คู่มือการเลือกตั้ง

คู่มือการเลือกตั้ง
เราจะเลือกอย่างไรดี.......
ผู้เกษียณอาจมีข้อจำกัดในการรับ "ข้อมูลข่าวสาร"
จึงขอเสนอความคิดเห็นบางประการเพื่อประกอบการพิจารณา

ลองพิจารณาหัวข้อเหล่านี้ดู........
การตัดสินใจ เป็นสิทธิ์ของท่าน





1. ความรู้  คือความ "เข้าใจ" ในเรื่องต่างๆเข่น "รู้รอบ" คือรู้หลายๆเรื่อง "รู้ลึก" คือรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง   คนที่มีความรู้ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่รู้น้อย เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเรามีความรู้ มีข้อมูลที่มากกว่า ดีกว่า ก็จะสามารถนำข้อมูลนั้นๆมาประกอบการตัดสินใจได้ดีกว่าถูกต้องกว่าคนที่มีข้อมูลน้อยกว่า โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเสียหายก็จะน้อยกว่า

2. ความสามารถ เมื่อมีความรู้แล้ว ต้องมีความสามารถด้วย จึงมักเรียกรวมกันว่า "ความรู้ ความสามารถ" ถ้ามีความรู้แล้วไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ความรู้นั้นก็ไร้ประโยชน์  ดังนั้นเราจะดูคนมีความรู้อย่างเดียวไม่ได้  ต้องดูที่ความสามารถด้วย  ดูว่าเขาสามารถ บริหารจัดการเรื่องต่างๆให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

3. ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีองค์กรใด สามารถจะออกแบบระบบการบริหารองค์กรให้สามารถป้องกันการทุจริตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็น "กูรู" ทางด้านการบริหาร และเป็นต้นแบบในการบริหารแบบ "ธรรมาภิบาล" ก็ยังมีการล้มละลายของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับแสนล้านเหรียญเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการทุจริตของผู้บริหาร  กองทุนผู้เกษียณในอเมริกาก็ล้มมาแล้วเพราะเจ้าหน้าที่ทุจริต ซึ่งทำให้เกิดวิกฤต "แฮมเบอร์เกอร์" มาจนทุกวันนี้ (แล้วสหกรณ์ของเรามีการบริหารกันอย่างหลวมๆ กรรมการมาจากการเลือกตั้ง บริหารโดยมติของกรรมการเสียงข้างมาก "พวกมากลากไป" จึงอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้เสมอ ยังดีที่ยังมีหน่วยงานราชการกำกับดูแลอยู่บ้าง)  ดังนั้นการเลือกคนเข้าไปบริหาร โดยเฉพาะสถาบันทางการเงิน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง "คู่มือ" นี้จึงขอให้ท่านพิจารณาข้อนี้อย่างรอบคอบ

4. ความเป็นธรรม สหกรณ์ฯเกิดจาการรวมกลุ่มของ "กลุ่มคน" ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องมีคนกลาง  ผู้ที่มีช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี  โดยมีประโยชน์ตอบแทนตามสมควรด้วย "เป็นธรรม" ผู้กู้สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าข้างนอก ผู้มีเงินฝากก็ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าข้างนอก ในอัตราที่ "สมน้ำ สมเนื้อกัน" เหตุเพราะสหกรณ์ฯไม่ต้องกันเงินเพื่อเป็น "กำไร" เพื่อสะสมไว้เช่นสถาบันการเงินภายนอก  และต้องไม่ลืมว่า "เงิน" นั้นเปรียบเหมือน "น้ำ" มันจะพยายามไหลให้อยู่ในระดับเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ถ้ามูลค่าที่จุดใดไม่เท่ากับอีกจุดหนึ่ง มันก็จะไหลไปรวมกับอีกที่หนึ่ง
ดังนั้น ถ้าการจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนที่ "ไม่เป็นธรรม" อย่างน้อยก็เป็นการ "บิดเบือน" "เจตนารมณ์" ของสหกรณ์ และในระยะยาวอาจเกิด "วิกฤตทางการเงิน"  ขึ้นในสหกรณ์ก็เป็นได้

          ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ต่ำกว่าอัตราเงินเฟื้อแล้ว ท่านคิดดู ท่านฝาก 1 ปี นอกจากเท่ากับท่านไม่ได้ดอกเบี้ยแล้ว เงินต้นของท่านยังหายไปกับอัตราเงินเฟื้ออีก  แม้ขณะนี้สถาบันการเงินภายนอกกำลังทะยอยการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากกันอย่างต่อเนื่อง  แต่กรรมการสหกรณ์ "เสียงข้างมาก" กลับมีมติให้ลดดอกเบี้ยเงินฝากลง โดยปราศจากหลักการการบริหารการเงินใดๆทั้งสิ้น  เพียงเพื่อจะนำข้ออ้างนี้ไปหาเสียงกับผู้กู้ที่เป็นพรรคพวกกลุ่มหนึ่งเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงให้พวกตนเท่านั้น  การกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ ไร้วินัยทางการเงินนี้ ท่านยอมรับกันหรือไม่  นี่ยังไม่พูดถึงการนำเงินมาจ่ายในวันเลือกตั้งเปล่าๆโดยไร้เหตุผลเช่นกัน  ณ วันนี้ท่านสมาชิกอาจจะชอบ แต่ในวันหน้า ไม่รู้ว่ายังจะมีสหกรณ์ให้พวกเราได้พึ่งพาอาศัยกันหรือไม่  อย่าลืมว่าถ้าผู้ฝากเงินอยู่ไม่ได้ ผู้กู้ในอนาคตก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีเงินให้กู้เหมือนกัน) ดังนั้นจึงควรเลือกคนที่มีใจเป็นธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์ให้ความสมดุลกับทุกกลุ่มโดยเท่าเทียมกัน จะหาเสียงก็หาโดยแสดงความสามารถในการทำงาน ไม่ใช่เอาเงินของสหกรณ์มาแจกเล่น ผมพยายามจะวิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม แต่การกระทำบางอย่างมันรับไม่ได้ ขืนปล่อยไว้ "ฉิบหาย" แน่ (ใครจะโกรธ ก็ยอมให้โกรธแล้ว)

5. มีจิตมุ่งมั่น จงเลือกคนที่มีจิตมุ่งมั่นที่จะเข้ามาทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกด้วยความจริงใจ  มิใช่เข้ามาเพื่อหาช่องทางหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง  บางคนยังไม่มีความสามารถบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองให้รอดจากความล้มเหลวได้เลย  แล้วเราจะไว้วางใจให้คนเหล่านี้มาบริหารเงินเป็นหมื่นล้านหรือ

ในเวลาสั้นๆก็คิดได้เท่านี้เองครับ......
อนาคตของสหกรณ์ฯ(ของท่าน)อยู่ในมือท่านแล้ว
...ไม่ต้องก้มไปดูหรอก (สำหรับสมาชิกผู้ชายน่ะ)

*******

ใครที่เห็นด้วยกับความคิดเห็นข้างบนนี้ ก็ช่วยบอกกันต่อๆไปด้วย
ส่วนใครที่ไม่เห็นด้วยก็ควรบอกต่อเช่นกัน
เพื่อเป็น "นานาทัศนะ" เพื่อช่วยกันพิจารณาถูกผิดต่อไป

พบกันวันที่ 24 ก.พ.

*********

No Response to "คู่มือการเลือกตั้ง"

แสดงความคิดเห็น