"คนรุ่นใหม่"

ยินดีต้อนรับ "คนรุ่นใหม่"


สถานที่สำหรับพักผ่อน-ออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ


         ครับ..."คนรุ่นใหม่" ที่ว่านี่ ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกครับ ก็พวกเราทั้งนั้นแหละ  ทราบว่าปีนี้มีตั้งสามร้อยกว่าคน  ที่ว่าคนรุ่นใหม่ ก็คือคนที่เกษียณมาใหม่ๆ มาเป็นรุ่นใหม่สำหรับพวกเราไงล่ะ สำหรับพวกเราที่เป็นรุ่นเก่า ก็จะเก่าไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆสลายกันไปทีละคนสองคน ตามกาลเวลา  แต่ดูน่าจะยังมีกำไรอยู่ เพราะจากสถิติของ ฌาปณกิจสงเคราะห์ฯ เราเสียไปประมาณสองร้อยกว่าคนต่อปี แต่ได้มาสามร้อยกว่า นี่คงเป็นแนวโน้มหนึ่งที่ต่อไปประเทศไทย(และทั้งโลก) จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

        เป็นธรรมเนียมที่เราจะกล่าวคำต้อนรับสำหรับผู้มาใหม่
        ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ที่ท่านๆจะได้พักผ่อนกันเสียที ถึงแม้บางท่านยังไม่อยากจะพักก็ตามที (ยังเสียดายเงินเดือนอยู่)

        แต่นี้ต่อไปท่านจะต้องก้าวเข้ามาสู่วิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะด้านการเงิน  ท่านที่เตรียมตัวมาดี ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง ที่เหลือก็เป็นเรื่องของอนาคตและโชคชะตา ความผันแปรของสภาพแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้

          ตอนผมเกษียณ(ก่อนกำหนด)ราวปี 48 น้ำมันเบนซิล 91 ลิตรละ 20 กว่าบาทต้นๆ มาปีนี้ ลิตรละ 40 กว่าบาท เปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล 95 ก็ตกลิตรละเกือบ 40 แล้ว ในเวลา 5-6 ปี ผมต้องใช้เงินในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว  เงินที่เรามีเท่านี้ในว้นนี้ อีก 5ปี 10ปีข้างหน้า มันจะเหลือเท่าไหร่

         เรื่องค่าของเงิน....
         ตอนเราทำงาน เรากังวลก้นว่าค่าของคน อยู่ที่คนของใคร...
         แต่ต่อไปนี้ "ค่าของเงิน" จะมีความสำคัญกับผู้เกษียณเป็นอย่างมาก  ค่าของเงินจะอ่อนค่าลงเท่าไหร่ ดูได้จากอัตราเงินเฟื้อ เช่นถ้าอัตราเงินเฟื้อ 3.5 เปอร์เซ็นต์ คิดง่ายๆถ้าเรามีเงิน 100 บาท ก็จะเหลือ 96.50 บาท ปีต่อๆไป เงินมันเฟื้ออีกเท่าไหร่ เงินในกระเป๋าเราก็ลดลงไปเรื่อยๆ ใครว่างๆ ลองคิดดูก็ได้ เงิน 100 บาท ในเวลา 10 ปี จะเหลือเท่าไหร่

         อัตราเงินเฟื้อมันเป็นภาพรวมทางทฤษฎี แต่อาหารการกินจริงๆมันขึ้นกันสามสิบสี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็มี

         ถ้าเราไม่ได้เก็บเงินไว้กับตัว แต่นำไปซื้อหุ้นสหกรณ์ฯ รู้สึกว่าจะจำกัดไว้ที่สองล้านบาท เงินปันผลประมาณ 5 % (กลมๆ) ถ้าเงินเฟื้อ 3.5 % ท่านก็ยังมีกำไร 1.5 %  เงินที่เหลือ เหลือเท่าไหร่..ท่านก็จะแบ่งไปฝากในบัญชีที่มีระยะเวลาแตกต่างกันไป ถ้าฝาก 2 ปี 3 ปี ขึ้นไป ดอกเบี้ยก็จะสูงกว่าอัตราเงินเฟื้อหน่อย แต่ถ้าเงินเราเหลือน้อย เราก็ต้องฝากระยะสั้นๆ เพื่อ "สภาพคล่อง" คำว่าสภาพคล่องก็หมายความว่า หากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงิน เราสามารถไปเบิกมาใช้ได้ทันที  คนที่ออมไว้เยอะ หรือผู้ที่สมทบไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้เยอะก็จะเบาใจได้หน่อย ส่วนคนที่เบี้ยน้อยหอยน้อย(หอยใหญ่ไม่เกี่ยวนะครับ) ก็ต้องบริหารส่วนนี้ให้ดีหน่อย  เงินแสน-เงินล้าน เดี๋ยวนี้มันจิ๊บจ๊อย ใช้เพลินๆ ไม่กี่วันหมด ยิ่งถ้าทิปนักร้อง คืนเดียวก็หมด

          สมัยก่อนจะมีโฆษณาหนังของ "ดอกดิน" ว่า "ล้านแล้วจ้า ..ล้านแล้วจ้า..." เมื่อหนังสามารถเก็บเงินคนดูได้ถึงล้านบาท...คนไหนรวยหน่อย เราก็เรียก "เศรษฐีเงินล้าน"  ดูว่าเงินล้านมันมากมายเสียเหลือเกิน  เราก็คิดว่าในชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสจับเงินล้านกับเขาหรอก  เดี๋ยวนี้เป็นยังไง  ไม่น่าเชื่อว่ามีคนที่มีเงินเป็นหมื่นๆล้าน โอว์ มันเอามาจากไหนกันวะ ของเราทำงานตั้งแต่หนุ่มยันเกษียณ ได้มาไม่กี่ล้านเอง ยังไม่รู้จะอยู่ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า

          ดังนั้น จงอย่าเผลอ เงินล้าน ปัจจุบันนี้ใช้แป๊บเดียวหมดนะครับ ลูกหลานจะขอ จะหยิบยืม หรือจะลงทุนอะไร ต้องคิดให้ดีนะครับ หมดแล้ว หมดเลย...

         ตั้งแต่ผม "เออรี่" ออกมา ก็นำเงินทีได้มาจากกองทุนฯออกมา หลังจากเคลียร์หนี้กับสหกรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ซื้อหุ้นตามที่สหกรณ์กำหนด ที่เหลือก็ฝากไว้เพื่อถอนกินเป็นรายเดือนไป

        ตั้งแต่มีโอกาสได้มีเงินฝากกับเขาบ้าง (ในชีวิตการทำงานไม่เคยมีบัญชีเงินฝาก มีแต่กู้) ก็ตกอยู่ในยุค "ประชานิยม" หลังการเลือกตั้งทีไรก็จะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อเอาใจ "ฐานเสียง" มาทุกครั้ง  ในแต่ละครั้งผู้ฝากเงินก็ได้แต่ "ตาปริบๆ" ไม่มีปากมีเสียง จนกระทั่งดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดินต่ำกว่าอัตราเงินเฟื้อ

          หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ ระดมเงินฝาก จนให้ผลประโยชน์ตอบแทนขึ้นมาใกล้เคียงกับสหกรณ์ หรือบางเงื่อนไขสูงกว่าสหกรณ์ฯ สหกรณ์จึงมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 25 สตางค์ ก็มีผู้นำไปเป็นประเด็นทางการเมือง (แฝงด้วยการมุ้งอีกต่างหาก) โจมตีกรรมการ  นี่คือปัจจัยภายนอกที่ผู้เกษียณจะต้องประสบพบเจอ ทำให้การบริหารสหกรณ์ฯถูกบิดเบนไปจากหลักการ ก็ต้องขอชมกรรมการชุดนี้ที่กล้าหาญ กล้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง

         ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวควบคุมเงินเฟื้อ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อป้องกันคนนำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทำให้เงินเฟื้อ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินออม เพื่อให้คนออมเงิน ไม่ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำให้เงินเฟื้ออีกนั่นแหละ  แต่สหกรณ์ฯที่ผ่านมาใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง จนทำให้สมาชิกบางส่วนเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และก็มีผลกระทบที่จะทำให้เกิดหนี้สูญเพิ่มขึ้นในอนาคต

         ถ้าเราฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟื้อ นั่นคือเรา "ขาดทุน" คนก็จะถอนเงินไปลงทุนอย่างอื่น  เพราะเราได้ดอกเบี้ยมาน้อยกว่าค่าของเงินที่เราหายไปกับอัตราเงินเฟื้อ  ผู้เกษียณที่ไม่มีเงินถุงเงินถัง  จำเป็นต้องอาศรัยสหกรณ์เป็นที่พักเงิน(ดีกว่าไปเสี่ยงอย่างอื่น ถ้าไม่มั่นใจ) อย่าเรียกว่าเป็นที่เก็บดอกเบี้ยกินเลย   อดีตกรรมการบางคนไปหาเสียงโจมตีหาว่ากรรมการชุดนี้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเอาใจผู้เกษียณ ก็อยากจะบอกว่ามีผู้เกษียณจำนวนไม่เท่าไหร่หรอกที่มีเงินเป็นกอบเป็นกำ จนสามารถร่ำรวยจากดอกเบี้ยของสหกรณ์   ส่วนใหญ่แล้วเงินที่มีอยู่ของหลายคนคงไม่สามารถทำผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะยังชีพด้วยซ้ำไป  ผู้เกษียณจำนวนมากต้องทะยอย "กินทุน" ไปเรื่อยๆ จนกว่าทุนจะหมด เพราะผลตอบแทนจากสหกรณ์สมัยนี้ ต่ำกว่าสมัยก่อนมากๆ เงินปันผลที่ได้จากหุ้นซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย ก็ถูกจำกัดจำนวนหุ้นที่ให้ซื้อได้ (สมัยก่อนหน้านั้นซื้อได้ไม่จำกัด)  หากท่านต้องการใช้ดอกเบี้ยอย่างเดียวเพื่อการยังชีพ ท่านจะต้องคำนวณหาต้นทุน ซึ่งจะต้องมีเงินฝากที่สูงพอสมควรเลยทีเดียว

         ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะไปตกอยู่กับผู้ฝากเงินรายใหญ่ๆ รวมทั้งนายทุนบุคคลภายนอกที่เข้ามาลงทุนในสหกรณ์ หรือผู้ที่ลงทุนผ่านนอมินี่ในไฟฟ้า ถ้าบุคคลเหล่านี้เห็นว่าผลประโยชน์ตอบแทนต่ำ ก็อาจย้ายเงินลงทุนไปลงทุนในแหล่งที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่า สหกรณ์ก็จะไม่มีเงินมาให้พวกท่านกู้กันได้   สำหรับผู้เกษียณจริงๆแล้ว ส่วนใหญ่มีเงินเพียงน้อยนิด  จะมีส่วนในการได้รับผลบุญครั้งนี้เพียงเหลือบ ไร เท่านั้น ขอน้องๆที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มจงเข้าใจตามนี้ด้วย  อย่ามาด่าว่า กล่าวร้ายต่อผู้เกษียณตามคำยุแหย่ของอดีตกรรมการบางคนเลย   ถึงเวลาคนผู้นั้นเกษียณ เขาก็จะรู้เอง

         ใครๆก็นึกว่าผู้เกษียณสบาย รับทรัพย์หลังเกษียณอื้อซ่า  นอนกินดอกเบี้ยเงินกู้จากน้องๆ  ผมก็เคยคิดเช่นนั้น  แต่เมื่อเกษียณมาแล้วถึงจะรู้สึก  มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย  เงินทุกบาททุกสตางค์ มันจะร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากมีแต่รายจ่าย  รายรับจากดอกเบี้ยอันน้อยนิดแทบจะช่วยอะไรไม่ได้เลย   ผมสังเกตุดูรุ่นพี่ๆ หลังจากเกษียณมาระยะเวลาหนึ่ง บางคน 7ปี 8ปี 10ปี หรือสิบกว่าปีขึ้นไป จะมาทะยอยลาออกจากสหกรณ์ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงิน "ก้อนสุดท้าย" ที่ฝากไว้กับสหกรณ์ นี่แสดงว่าระบบเงินยังชีพหลังเกษียณที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีระเบียบกฎเกณฑ์การออมที่ยังไม่สามารถคุ้มครองผู้อยู่ในกองทุนให้ยังชีพภายหลังเกษียณได้อย่างแท้จริง  ในความเป็นจริงแล้ว สามารถยังชีพได้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น 

         ชีวิตนี้ฝากไว้กับสหกรณ์ ........
         ดังนั้น การเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์แต่ละครั้ง เราควรติดตามข่าวสารข้อมูล ตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพื่อความมั่นคงของสหกรณ์ฯ ที่เงินก้อนสุดท้ายของพวกเราเก็บออมไว้  การตัดสินใจของคณะกรรมการมีผลกระทบต่อพวกเราอย่างแน่นอน

         แนวโน้มที่น่ากลัวสำหรับผู้เกษียณในขณะนี้ คือรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบาย "ประชานิยม" อย่าง "ยิ่งยวด" การขึ้นค่าแรง การเพิ่มอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับปริญญาตรี  การลดแลกแจกแถมต่างๆ ฯลฯ เราไม่คัดค้าน  แต่ตัวนี้จะเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟื้อสูงขึ้นมาก และโดยเร็ว ราคาสินค้าและบริการต่างๆจะสูงขึ้น  ผู้ที่ยังทำงานอยู่อาจจะไม่กระทบมากนัก เพราะยังมีการปรับเงินเดือนชึ้นตามค่าครองชืพได้ แต่ผู้ที่เกษียณแล้ว จะต้องรับผลกระทบนี้อย่างแน่นอน เราจะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับสินค้าปริมาณเท่าเดิม การใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้นที่จะช่วยยืดอายุเงินของเราออกไปได้ เรื่องนี้หวังว่ากรรมการสหกรณ์คงจะติดตามดูแลอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกระแสการเงินของประเทศ (คงจะทำความเข้าใจสมาชิกส่วนหนึ่งเช่นที่ผ่านมาได้)

          ทั้งหมดนี้คือปัจจัยภายใน ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ว่าเราเตรียมตัวมาอย่างไร  ปัจจัยภายนอกก็คือสถานการณ์บ้านเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจของโลก ซึ่งถ้าติดตามข่าวต่างประเทศขณะนี้ จะทราบว่าฐานะทางการเงินของหลายประเทศเสี่ยงต่อการล้มละลาย ถ้าเป็นเช่นนั้นขึ้นมา แน่นอน  ประเทศไทยจะต้องได้รับผลกระทบแน่ การเปลี่ยนแปลงใดๆมีผลต่อค่าเงิน ค่าครองชีพที่เรามีเงินอยู่จำกัด (เช่นเมื่อคราววิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540) รวมถึงปัจจัยทางผู้บริหารสหกรณ์ที่จะมีความสามารถในการบริหารสหกรณ์ให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากน้อยเพียงไร

         ก็ถือเป็นการพูดคุยทักทายกันระหว่าง "รุ่นใหม่" กับ "รุ่นเก่า" ก็แล้วกันนะครับ จะถือว่ามีสาระก็มี หรือจะว่าไม่มีสาระ ก็ไม่มี รุ่นน้องๆที่ใกล้ๆเกษียณก็เตรียมตัวไว้นะครับ เดี๋ยวนี้เวลามันรวดเร็ว เดี๋ยวปีๆ อย่างน้อยก่อนเกษียณ 5 ปี ควรจะเตรียมตัวให้พร้อมได้แล้ว ที่ผ่านมาได้แก่ตัวผมเอง  ความจริงก็เตรียมตัวอยู่เหมือนกัน  แต่มันไม่มีเงินเหลือจะมาเตรียมอะไรนัก แล้วมาเออรี่รีไทร์ โดยไม่ได้คิดมาก่อน เงินที่ได้มาก็เลยถูกใช้ไปในการเคลียร์หนี้เสียส่วนหนึ่ง ที่เหลือมันก็เลยขลุกขลักหน่อย แต่ก็พออยู่ได้(แบบเขียมๆ)

          ธรรมเนียมจีนเค้าว่า "ทำงานเมื่อวัยหนุ่ม พักผ่อนท่องเที่ยวเมื่อแก่" แต่ของไทยเรามักจะเป็น "หนุ่มๆ มีแรง เที่ยวมันเข้าไป  แก่แล้วไม่มีเงิน ทำงานก็ไม่ไหว ไถลูกไถญาตกินไปก็แล้วกัน" คงไม่มีอย่างนี้นะครับ

          เวลาที่เหลือของท่านช่วงนี้ ก็คงเป็นเวลาเดินสาย "กินเลี้ยง" หรือ "เลี้ยงส่ง" กันทั้งเดือน ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงของ กฟน. งานเลี้ยงของ สหภาพฯ งานเลี้ยงของ สหกรณ์ฯ จากของเพื่อนๆ ฯลฯ

         งานเลี้ยงที่กล่าวมาข้างต้น ผมอาจจะคุยได้ว่าผมไม่เคยสัมผัสมาเลยสักงาน...(ยังมีหน้ามาคุยอีก)

          ปีที่ผมขอเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด เป็นปีแรกที่มีข้อกำหนดว่า ผู้ที่จะเข้าโครงการได้คือตำแหน่งรองหัวหน้าแผนกลงมา หรือผู้ที่มีตำแหน่งสตาฟ(ตำแหน่งลอย-นักบัญชีบ้าง วิศวกรบ้างฯลฯ) นอกนั้นหากมีเหตุจำเป็น ผู้ว่าจะ "พิจารณา" เป็นรายๆไป เมื่อมีคำว่าพิจารณาเป็นรายๆไป เราก็มีความหวังว่าจะได้รับการพิจารณา (เพราะจ้าวนายไม่ค่อยชอบขี้หน้า คิดว่าคงอยากให้ออกๆไป) แต่แล้วก็ไม่ได้รับการพิจารณาเสียทีรอแล้วรอเล่ารวมกับผู้ร่วมชะตาเดียวกันอีกสิบกว่าคน  เมื่อติดตามเร่งรัดกันหนักเข้า ในที่สุดก็ได้รับการพิจารณาอนุมัติเอาในวันสุดท้าย วันรุ่งขึ้นก็หมดสภาพการเป็นพนักงาน หลังจากที่พวกเราต้องรวมตัวกันมาขอคำตอบที่หน้าห้องประชุม MC  "เจ๋ง"จริงๆ ท่านผู้ว่า(ในขณะนั้น) นึกถึงเหตุการณ์ตอนนั้นแล้วอยากจะเขียนเล่าให้เพื่อนๆได้ฟังจังเลย  และอยากจะเจอผู้ร่วมชะตาเดียวกันมาสังสรรกันสักวัน คงมีเรื่องเล่าสนุกๆสู่กันฟัง

          ด้วยเหตุนี้แหละครับ ผมเลยไม่ได้รับการบริการก่อนเกษียณใดๆจาก กฟน. เช่นไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ก่อนเกษียณ ไม่ได้ไปอบรมวิชาชีพ ไม่ได้ไปงานเลี้ยงส่งของ กฟน. ไม่ได้ปัจฉิมนิเทศน์ ฯลฯ เพราะแต่ละที่เค้าบอกว่าไม่มีชื่อเราในรายการ(เพราะผู้ว่ายังไม่อนุมัติ)  ในส่วนของสหภาพ เค้ามีกติกาว่าเราจะมางานเลี้ยงได้เมื่ออายุครบเกษียณจริง พอถึงปีเกษียณจริง ไม่รู้เราอยู่ไหน สหภาพเค้าจัดงานเมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้ เลยไม่ได้ไป  แต่พอมาถึงวันงานเลี้ยงของสหกรณ์ฯ นัดขึ้นรถกันที่เพลินจิต  ไม่รู้วันนั้นเป็นอะไร ในซอยไม่มีแทกซี่ผ่านเลย ออกไปปากซอยเรียกแท็กซี่ ไม่มีใครยอมไป จนกว่าจะได้รถก็ไปไม่ทันเสียแล้ว เลยอดไปอีก สรุปว่านอกจากงานเลี้ยงของ กฟน.แล้ว งานเลี้ยงของสหภาพฯ, งานเลี้ยงของสหกรณ์ฯ ก็ไม่มีโอกาสได้สัมผัสอีก ทั้งๆที่เราก็ทำงานให้องค์กรเหล่านี้มาพอสมควร  ขณะนี้ได้รับเชิญมาเป็นที่ปรึกษาให้สหภาพฯด้านประชาสัมพันธ์ เค้าเลี้ยงผู้เกษียณกัน ก็นึกว่าเค้าจะชวนไปด้วย ก็ตั้งใจจะไปเก็บข่าวเก็บรูปมาดูกัน  แต่เขาก็ไม่ชวน (สงสัยจะแก่เกิน)  เราก็เลยยังไม่ได้ไปอยู่ดีนั่นแหละ คิดว่าต่อไปนี้เราจะรักษาสถิตินี้ไว้ดีกว่า ต่อไปคงไม่คิดจะไปงานไหนอีกแล้ว จะได้เอาไว้คุยได้ไง...นี่แหละครับ ที่เขาเรียก บุญมี แต่กรรมมันบัง (ซะงั้นแหละ)

          คนเรา บางทีมันมีอะไร อะไร ไม่เหมือนใครบ้าง ก็ดีเหมือนกันนะครับ


          สุดท้าย  ขอให้ผู้ที่จะเกษียณในปีนี้ จงมีความสุขในการใช้ชีวิตใหม่ของท่านนะครับ อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวเล็กน้อย สำหรับท่านที่ใช้ Facebook ขอเชิญมาพูดคุยแก้เหงากันได้นะครับ ผมอยู่ที่ http://facebook.com/Bhisdarl Thavibhoka  หรือ E-mail มาได้ที่ bhisdarl@gmail.com  อีกที่หนึ่งคือ http://facebook.com/ชุมชนคนเกษียณ  ลอง search ดูนะครับ

         สวัสดีครับ  ขอให้โชคดีทุกท่าน นอนหลับฝันดีนะครับ....



*************



No Response to ""คนรุ่นใหม่""

แสดงความคิดเห็น