป้องกันตามหลักการบริหารเท่านั้น
**********************
ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายของแต่ละทีม นำมาให้ผู้เกษียณได้พิจารณา หากทีมใดมีนโยบายนี้อยู่แล้ว ก็ควรสนับสนุน คิดว่าอาทิตย์หน้าต้องไปหามาให้ดูกันเสียหน่อย
(โปรดติดตามการวิเคราะห์เจาะลึกต่อไป แต่จะพยายามไม่ให้เป็นคุณป็นเป็นโทษต่อผู้สมัครผู้ใดผู้หนึ่ง)
*************************
No Response to "ถึงเวลาหรือยัง"
แสดงความคิดเห็น