คนค้นคน...ในอดีต 1


คนค้นคน...ในอดีต




  เบ็ญจะ จิตต์ชื่นโชติ

          เมื่อถึงเดือนสิงหาฯกันยาฯของแต่ละปี ร้านอาหารต่างๆก็มักจะถูกจับจองกันด้วยงานที่มีประจำกันทุกปี ก็คืองานเลี้ยงเกษียณสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเมื่อนับถึงวันที่ 30 กันยายนในปีนั้นๆ

          บรรยากาศจะเต็มไปด้วยความอาลัยอาวรณ์ การสรรเสริญคุณงามความดี การกล่าวคำอำลา การใหัคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ลืมกัน จะจำวันที่มีความสัมพันธ์กันมาตลอดไป  แต่มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ท่านแซวว่าเวลามีคนเกษียณเนี่ย ไอ้ลูกน้องที่มาอวยพรน่ะ ในใจมันก็บอก "มึงไปซะที กูจะได้ขึ้นมั่ง"

        เวลามีรุ่นพี่ๆเกษียณ แรกๆเราก็คิดถึง เพราะเคยกินเคยเที่ยวกันมา เคยคุยสนุกสนานถูกคอกัน  แรกๆก็ไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกันบ้าง แต่ต่อๆมาชักจะติดภาระงานมากขึ้น หรือมีภาระจะต้องไปงานเพื่อนคนอื่นบ้าง อีกทั้งรุ่นพี่ที่เกษียณมีอายุมากขึ้น สุขภาพก็ไม่สามารถสนุกสนานเฮฮาได้เหมือนก่อน  ความห่างเหินจึงค่อยๆเริ่มขึ้น จนในที่สุดก็แทบไม่ได้พบเจอกันเลย

         เมื่อถึงคราวเราเกษียณบ้าง เราก็ตกอยู่ในสภาพนี้เช่นกัน

         เคยคิดเหมือนกันว่า รุ่นพี่ๆที่เค้าเกษียณกันไป มีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง เป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ สมัยก่อนโทรศัพท์ก็ไม่แพร่หลายเช่นเดี๋ยวนี้ จะติดต่อกันทีก็ต้องไปหากันที่บ้าน บางคนเกษียณแล้วย้ายบ้านหรือย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ก็เป็นอันว่าเลิกติดต่อกันไปเลย  ถ้าลูกเมียเค้าไม่รู้จักเราไปรู้กันอีกทีก็ในใบแจ้งของ "ฌาปณกิจสงเคราะห์" นั่นแหละ งานส่งงานศพก็ไม่ต้องไปกันหรอก

         ผมเคยมีความคิด อยากเป็นสื่อตรงนี้ให้มีข่าวคราวของผู้เกษียณบอกเล่าเก้าสิบให้เพื่อนฝูงหรือคนที่รู้จักได้ทราบข่าวความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงกันบ้าง แต่ก็ติดที่ผู้เกษียณส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยนิยมใช้คอมพิวเตอร์กัน แม้แต่ที่ผมเกษียณมาหลายปีแล้วรุ่นน้องๆที่เพิ่งเกษียณก็ไม่ค่อยมีใครใช้คอมพิวเตอร์กันนัก  ความคิดของผมจึงต้องเป็นหมันไป

          แต่ก็ยังไม่ละความพยายามครับ อย่างน้อยก็ยังมีรุ่นที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบันอาจจะอยากรู้เรื่องราวของรุ่นพี่ๆบ้าง  มีพี่ๆบางคนที่เคยมีกิจกรรมที่ต่อมาเป็นคุณประโยชน์เป็นผู้ริเริ่มให้พวกเรารุ่นหลังๆได้สิทธิประโยชน์ต่างๆอยู่ทุกวันนี้ นอกจากคุณไพศาล ธวัชช้ยนันท์ที่พวกเรารู้จักกันดี ก็ยังมีท่านอื่นที่ควรกล่าวถึงอยู่อีกบ้างที่อยากให้สังคมได้รับรู้ไว้  วันนี้ผมจึงขอเริ่มด้วยคนที่ผมค่อนข้างรู้จักสนิทสนมกับท่านพอสมควร(ไม่กล้าใช้คำว่าสนิทมาก) โดยเฉพาะในครั้งแรกที่ผมสมัครเข้ารับเลือกเป็นกรรมการสหภาพฯครั้งแรกเมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว ผมได้รับหมายเลขสี่ ท่านก็กรุณาเดินฝากเพื่อนฝูงขอคะแนนให้หมายเลขสี่เบอร์นึง ทั่วลานวัดเลียบ ในที่สุดก็ได้รับการเลือกตั้ง ก็คงจะทั้งทีมละครับเพราะอยู่ทีมเดียวกับคุณไพศาลฯนั่นเอง



  
         เบ็ญจะ จิตต์ชื่นโชติ หรือ "พี่จะ" คือบุคคลที่ผมจะแนะนำในวันนี้
      
      เบ็ญจะ จิตต์ชื่นโชติ เกิดเมื่อ 80 ปีที่แล้ว คือ พ.ศ. 2476 ไม่มากไม่มาย..อิจฉาจริงๆ 80 แล้วยังกระฉับกระเฉงได้ขนาดนี้  เป็นเด็ก "เต้บ" ครับ เกิดที่กรุงเทพนี่เอง เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศจนจบมัธยม 6 ซึ่งขณะนั้น ร.ร.วัดบวรฯยังไม่มี ม.7 ม.8  จึงได้ออกมาสมัครสอบเข้า ร.ร.จ่าอากาศ เนื่องจากเห็นว่าทุกอย่าง "ฟรี" หมด  เรียนอยู่เหล่าอิเลคทรอนิค 3 ปี เรียนที่นี่ก็ดี เพราะทุกอย่างฟรีหมด เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี แถมยังมีเบี้ยเลี้ยงให้อีก  เรียนจบแล้วไม่ต้องไปหางานที่ไหน ได้ติดยศจ่าอากาศโทเลย เทียบวุฒิเท่ากับ ปวช. (ไม่ได้ถามว่ารุ่นๆเดียวกับสุรพล สมบัติเจริญหรือเปล่า แต่คงอยู่คนละเหล่า)

       จบแล้วต้องทำงานใช้ทุน(ที่กินฟรีของหลวงมา) 8 ปี อุตส่าห์ทำงานใช้หลวงมา 3 ปี นอนร้องเพลงน้ำตาจ่าโททุกวันจนทนไม่ไหว ขืนนอนร้องเพลงอยู่อย่างนี้ โดยไม่มีแมวมองมาขอตัวเหมือนสุรพล คงไม่พ้นเป็นจ่าแก่ๆแน่ อยากหาโอกาสก้าวหน้ามากกว่านี้ จึงไปขอลาออกจากราชการก่อนครบกำหนดใช้ทุน หลวงเลยเรียกค่าเสียหายที่เรียนฟรีกินฟรีอยู่ฟรีไป 5,000 บาท ในสมัยนั้นก็มากไม่เบาอยู่เหมือนกัน  หลังจากนั้นก็ไปสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เรียนคณะอิเลคทรอนิคอีก 2 ปีก็จบ ได้วุฒิ ปวส.ที่อยากได้สมปรารถนา

         พอดีกับจังหวะที่การไฟฟ้านครหลวงมีโครงการเปลี่ยนระบบแรงดันไฟฟ้าจาก 110 โวลท์ เป็น 220 โวลท์ จึงมีการรับสมัคร ช่างระดับ ปวช. และ ปวส. เป็นจำนวนมาก โอกาสนี้จึงได้สมัครเข้าทำงานได้ที่ กองเปลี่ยนแรงดัน การไฟฟ้านครหลวง ตำแหน่งนายตรวจงาน เมื่อปี พ.ศ. 2503 อายุได้ 27 ปีพอดี  นี่คือสาเหตุที่มาเริ่มทำงานที่ กฟน.ช้ากว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน  การทำงานขณะนั้นสนุกมากเพราะต้องตระเวณไปทั่วกรุงเทพ ธนบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี ต้องเข้าไปในสถานที่ทุกที่ที่ใช้ไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนระบบแรงดันฯ (ไม่ได้ถามว่าที่ชอบน่ะ เพราะมีโอกาสพบเจอสาวๆตามบ้านตามที่ทำงานต่างๆหรือเปล่า)

        เปลี่ยนแรงดันอยู่ 3 ปีจนไม่ค่อยจะมีแรงจะดัน โครงการก็เสร็จพนักงานต่างๆจึงต้องแยกย้ายกันไป จึงได้ย้ายไปอยู่ฝ่ายจำหน่าย ประมาณการกลางอยู่นาน เมื่ออาวุโสขึ้นเงินเดือนตันแล้ว จึงได้ย้ายไปอยู่เขตนนทบุรี ต่อมาเมื่อเขตบางพลีเปิด ก็ถูกย้ายไปอยู่เขตบางพลี ที่เขตนี้ต้องเดินทางไกลจากบ้านมาก จะเรียกว่า "ลำบากเมื่อแก่" ก็คงจะได้ แต่เมื่อ "นาย" ขอให้ไป (คงไม่มีคนอื่นที่อยากไป) เราก็เคยเป็นทหารมาก่อน ถือระเบียบวินัยเป็นที่ตั้ง ผู้บังคับบัญชาสั่งมา เราก็ต้องปฏิบัติตาม  และก็เกษียณที่เขตบางพลีนี่แหละในตำแหน่ง หัวหน้าแผนกเครื่องวัดฯ สมัยนั้นวุฒิ ปวส.ขึ้นถึงหัวหน้าแผนกก็ถือว่าสููงแล้ว เพราะปกติตำแหน่งระดับนี้เขาสงวนไว้ให้วิศวกรเท่านั้น



ความสุขเล็กๆน้อยๆ สำหรับ สว.


         ตลอดเวลาที่ทำงานมา "พี่จะ" ได้ร่วมกิจกรรมของสังคมเพื่อส่วนรวมมาตลอด โดยเป็นกรรมการตั้งแต่สมาคมลูกจ้างฯในสมัยแรก  ต่อมาเป็นกรรมการสหภาพแรงงานฯ  เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ร่วมกับไพศาล ธวัชชัยนันท์  เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นที่ปรึกษาฯ  เป็นคณะผู้ก่อตั้งชมรมผู้เกษียณอายุุสหกรณ์ออมทรัพย์ ชสอฟ. เรียกได้ว่าเป็นมาแล้วทุกอย่างที่เป็นของผู้ใช้แรงงาน  โดยยึดอุดมการณ์ในการทำงานว่า ต้องซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน ประหยัด เป็นที่ตั้ง




          หลังจากที่เกษียณมานานแล้วก็เริ่มปล่อยวาง ทำใจให้สบายๆ ปล่อยให้รุ่นน้องๆเขาทำกันไป  มีเวลาก็มาพบปะเพื่อนฝูงกัน โรงพยาบาล กฟน.ที่สามเสนจึงถูกใช้เป็นที่พบปะนัดหมาย  ซึ่งที่จริงแล้วคงไม่ได้นัดกันหรอก ที่มาพบกันเพราะหมอเป็นผู้นัดให้ แล้วพวกเราก็มาเจอะกันเอง (ต้องขอบคุณคุณหมอ) โดยเฉพาะวันพุธ กายภาพบำบัด ฝ่ายการแพทย์ โดยคุณจุฑารัตน์ฯกรุณาจัดดนตรีมาเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แสดงความสามารถในเสียงเพลง "พี่จะ" ก็ได้มาร่วมเกือบทุกพุธ บ่ายก็กลับบ้าน ก็ได้ออกกำลังกายไปในตัว โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มีอะไร นอกจากขาไม่ค่อยดีไปหน่อย(ไม่ค่อยเชื่อฟัง) ต้องใช้ "เท้าที่สาม" ช่วย  ตอนนี้บ้านพักก็อยูในบริเวณเดียวกันกับลูกหลาน ก็มีความสุขดี ทุกคนก็ดูแลเป็นอย่างดี

          สุดท้ายฝากถึงน้องๆที่กำลังจะเกษียณ ว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องใช้ยังชีพเมื่อไม่มีรายได้แล้ว  การใช้จ่ายต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อเกษียณใหม่ๆ ใครก็รู้ว่ามีเงิน ไม่ว่าลูกหรือญาติพี่น้องก็จะมาขอมายืม ช่วงนี้ถ้าใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง เงินก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว  อีกอย่างการไปลงทุนอะไรที่เราไม่ชำนาญต้องระมัดระวัง เช่นการเล่นหุ้น  การจัดตั้งสหกรณ์มาก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการออม หรือถ้าจะกู้ก็กู้ไปใช้ทำประโยชน์ในการสร้างฐานะ ไม่ใช่กู้ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จนเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว




ลองทายกันสิครับว่า "พี่จะ" คือคนไหน
รุ่นนี้ความหล่อของแต่ละคนเป็นพระเอกหนังได้สบายๆ


สมัยที่เป็นที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ

         วันนี้ลองเปิดตัวคอลัมน์ "คนค้นคน...ในอดีต" เป็นครั้งแรก ก็นับได้ว่า คุณเบ็ญจะ จิตต์ชื่นโชติ เป็นผู้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จตามฐานะได้คนหนึ่ง รวมทั้งมีการรักษาสุขภาพที่ดี มีอายุมากแล้วยังแข็งแรง และในสมัยยังทำงานอยู่ก็ได้ร่วมทำประโยชน์ทางสังคมทั้งในสหภาพแรงงานฯ ในสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ รวมทั้งร่วมก่อตั้งชมรมผู้เกษียณของ สอฟ. เป็นผู้ร่วมพัฒนาปรับปรุง ต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม สิทธิประโยชน์ต่างๆ จนทั้งสององค์กรมั่นคงเข้มแข็งจนเป็นที่พึ่งที่ดีของสมาชิกในปัจจุบันนี้คนหนึ่ง 

         มิตรสหายท่านใดหากคิดถึงกัน สามารถโทรไปได้ที่หมายเลข 08 6633 0226 ยินดีรับสายครับ แต่อาจช้าหน่อยนะครับ ตามประสาผู้สูงวัย

        สำหรับบุคคนต่อไปที่จะแนะนำ ยังไม่ทราบว่าจะเป็นใคร ถ้ามีโอกาสและข้อมูลจะได้นำมาเสนอต่อไป หรือใครมีคำแนะนำเชิญได้ครับที่
       bhisdarl@gmail.com  หรือที่ Facebook  สองวัย ใจตรงกัน  
       หรือคลิ๊กที่มุมบนซ้ายเหนือบล็อกนี้ได้เลยครับ
       หรือโทร. 08 0303 1916 


ขอให้ทุกท่านโชคดี
สวัสดีครับ



****************

1 Response to คนค้นคน...ในอดีต 1

9 ธันวาคม 2560 เวลา 12:20

ปู่หนูเองค่าาาา เท๊เท่เนอะๆๆ อิอิ

แสดงความคิดเห็น