ปลากัด.. ที่ข้าพเจ้ารู้จัก

เมื่อ 50-60 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครของเรายังไม่เจริญรุ่งเรืองเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องเหมือนปัจจุบัน  ถนนหนทางส่วนใหญ่ก็เป็นถนนลาดยางสองเลน เรียกกันว่าหลังเต่า ที่มีคู่กันไปกับถนนถนนก็คือลำคลองนั่นเอง ถนนสาธร สีลม พระราม 4 พหลโยธินตั้งแต่อนุสาวรีย์เป็นต้นไป ฯลฯ แทบทุกถนนจะควบคู่ไปด้วยลำคลอง จนฝรั่งให้ฉายากรุงเทพฯในสมัยนั้นว่า "เวณิชตะวันออก" สมัยนั้นมีเรือลำเดียวสามารถไปได้ทั่วกรุงเทพฯ คลองไหนตันก็ย้อนกลับออกแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไปหาทางเข้ามาใหม่ ก็จะไปถึงที่หมาย  บ้านเมืองยังเต็มไปด้วยห้วยหนองคลองบึง ให้เด็กๆได้ใช้เป็นแหล่งเที่ยวเล่น บางทีก็ประสบอุบัติเหตุกันบ้าง ซึ่งพ่อแม่สมัยนั้นมักจะมีลูกหลายคน และบ้างต้องทำมาหากิน จึงไม่อาจดูแลลูกได้ทั่วถึง เด็กๆที่ผ่านวัย โตเป็นผู้ใหญ่มาได้จึงค้องแกร่งพอสมควร  ไม่เหมือนเด็กสมัยนี้ที่เป็นลูกคนเดียวหรือสองคน ที่พ่อแม่ดูแลดังไข่ในหิน
.
บ้านผมอยู่ชานเมือง ใกล้กรมทหาร ระหว่างราชวัตร - สะพานแดง แนวทางรถไฟจากสามเสนไปบางซื่อ เวลานั้นสองข้างทางรถไฟยังไม่ค่อยมีบ้านเรือน มีแต่คลอง บึง ป่าหญ้า น้ำท่วมเจิงนองเป็นบริเวณกว้าง มีบางจุดมีคนเอาไม้ไปปักเพื่อเลี้ยงผักบุ้งเป็นกลุ่มๆ เพื่อเด็ดยอดไปขาย
.
ผมและเพื่อนๆวัยเด็กในสมัยนั้น ความบันเทิงใดๆเช่นสมัยนี้ยังไม่มี ความสนุกที่หาได้ในสมัยนั้นก็คือรวมพวกกันเป็นกลุ่ม แล้วก็พากันเดินเที่ยวกันไปทั่ว เข้าซอยนี้ออกซอยนั้น เจอทุ่งเจอคลองก็แวะเล่นกันไป เจอต้นไม้ใหญ่ๆก็ปีนเล่น เจอคลองน้ำใสๆก็แก้ผ้าโดดเล่นกันจนเบื่อก็ขึ้นมานุ่งกางเกงเดินเที่ยวต่อ เด็กสมัยนั้น สิบกว่าขวบก็ยังแก้ผ้าเล่นน้ำกันโครมๆ ไม่มีเหนียมอายเหมือนเด็กสมัยนี้
ซอยระนอง 2 เป็นเส้นทางหนึ่งที่พวกผมเดินกันประจำ เพราะปลายซอยนี้เป็นทางรถไฟ เมื่อหาทางขึ้นไปบนทางรถไฟได้ ก็จะเป็นเส้นทางให้เดินต่อไปที่อื่นๆได้อีกมากมาย (อยากจะเล่า แต่เดี๋ยวจะยาว)
.
ซอยระนอง 2 นี่ คนรุ่นเก่าคงรู้จักกันดี เป็นซอยบ้านพักส่วนตัวของจอมพล ถนอม กิตติขจรนั่นเอง ซอยนี้มีบ้านนายทหารใหญ่ๆที่มีบทบาททางการเมืองอยู่กันมาก บ้านแรกทางขวามือปากซอยคือบ้าน "ฉัตร หนุนภักดี" (ขออภัยผมจำยศท่านไม่ได้) พ่อตาของพลเอกสุจินดานั่นเอง...  ผมเดินผ่านซอยนี้ก็จะอ่านชื่อเจ้าของบ้านไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายพลนายพัน จนจำได้ขึ้นใจเรียงลำดับบ้านได้ทุกหลัง แต่ตอนนี้จำได้เพียงบางคน
.
อย่างที่บอกแล้วว่าที่สุดซอยระนอง 2 เป็นที่ว่างยาวคู่กันไปกับทางรถไฟ คงเป็นที่ของรถไฟจึงไม่มีบ้านเรือน (ปัจจุบันเป็นถนน) บริเวณนี้เป็นกึ่งบึงกึ่งที่ลุ่มน้ำท่วม มีหญ้าและวัชพืชต่างๆรกไปหมด ตรงนี้แหละเป็นประเด็นที่มาเล่าในวันนี้
.
ที่ลุ่มน้ำท่วมตรงนี้แหละที่เราใช้เป็นเส้นทางลุยต่อไปที่อื่นๆ  แต่.. เราสังเกตุได้ว่ามีคนบางคนที่อายุมากกว่าพวกเรา แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นผู้ใหญ่ มาเดินก้มๆเงยๆอยู่กับพื้นน้ำ ด้วยความสงสัยจึงเข้าไปถามว่าพี่ๆทำอะไรน่ะ เขาบอกว่าจับปลากัด พวกเราก็ยืนดูกัน ก็เห็นเขาเอาตะแกรงช้อนเข้าไปตามกอหญ้า ก็เห็นได้ปลามาบ้าง
.
เมื่อได้เห็นกิจกรรมอย่างใหม่ พวกเราก็คิดจะทำบ้าง เพราะเคยเห็นรุ่นพี่เขาเลี้ยงปลากัดใส่ขวดใสๆมีกระดาษแข็งกั้นระหว่างขวดดูสวยดี  จึงเริ่มหาเครื่องมือที่จะไปจับปลากัด  ก็ไปเจอบุ้งกี๋เก่าๆที่พวกก่อสร้างเขาทิ้งแล้ว ซึ่งก็มีรูโหว่ใหญ่ๆที่ปลาจะหลุดไปได้ แต่ก็ยังดีเพราะหาอะไรที่เหมาะกว่านี้ไม่ได้  ต่อจากนี้พวกเราก็ไปลุยจับปลากัดกันที่บึงตื้นๆริมทางรถไฟ ตามแต่ใครจะหาเครื่องมืออะไรมาได้  หลังจากนั้นพวกเราก็ได้ปลามาคนละสองตัวสามตัว ก็นำกลับบ้านด้วยความภูมิใจ แต่หลังจากขึ้นจากบึงก็พบว่าที่หลังเท้าของพวกเราโดนปลิงเกาะมาคนละตัวสองตัว เมื่อดึงปลิงออกก็มีเลือดไหลตามมา เราก็วักน้ำในบึงนั่นแหละ ล้างๆก็หาย
.
เมื่อกลับถึงบ้าน ก็เอาปลาใส่กระมังเล็กๆ แล้วก็ไปหาขวดเหล้าขวดน้ำปลามาล้างให้สะอาด กรอกน้ำสะอาด แล้วก็เอาปลาที่จับมาได้ใส่ลงในขวด เพื่อนๆก็ช่วยกันดู มีบางคนบอกทำไมตัวมันซีดๆวะ เราก็บอกว่ามันคงตกใจมั๊ง สีมันเลยซีด เดี๋ยวมันปรับตัวได้สีมันคงขึ้นมาเองแหละ
.
ระหว่างที่เพื่อนๆกำลังตื่นเต้นนั่งชื่นชมปลาในขวดกันอยู่ พี่ชายซึ่งเดินกลับมาจากข้างนอก เห็นพวกเราจับกลุ่มกันอยู่ จึงเดินเข้ามาดูแล้วถามว่าดูอะไรกัน มีคนหนึ่งตอบว่าดูปลากัดครับ   พี่ชายจึงก้มลงดูที่ขวดที่เรานั่งดูกันอยู่ แล้วก็ยิ้มเงยหน้าขึ้นหัวเราะ แล้วบอกว่า "ไอ้บ้าเอ๊ย นี่มันปลากัดที่ไหนล่ะ เขาเรียกว่าปลากิม รูปร่างมันจะคล้ายปลากัด ปากมันจะแหลมๆ ไม่มีสี ไม่มีใครเขาเลี้ยงกันหรอก.."  พวกเราต่างหันมองหน้ากัน อารมรณ์แห่งความตื่นเต้นเมื่อสักครู่หายไปจนหมดสิ้น
.
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้ข่าวว่าทางราชการได้ประกาศให้ปลากัดเป็นปลาประจำชาติ หลังจากที่วงการปลากัดผลักดันเรียกร้องมานาน  กระผมซึ่งเกือบจะเข้าสู่วงการปลากัดแล้ว ถ้าไม่โดนเจ้าปลากิมมาสกัดดาวที่จะรุ่งเสียก่อน ก็ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่นิยมชื่นชมปลากัด ซึ่งปัจจุบันพัฒนาได้สวยงามยิ่งกว่าสมัยที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆมาก ดังที่ผมนำรูปจากอินเตอร์เน็ตมาลงไว้ให้ดูความสวยงาม ไม่ทราบชื่อเจ้าของ ถ้ามีลิขสิทธิ์ก็ขออภัยด้วยครับ
.
16 ก.พ. 2562
.



ปลากัดสีธงชาติที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย



.

No Response to " "

แสดงความคิดเห็น