บทเรียนจากอดีต



บทเรียนจากอดีต

ก็ผ่านมาแล้วร่วมสิบวัน สำหรับผู้ที่ครบเกษียณในปีนี้ แต่ละคนก็คงปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ไปตามสไตล์ของแต่ละคน

บางคนมีเวลาว่างก็อาจนั่งหวนคิดคำนึงนึกถึงความหลัง ว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นอย่างไรมาบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาในชีวิตมันจะมีผลให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปอย่างไรบ้าง มาถึงทุกวันนี้คงมีบางสิ่งบางอย่างที่เราคิดว่าไม่ควรทำ หรืออาจจะมีบางสิ่งที่มาคิดได้ตอนนี้ว่าเราน่าจะทำแต่ไม่ได้ทำ นี่คือประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคน ซึ่งมาถึงเวลานี้มันก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราเอาประสบการณ์ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดี มาบอกกล่าวเล่าขานให้รุ่นหลังๆได้รู้ไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ที่ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกให้เสียเวลา อย่างน้อยจะตัดสินใจอะไรก็มีแนวทางให้คิด

วันนี้ผมจึงขออนุญาตคัดลอกนำบทความของ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มองมุมใหม่" จากกรุงเทพธุรกิจ bangkokbiznews.com เรื่อง "บทเรียนมีคุณค่าจากผู้สูงอายุ" ซึ่งได้นำประสบการณ์ของชาวอเมริกันที่มีอายุเกิน 70 ปีขึ้นไปมาฝากไว้ให้ลูกหลาน....

ลองอ่านกันดูนะครับว่ามีข้อไหนที่ตรงกับของเรากันบ้างหรือไม่ แล้วตอนท้ายลองมาคอมเม้นท์กันดู



บทเรียนมีคุณค่าจากผู้สูงอายุ


ในสังคมยุคดิจิทัลเรามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคำแนะนำ หรือประสบการณ์ของผู้มีอายุกันเท่าไร ยุคนี้หลายคนถือว่าเป็นยุคของคนรุ่นใหม่

ดังนั้น ผู้สูงอายุหรือผู้มีประสบการณ์จึงมักไม่ใช่แหล่งที่เราจะเข้าไปหาเมื่อมีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำ คนรุ่นใหม่มักจะหันหน้าเข้าหาผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ หรือไม่ก็หนังสือพวก Self-Help หรือไม่ก็ปรึกษา Google เลย เรามักจะมองว่าบรรดาผู้สูงอายุหลายๆ ท่านไม่ทันสมัย ชอบแต่เล่าเรื่องเก่าๆ ไม่ทันต่อยุคและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แต่จริงๆ ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง เราจะพบว่าบรรดาผู้สูงอายุทั้งหลายนั้นได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และกว่าที่อายุจะยืนยาวได้ถึงระดับหนึ่งย่อมจะต้องได้เรียนรู้ในบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่า ที่หนังสือหรือเว็บไหนก็ไม่สามารถที่จะทดแทนได้ ถึงแม้สภาวะแวดล้อมในอดีตกับปัจจุบันไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่แก่นและหลักการพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตย่อมไม่ต่างกันมาก

ในต่างประเทศนั้นได้มีอาจารย์ท่านหนึ่งของ Cornell ชื่อ Karl Pillemer ซึ่งได้ไปสัมภาษณ์ชาวอเมริกันที่อายุเกิน 70 ปีขึ้นไปมากกว่า 1,200 คน โดยคำถามเด็ดนั้นอยู่ที่ว่า “จากประสบการณ์ชั่วชีวิตคุณ อะไรคือบทเรียนสำคัญที่สุดที่อยากจะฝากไว้ให้ลูกหลาน” แล้วก็นำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ 30 Lessons for Living ครับ แต่เขาได้คัดเลือกบทเรียนสำคัญ 10 ประการที่โดดเด่นเอาไว้ครับ โดยบทเรียนทั้ง 10 ประการ ประกอบด้วย

1. ให้เลือกอาชีพโดยดูจากความต้องการภายในมากกว่าผลตอบแทนด้านการเงิน โดยบรรดาผู้สูงวัยกล่าวว่าความผิดพลาดสำคัญในการเลือกอาชีพของเขา คือ การเลือกอาชีพโดยดูจากผลตอบแทนมากกว่าสิ่งที่ชอบและคุณค่าของอาชีพ

2. ให้ปฏิบัติต่อร่างกายเหมือนกับต้องใช้งานไปอีกร้อยปี โดยให้ลดและเลิกพฤติกรรมที่ทำร้ายร่างกายเราไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ กินอาหารที่ไม่ดี หรือไม่ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราเสียชีวิตในฉับพลัน แต่ทำให้เราเกิดความทรมานเมื่อสูงวัย

3. ตอบตกลงต่อโอกาสที่เข้ามา โดยเมื่อมีโอกาสหรือความท้าทายเข้ามา ต้องอย่าปฏิเสธครับ เพราะส่วนใหญ่มักจะมาเสียใจหรือเสียดายในภายหลัง
 

4. เลือกคู่ด้วยความระมัดระวัง อย่ารีบร้อนตัดสินใจ ใช้เวลาในการดูและทำความรู้จักคนที่เราจะอยู่ด้วย อย่ารีบด่วนตัดสินใจที่จะอยู่ด้วยกันจนกว่าจะรู้จักอีกฝ่ายหนึ่งอย่างถ่องแท้
 
5. เที่ยวให้มากไว้ (ชอบมากครับ) เมื่อมีโอกาสให้เดินทาง ครับ คนสูงวัยส่วนใหญ่จะมองย้อนกลับมายังโอกาสต่างๆ ที่ได้ท่องเที่ยวเดินทาง และมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ และมีคุณค่าของชีวิตเลยทีเดียว
 
6. ให้พูดในสิ่งที่อยากจะพูดเดี๋ยวนี้ เนื่องจากเรามักจะเสียใจและเสียดาย ว่าไม่ได้พูดในสิ่งที่เราอยากจะพูดกับหลายๆ คน เมื่อไม่มีโอกาส เราจะมีโอกาสแสดงความรู้สึกที่แท้จริงต่อผู้อื่นได้ ก็ต่อเมื่ออีกคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นนะครับ
 
7. เวลาเป็นของมีค่า ชีวิตของเรานั้นแสนสั้น แต่ไม่ใช่ให้มานั่งเศร้า นะครับ แต่ให้ทำในสิ่งที่สำคัญและมีค่าเดี๋ยวนี้ เนื่องจากยิ่งเราอายุมากขึ้น เราจะพบว่าเวลายิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วขึ้น
 
8. ความสุขเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขต่างๆ คำแนะนำหนึ่ง ก็คือ จงรับผิดชอบต่อความสุขของตัวเราเองตลอดชีวิตเรา

9. การใช้เวลามานั่งกังวลต่อสิ่งต่างๆ นั้นเป็นการเสียเวลา ดังนั้น ให้หยุดกังวลครับ หรือไม่ก็พยายามลดความกังวลลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลในสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น
 
10. คิดเล็ก-อย่าคิดใหญ่ ค่อยๆ ซึมซับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นสิ่งที่ดีในชีวิตเรา และมีความสุขกับสิ่งเหล่านั้นครับ
 
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นตรงกันนะครับว่าข้อคิดดีๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ในประเทศไทยเองก็น่าจะมีการศึกษาในลักษณะนี้เหมือนกันนะครับ เพื่อรวบรวมบทเรียนสำคัญของชีวิตจากผู้ที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เอาไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับรุ่นหลังต่อไปครับ


.................

อ่านจบแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ ไล่มาตั้งแต่ข้อ 1 นะครับ

1. เรื่องการเลือกอาชีพ...
ผมเคยอ่านงานวิจัยฯว่าคนที่เลือกอาชีพตรงกับที่ชอบนั้น ถ้าจำไม่ผิด มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะเลือกอาชีพให้ถูกใจได้ ขอให้มีงานทำก็บุญแล้ว ยกเว้นพ่อรวยขนิดที่ไม่ต้องมีอาชีพก็ได้

2. ให้ดูแลรักษาร่างกาย...
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง หลายคนประสบกับตัวเองมาแล้ว วัยหนุ่มวัยสาวร่างกายยังแข็งแรง กินเหล้าเมายาอดหลับอดนอน สบายมาก แต่พอมาตอนนี้เพื่อนๆรุ่นเดียวกันที่เขาไม่สมบุกสมบัน เขายังเดินปร๋อ แต่เราเองต้องกินยาเป็นกำมือ น้องๆพึงระมัดระวังไว้ ยามสนุกเพื่อนสนุกด้วย ยามทุกข์เราทุกข์คนเดียว

3. ตอบรับโอกาสที่เข้ามา...
คำสอนของฝรั่งเค้าว่าโอกาสมันเหมือนหน้าต่าง(window)มันเปิดแล้วมันก็ปิด มันไม่ได้เปิดไว้ตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อมันเปิด ให้เราให้รีบกระโดดเข้าไป เพราะถ้าขืนรอ มันอาจจะไม่เปิดอีกเลย ขณะนี้เราอาจมานั่งคิดว่า "แหม..ตอนนั้นเรามีโอกาสแล้วทำไมเราไม่ทำ"

4. เลือกคู่....
เรื่องนี้ก็เรื่องสำคัญ เพราะนับเวลาดูแล้ว เราอยู่กับพ่อแม่อย่างมากก็ยี่สิบกว่าปี แต่เราต้องอยู่กับคู่ครอง (ตอนท้ายๆมักจะเรียกว่า "ไอ้แก่" หรือ "อีแก่" ตามอาวุโส) ตลอดชีวิต(ยกเว้นผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อนี้) แต่การเลือกคู่มันก็ต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งคู่ เราจะไปเลือกเค้าคนเดียว เค้าไม่เอาด้วยก็เลือกไม่ได้เหมือนกัน ที่จริงผมก็ไม่ใข่คนง่ายๆ ก็เลือกอยู่เหมือนกันแหละ แต่ไม่มีใครเอา ....ว่ากันว่า "คนที่เลือกคู่ครองที่ดี ท่านก็จะเป็นคนโชคดีมีความสุขไปตลอดชีวิต แต่ถ้าท่านเลือกคู่ครองที่ไม่เอาไหน ท่านก็จะได้เป็นนักปรัชญา"

5. เที่ยวให้มากไว้....
ข้อนี้จริงเลยครับ ผมเคยคิดว่าไว้เวลาเกษียณจะเที่ยวให้หนำใจ เพราะตอนทำงานจะไปไหนทีก็ติดนั่นติดนี่ แต่พอเกษียณจริงๆ สุขภาพร่างกายมันไม่อำนวยแล้ว ที่เคยวาดฝันไว้มันก็ไม่ได้ตามฝัน...

6. ให้พูดในสิ่งที่อยากพูด..
อันนี้ก็คงหมายถึงพูดในสิ่งที่ดีๆนะครับ เช่นอยากจะบอกว่ารักแม่ รักเมียก็รีบบอกซะ เดี๋ยวแม่ตายหรือเราตาย ก็จะไม่ได้บอกกัน ส่วนไอ้ที่อยากจะด่าเพื่อน ด่าเจ้านาย อันนี้ถึงแม้อยากจะพูด ก็ไม่ต้องพูดก็ได้  สำหรับคนที่พูดไม่ค่อยเข้าหูคน (เช่นผม) ช่วงนี้พูดให้น้อยหน่อยก็ดี เพราะมันจะมีโอกาสได้แก้ตัวอีกน้อยแล้ว

7. เวลาเป็นของมีค่า
เมื่อเราเด็กๆ เราจะนั่งนับวันเวลา อยากจะโตเร็วๆ จะได้ทำอะไรที่เด็กโตหรือผู้ใหญ่เขาทำกัน รู้สึกว่าเวลามันไปช้าเสียเหลือเกิน แต่หลังเกษียณแล้ว ดูเวลามันช่างรวดเร็วเสียเหลือเกิน เดี๋ยวหมดเดือนๆ ไม่ทันไรก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ยังอยากจะทำอะไรอีกเยอะแยะ อายุก็ใกล้อัตราเฉลี่ยเข้าไปทุกที ดังนั้นคนหนุ่มสาวเมื่อมีเวลาจะทำอะไรก็รีบทำเสียเถิด จะได้ไม่มาเสียดายในภายหลัง

8. ความสุข
เรารับผิดชอบในความสุขของเรา ดังคำที่ว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ" อย่ายอมให้ผู้อื่นมาทำให้เราไม่มีความสุข บางคนแฟนไม่รักก็เป็นทุกข์ ไปฆ่าตัวตาย จะไปตายให้เสียดายชีวิตเราทำไม ก็มันไม่รักเรา เราตายไปมันก็ไม่รู้สึกอะไร

9. อย่าเสียเวลากับการกังวล
ก็คงอย่ามัวมานั่งคิดโน่นคิดนี่ กังวลไปเสียทุกเรื่อง  อะไรมันยังไม่เกิด ก็ไม่ต้องไปกังวลกับมัน (เอ..มันจะเหมือนที่ผมเป็นอยู่หรือเปล่า ไม่รู้นิ กังวลกลัวเงินจะหมด)

10. คิดเล็ก อย่าคิดใหญ่
อันนี้คงหมายถึงถ้าคิดแต่เรื่องใหญ่ๆมันคงมีปัญหามีอุปสรรคมากเกินกำลังที่เราจะทำได้จะทำให้เครียด จึงแนะนำให้คิดแต่เรื่องเล็กที่มีความสุข เก็บความทรงจำนั้นไว้ ความสุขบางสิ่งบางอย่างที่ประทับใจมันไม่มีโอกาสจะย้อนกลับมาอีกแล้ว เมื่อคิดถึงเรื่องราวเหล่านั้นก็จะทำให้เรามีความสุข
...................

พอหอมปากหอมคอนะครับ...
สำหรับท่านที่เกษียณมาแล้ว ก็ลองเปรียบเทียบกับชีวิตจริงของท่านดู บางสิ่งบางอย่างที่ผ่านมาก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว สมัยก่อนการเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสารก็มีน้อย การดำเนินชีวิตก็เป็นไปตามยะถากรรม ตามสภาพแวดล้อมของสังคมที่ตนอยู่ ศึกษาดูเป็นตัวอย่างจากญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีตำหรับตำรามากมายให้ศึกษาเรียนรู้ก็ควรพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้เตรียมพร้อมไว้สำหรับชีวิตที่มีความสุขในบั้นปลายต่อไปแต่โดยเนิ่นๆ

ขอให้ทุกท่านโชคดีมีสุขกับชีวิตวัยเกษียณครับ....

.................








ขอขอบคุณเจ้าของบทความและเจ้าของภาพที่ได้คัดลอกมา





***************


No Response to "บทเรียนจากอดีต"

แสดงความคิดเห็น