วิบากกรรมของผู้นำ

วิบากกรรมของผู้นำ

          ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 และเสาร์ที่ 30 เดือนกรกฏาคม 2554 มีข่าวที่คล้ายคลึงกันอยู่สองข่าว  เป็นข่าวของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ความถูกต้อง ความไม่เป็นธรรมในสังคม ฯลฯ หรือที่เรามักเรียกกันว่าผู้นำ




          ข่าวแรกเป็นข่าวศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าอนุญาตให้โจทย์(การรถไฟ)เลิกจ้างจำเลยทั้งเจ็ด (นายสาวิตย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กับพวกรวม 7 คน) และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทย์รวมเป็นเงิน 15 ล้านบาท....





         อีกข่าวหนึ่งคือข่าวการสังหารแกนนำในการต่อต้านถ่านหินมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร คือนายทองนาค เสวกจินดา โดยโดนยิงในร้านก๋วยเตี๋ยว หน้าบ้านของตนเอง


         ไม่ทราบว่ามีใครคิด หรือสังเกตุเหมือนผมหรือไม่


              หนึ่ง....สองท่านนี้เป็นผู้นำหรือแกนนำในการต่อสู้จากชนชั้นล่าง  สู้เพื่อความเป็นธรรมของผู้ใช้แรงงาน สู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้าน

          สอง....2 ท่านนี้ "แพ้" ทั้งคู่  ท่านแรก คุณสาวิทย์ โดนเลิกจ้าง ถือได้ว่า "แพ้" ทาง "กฎหมาย"  ท่านที่สอง คุณทองนาค "แพ้" ทาง "อาญาเถื่อน"

          ผมจึงมีความเห็นว่าในความเป็นจริงในปัจจุบัน  แม้ว่าเราจะเห็นว่าในสังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น มีองค์กรอิสระเกิดขึ้นมากมาย  แต่ในทางกฎหมายที่ร่างขึ้นมาจาก "ผู้แทนปวงชน" ที่มาจากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น หรือมาจากผู้ที่ได้รับความอุปถัมถ์จากพ่อค้านายทุนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่พยายามเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง เพื่อดูแลปกป้องทรัพย์สินมรดกของพวกตน คนพวกนี้จะไม่ยอมปล่อยกฎหมายใดๆทีจะออกมาบั่นทอนการกอบโกยผลประโยชน์ของพวกตน  กฎหมายเหล่านี้ก็ยังคงเอื้อประโยชน์ให้แก่บรรดานายทุน นักการเมืองผู้ยึดครองประเทศอยู่ดี

          ผู้ยากจนที่บุกรุกที่หลวง ถูกจับติดคุก แต่ผู้ร่ำรวยมีอิทธิพลสามารถยึดครองที่หลวงได้เป็นพันๆไร่ โดยไม่มีใครกล้าแตะต้อง แม้แต่ที่วัดยังไม่ละเว้น  ผู้ใช้แรงงานต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ถูกเอาเปรียบทางสังคม ต้องถูกลงโทษ  แต่นักการเมืองที่แก้กฎหมายเพื่อพวกพ้อง เพื่อการยึดครองประเทศ เพื่อกอบโกยทรัพยากรของชาติ กลับเป็นใหญ่เป็นโต ร่ำรวยล้นฟ้ากันถ้วนหน้า

          ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือกฎหมายทรัพย์สินและกฎหมายมรดก ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะเก็บภาษีจากคนรวยที่ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินไว้เป็นจำนวนมาก คนหนึ่งๆมีที่ดินเป็นพันเป็นหมื่นไร่  จนคนจนๆไม่มีที่ทำกินต้องไปบุกรุกป่า (คนเหล่านี้ก็ยังตามไปยึดครอบครองได้อีก)

          มีรัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากอำมาตย์ เคยหาเสียงไว้ว่าจะออกกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สินและมรดก  แต่หลังจากเป็นรัฐบาลจนจะกลายเป็นฝ่ายค้านในว้นสองวันนี้ก็เก็บปากเงียบ คงจะกลัวเพื่อนร่วมรัฐบาลตบปาก(แต่เมื่อเป็นฝ่ายค้านแล้ว อาจจะนำกฎหมายนี้มาหาเสียง "หลอกคนจน" อีกต่อไป)  แม้แต่แกนนำที่เรียกตัวเองว่า "ไพร่" ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอำมาตย์ก็ไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องนี้ในการปราศรัยปลุกระดม "ไพร่" ไม่ว่าที่ไหน  คงจะกลัว "เจ้านาย" ตบปากเช่นกัน

          ที่ผมกล้าพูดได้ว่ากฎหมายนี้ไม่มีทางออกมาได้ ก็เพราะว่ากฎหมายนี้ถูกร่างมาตั้งแต่สมัยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อเริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และไม่ว่าจะเสนอขึ้นมาในรัฐบาลใด ก็ต้องตกไปทุกที นี่ก็จะร่วมร้อยปีเข้าไปแล้ว กฎหมายนี้ก็ยังออกมาไม่ได้  ดังนั้นถ้าพรรคไหนมาพูดเรื่องนี้ ตอบได้เลยว่า "โกหก" หรือจะใช้ภาษาบ้านๆว่า "ตอแหล" ก็คงไม่ผิดนัก

        แต่เรื่องภาษีที่เก็บจากคนจนเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิต เช่นเหล้า บุหรี่ ฯลฯ รวมถึงภาษีทางอ้อมทั้งหลายที่เก็บจากคนจน เก็บได้เก็บดี ออกกฎหมายมาเก็บได้ง่ายเหลือเกิน  แต่ภาษีเงินได้ของคนรวยกลับลดลง 

         นี่แหละครับ ในเมื่อกฎหมายร่างมาจากอำมาตย์นายทุน มันจะเป็นคุณต่อ "ไพร่ตัวจริง" (ไม่ใช่ไพร่ แด...ไวน์) ได้อย่างไร  ท่านผู้พิพากษา ท่านก็ต้องตัดสินไปตามต้วบทกฎหมายที่เขียนไว้ จะไปว่าท่านก็ไม่ได้ (เดี๋ยวติดคุก)

          ก็คงทำได้แค่ขอแสดงความเห็นใจ และขอเป็นกำลังใจให้คุณสาวิตย์ได้ต่อสู้ต่อไป ในเส้นทางที่คุณสาวิทย์ถนัด

          นี่คือการพ่ายแพ้ ที่ต่อสู้ตามตัวบทกฎหมาย

         สำหรับคุณทองนาค เสวกจินดา  ซึ่งก็ได้พยายามต่อสู้ตามช่องทางของกฎหมาย คือใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย  แต่ฝ่ายตรงข้ามกับคุณทองนาค ดูจะสู้ไม่ได้ในแนวทางนี้ จึงใช้ระบบทางลัดคือ "ศาลเตี้ย" ตัดสินไปเสียก่อน ในฐานที่มีการกระทำเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของนายทุน  ก็ต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณทองนาค เสวกจินดา ที่ต้องสูญเสียผู้นำทั้งของครอบครัวและของมวลชน และหวังว่าระบบการปกป้องคุ้มครองพลเมืองของรัฐคงจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของผู้มีอิทธิพล

        ตราบใดที่ประเทศไทย ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอิทธิพลเถื่อน  จากนักการเมืองที่เติบโตมาจากเจ้าพ่อท้องถิ่น  จากกฎหมายที่เอื้อให้คนเหล่านี้กอบโกยทรัพยากรของชาติ  ความสูญเสียคนอย่างคุณทองนาค ที่ผ่านมาแล้วมีมากมาย  และก็จะยังมีอีกต่อไป  ถ้าเรายังมีนักการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้

         นี่คือการ "แพ้" อีกรูปแบบหนึ่ง คือการ "แพ้" อิทธิพลมืด อิทธิพลเถื่อน

         แต่ทั้งสองท่านนี้ คงจะไม่แพ้ในจิตใจของเพื่อนร่วมงาน ไม่แพ้ในจิตใจของ "ชาวบ้าน" ที่ตกอยู่ในชตากรรมเดียวกัน

          เมื่อผมมองถึงสองกรณีนี้ จึงขอสรุปว่า การต่อสู้ของผู้ที่ด้อยกว่าไม่ว่าจะทางสังคม ทางฐานะ ทางอำนาจ ก็มักจะจบลงบนความพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะสู้โดยวิธีใด  ที่ผ่านมา เราต้องเสียผู้นำระดับมวลชนไปเป็นจำนวนมาก  แต่กฎเกณฑ์ของผู้ปกครองที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนระดับล่างก็ยังคงมีอยู่ต่อไป

          ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ได้ทราบจาก Facebook คุณประจวบ คงเป็นสุข ว่าประธานสหภาพฯ และคณะกรรมการ จะไปติดตามขอทราบความคืบหน้าในการยื่นข้อเรียกร้องที่ยื่นไว้ต่อฝ่ายบริหารเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว  ก็อยากจะเชิญชวนสมาชิกสหภาพทั้งหลาย ช่วยส่งกำลังใจไปให้ผู้นำของเราด้วย (ตัวยังไม่ต้องไปใช่ไหมครับ ท่านประธาน) และขออำนาจของธรรม ช่วยดลบันดาลให้ผู้ที่กระทำเพื่อส่วนรวม จงประสบความสำเร็จในภารกิจอันเป็นธรรมนี้ด้วย

         ที่ผมนำผลแห่งการทำหน้าที่ของผู้นำทั้งสองท่านมากล่าวถึง มิได้จะมาบั่นทอนขวัญกำลังใจในการต่อสู้ของกรรมการสหภาพทั้งหลายที่จะต้องมีภารกิจอีกมากมายที่จะต้องกระทำ  แต่ต้องการกล่าวไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ ให้มีความรอบคอบในการดำเนินการต่างๆต่อไป ให้มีกำลังใจอย่าทดท้อ  ต้องมั่นคงในคำมั่นที่ให้ไว้กับสมาชิก 

          อย่าลืมว่าฝ่ายบริหารนั้นมีทั้งกฎหมาย บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือมากมายที่เหนือกว่าท่าน พวกท่านมีแต่ "ใจ" จึงขอให้รวมใจของกรรมการทุกคนและสมาชิกทุกท่านเป็นหนึ่งเดียว การกระทำทุกอย่างต้องเป็นไปเพื่อส่วนรวม  ถ้าทำได้ดังนี้ผมเชื่อว่าท่านจะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
        
          แล้วจะรอดู เมื่อวันนั้นมาถึง.....
          ขอให้ประสบความสำเร็จครับ......



************

1 Response to วิบากกรรมของผู้นำ

23 มิถุนายน 2559 เวลา 22:22

น่าคิดทั้งสองกรณี..แต่เรื่องภาษีฯตอนนี้กำลังจะมาแล้วครับ..555

แสดงความคิดเห็น