วันประวัติศาสตร์



วันประวัติศาสตร์


คืนวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556
รวมพลังทุกกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ

ขณะนี้คือเวลาหลัง 18 นาฬิกาเกือบครึ่งชั่วโมง ที่เวทีราชดำเนินได้มีการรวมพลรวมพลังทุกกลุ่มทุกองค์กรเพื่อร่วมต่อต้านล้มล้างระบอบทักษิณ




เวทีแยกนางเลิ้ง และสะพานผ่านฟ้า

นับเป็นประสบการณ์อีกครั้งหนึ่ง ของคนวัยเกษียณอย่างผม ในชีวิตหกสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและบ้านเมืองมาพอสมควร จากถนนหนทางเล็กๆลาดด้วยยางมะตอย(แอสฟัส) สองฝั่งถนนเป็นคลองมีน้ำใสสะอาด เด็กๆสามารถลงเล่นได้โดยไม่ต้องกลัวเชื้อโรค ตึกรามบ้านช่องก็เป็นอาคารไม้ขั้นเดียวหรือสองชั้น หรือที่หรูหรามีฐานะหน่อยก็จะเป็นอาคารก่ออิฐบ้าง แหล่งที่วัยรุ่นช้อปปิ้งก็เป็นเพียงตึกแถวริมถนนเช่นบางลำภู วังบูรพา ประตูน้ำ เป็นต้น ตึกแถวทุกห้องจะเป็นห้องกระจกเปิดไฟสว่างไสวในยามค่ำคืน โชว์สินค้านานาชนิด เราสามารถเดินชมตามทางเท้าได้อย่างสะดวกสบาย ไม่แน่นแออัดด้วยแผงขายของเช่นปัจจุบันนี้






สำหรับการปกครองบริหารบ้านเมืองนั้น ในวัยเด็กเราก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ตามประสาเด็กๆ ก็มารู้เอาภายหลังว่าเราเกิดในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี  และก็มาอ่านประวัติศาสตร์การเมืองในยุคนั้น ก็เป็นการแย่งชิงอำนาจกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน มีการสั่งฆ่านักการเมืองนักหนังสือพิมพ์ นักคิดนักเขียนที่มีความเห็นตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล

ในยุคท้ายๆก่อนที่จอมพล ป. จะหลุดจากอำนาจ จอมพล ป.มีลูกน้องคนสนิทใกล้ชิดอยู่ 2 คน คนคุมกำลังพลฝ่ายทหารคือ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วนคนที่กุมกำลังตำรวจคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

ในยุคนั้นฝ่ายทหารคุมอำนาจอยู่เงียบๆ แต่ฝ่ายตำรวจที่ควบคุมกำกับโดยพล.ต.อ.เผ่าฯ มีการจัดตั้งกองกำลังอย่างคึกคัก โดยมีการตั้งคำขวัญให้ตำรวจทุกคนยึดถือเป็นมอตโต้ประจำใจว่า "ภายใต้ดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" มีการตั้งกองกำลังมือสังหารประจำตัวอธิบดีกรมตำรวจ (พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์) เรียกตำรวจพวกนี้ว่า "อัศวินแหวนเพชร" เพราะทุกคนจะใส่แหวนเพชรที่ พล.ต.อ.เผ่า ทำแจกให้เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของทีม พวกอัศวินเหล่านี้คอยติดตามข่มขู่ลอบฆ่าผู้เป็นศัตรูกับจอมพล ป. และพล.ต.อ.เผ่า ตำรวจมีการจัดซื้ออาวุธ มีการซื้อรถถังเพื่อเป็นหน่วยรถถัง(คานอำนาจกับทหาร) เพิ่มกำลังพลเพื่อให้ใกล้เคียงกับกำลังทหารที่ประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ






การสร้างเสริมกำลังอำนาจของฝ่ายตำรวจ จนมีการหวาดกลัวในหมู่นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักวิพากษ์วิจารณ์ และประชนทั่วไป ในยุคนั้นจึงเกิดคำที่เรียกว่า "ยิงทิ้ง" ซึ่งหมายถึงผู้ที่ถูกตำรวจจับไป และเมื่อไปพบอีกทีก็กลายเป็นศพอยู่ตามข้างถนน หรือในป่า ส.ส. ฝ่ายค้าน อภิปรายโจมตี จอมพล ป. ถูกตำรวจควบคุมตัวไป 4 คน ต่อมากลายเป็นศพอยู่ริมถนน ตำรวจที่จับไปบอกว่าผู้ต้องหาต่อสู้และหนี จึงต้องยิง ต่อมามีพยานยืนยันว่าตำรวจปล่อยให้วิ่งหนี แต่ ส.ส.รู้ว่าจะถูกยิงทิ้ง จึงไม่ยอมวิ่ง แต่ในที่สุดก็ถูกตำรวจยิง ณ ที่นั้น แล้วก็จัดฉากสร้างหลักฐานว่าต่อสู้แล้วหนี  หรืออย่างนักหนังสือพิมพ์ปากกล้า วันใดวันหนึ่งมีคนมาเรียกที่หน้าบ้าน พอออกไปก็โดนยิงตายคาหน้าบ้านนั่นแหละ ตำรวจจับใครไม่ได้ (เพราะตำรวจยิงเอง) ดังนั้นใครอยู่ในบัญชีรายชื่อ "ยิงทิ้ง" นั่นหมายถึงคนผู้นั้นต้องชะตาขาดด้วยฝีมือตำรวจในทีมอัศวินแหวนเพชร ยุคนั้นจึงเรียกได้ว่ายุคตำรวจครองเมือง (คล้ายๆกับยุคนี้) โดยมีนายกรัฐมนตรีชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่การเคลื่อนไหวของพล.ต.อ.เผ่า ไม่ได้เล็ดรอดจากสายตาของ พล.อ.สฤษดิ์ ซึ่งเป็นผู้ค้ำบัลล้งค์จอมพล ป. ด้วยเช่นกัน  การเพิ่มกำลังของตำรวจมีการประเมินจากจำนวนทหารที่ประจำการอยู่ในพระนคร ว่าถ้าเกิดประลองกำลังกัน ตำรวจจะสามารถสู้ได้

นี่คือตำนานของตำรวจ ซึ่งต่อมาเมื่อ 14 ตุลา 2516 กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้าจึงต้องถูกเผา ตำรวจต้องถอดเครื่องแบบเผ่นหนีกันกระเจิง นี่แหละสันดานตำรวจไม่เคยเปลี่ยน แม้เวลาจะล่วงเลยมาเท่าไหร่แล้วก็ตาม รวมทั้งไอ้ พ.ต.ท.ที่หนีคุกอยู่ทุกวันนี้

ด้วยความอหังการ์ของตำรวจที่นำโดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ โดยการสนับสนุนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจให้พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงตัดสินใจปฏิวัติเสียก่อน โดยกล่าวว่า "ถ้ากูไม่เล่นมันก่อน มันเอากูแน่" เปรียบเหมือนเสือสองตัวจะอยู่ถ้ำดียวกันไม่ได้ มีผลให้ต้องขับไล่นายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่ง แล้วเครือข่าย พล.ต.อ.เผ่า ถูกพล.อ.สฤษดิ์ บังคับให้ออกนอกประเทศ ส่วนลิ่วล้อสอพลอต่างๆก็หนีกันกระเจิดกระเจิง

ปลายปี 2500 ที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัตินี่แหละครับ เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในวัยเด็กของผม ที่ได้เห็นรถยานเกราะหรือที่เรียกว่ารถถัง และก็รถสายพานหรือเรียกรถตีนตะขาบ ในสมัยนั้น มาจอดเรียงรายอยู่หน้ากรมทหารที่บ้านผมอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น ผมและเพื่อนๆแถวบ้านก็ไปยืนดูรถถังกันด้วยความตื่นเต้น เมื่อเลียบๆเคียงๆส่งยิ้มกับทหารที่ประจำการรักษารถถังนั้นพอจะคุ้นเคยกัน ก็สามารถเข้าไปลูบๆคลำๆ ปีนๆป่ายเล่นได้ คล้ายๆวันเด็กเหมือนกัน

ในสมัยนั้น การปฏิวัติรัฐประหารมักจะไม่ค่อยมีความรุนแรง ผู้แพ้ก็ยอมแพ้ ผู้ชนะก็มักจะมีสปิริต ปล่อยให้เดินทางออกนอกประเทศไป ไม่เอากันถึงตาย และมักเป็นการเปลี่ยนอำนาจจากพวกเดียวกันจากกลุ่มหนึ่งมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เหมือนประเทศไทยเป็น "สมบัติผลัดกันชม"

จนกระทั่งมาถึง 14 ตุลา 2516 ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เป็นการปฏิวัติโดยประชาชน ไม่ใช่เป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างทหารด้วยกันที่มาจากสถาบันเดียวกัน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน แต่ครั้งนี้มันเหมือนอำนาจจะถูกยื้อแย่งไปสู่มือประชาชน ซึ่งรัฐบาลทหารที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นชนชั้นที่ควรอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ซึ่งทหารยอมรับไม่ได้ ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่มีการต่อสู้กันอย่างเต็มความสามารถ ทำให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และก็เป็นเพียงเวลาสั้นๆที่ประชาชนได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

แล้วอำนาจเผด็จการก็มาเอาคืนไปเมื่อ 6 ตุลา 2519
การแย่งชิงอำนาจล้มลุกคลุกคลานต่อสู้กันมาหลายปี ในที่สุดเราก็สามารถมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่ถือได้ว่ามาจากประชาชนพลเรือน แต่คนไทยคงจะมีเวรมีกรรม เราสลัดอำนาจการปกครองจากเผด็จการทหารมาได้ แต่เราต้องมาเจอกับ เผด็จการรัฐสภาแทน เผด็จการจากคนที่เราเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนเรา แล้วเราก็ต้องมาร่วมกันต่อต้าน ขับไล่ระบบเผด็จการรัฐสภากันอีก เราว่ารัฐบาลทหารโกงกิน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโกงกินยิ่งกว่า







จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ถือว่าได้ผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติเล็กๆน้อยๆ หรือปฏิวัติตัวเองในบางครั้ง เหล่านี้ก็ถือเป็นการแย่งชิงอำนาจในการปกครองประเทศไทย ถ้าใครขึ้นมาบริหารประเทศไทยได้ ก็หมายความว่ากลุ่มบุคคลคณะนั้นได้มีสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ผลประโยชน์จากจัดการทรัพยากรของประเทศ ผลประโยชน์ที่มากมายเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่หวังประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้พยายามที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการบริหารประเทศ "แผนชิงชาติไทย" จึงเกิดขึ้น

พรุ่งนี้ (24 พฤศจิกายน 2556) ซึ่งเวทีราชดำเนินประกาศเป็นวันดีเดย์ เป็นวันตัดสินชตากรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

ก็ไม่สามารถเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งหนึ่งนั้นคือกงล้อประวัติศาสตร์มักจะหมุนมาซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ผมอ่านประวัติศาสตร์ของตำรวจในยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มันช่างคล้ายคลึงกับตำรวจในยุคที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเหลือเกิน

คนแก่ๆอย่างเราก็คงทำได้เพียงขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายและพระสยามเทวาธิราชจงคุ้มครองผู้ชุมนุมทุกผู้ทุกคนด้วยเทอญ

ระยะนี้คงเขียนอะไรไม่ออก ขอรอดูสถานการณ์ไปก่อนนะครับ


ถ้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังมีชีวิตอยู่ และได้เห็น
พฤติกรรมของนักการเมืองในปัจจุบันนี้ คุณชายอาจจะ
กล่าวว่า "มันกัดกันอย่างกะหมาวัด"

ดังนั้นพวกเราที่เป็นคน ต้องระวังไว้นะครับ
ตอนนี้หมามันบ้าแล้ว มันไล่กัดไม่เลือกหน้า
ไปไหนมาไหนต้องระวัง !!!






สวัสดีครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดี




**********************
















No Response to "วันประวัติศาสตร์"

แสดงความคิดเห็น