สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)

สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)




        ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ผู้สูงอายุมีอายุยืนขึ้น เฉลี่ยในผู้หญิง 74.5 ปี และผู้ชาย 69.9 ปี แม้ผู้สูงอายุจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตมิได้ดีขึ้นตามด้วย เนื่องจากสภาพร่างกายที่เสื่อมลง ประกอบกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้สูงอายุ 1  คนต้องมีผู้ดูแลมากถึง 9 คนเลยทีเดียว คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 ไทยจะก้าวกระโดดมีผู้สูงอายุมากถึง 14.4 ล้านคน และในปี พ.ศ.2593 ผู้สูงอายุจะล้นเมือง มีจำนวนมากถึงร้อยละ 27 ของพลเมืองทั้งประเทศ

          ความชราภาพเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอันยาวนานทางกายภาพ (physiology) อารมณ์ (emotional) พุทธิปัญญา (cognition) ความสัมพันธ์ (interpersonal) และฐานะทางการเงิน (economic)

จึงไม่แปลกที่ยิ่งชราภาพมาก ยิ่งพบความแตกต่างมากตามไปด้วย

As we grow older, we become unlike each other.

ซึ่งมีหลายทฤษฎีที่อธิบายความชราภาพนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ทฤษฎีทางชีวภาพ (Biological theory)

Genetic theory : ความชราภาพมีกรรมพันธุ์เป็นตัวควบคุมและกำหนด ถ่ายทอดหลายชั่วอายุคน แสดงออกทางกายภาพ เช่นผมหงอก หัวล้าน เป็นต้น

Error catastrophy theory : ความเสื่อมของเนื้อเยื่อและการทำงานที่ผิดพลาดของเซลล์ที่ชรา ทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานลดลง

Collagen theory : การหดตัวของคอลลาเจนไฟเบอร์ ทำให้เกิดริ้วรอย ความเหี่ยวย่นของผิวหนังและความผุกร่อนของกระดูก

Auto-Immune theory : ภูมิคุ้มกันที่ทำงานถดถอย ทำให้ร่างกายต้านทานต่อเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้ไม่ดี จึงพบความเจ็บป่วยได้ง่าย

Free Radical theory : อนุมูลอิสระ เป็นตัวการของความผิดปกติของยีนคอลลาเจนและอีลาสติน

ทฤษฎีทางจิต (Psychological therory)

Personality theory : พัฒนาการทางจิตและสัมพันธภาพในอดีตส่งผลต่อความสุขในบั้นปลายชีวิต

Intelligence theory : ความปราดเปรื่องจากการสะสมประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง

Erickson's theory : ความมั่นคงและคุณค่าแห่งตน เป็นผลจากความสำเร็จของช่วงชีวิตที่ผ่านมา

ทฤษฎีทางสังคม (Social theory)

Role theory : ความสำเร็จในแต่ละช่วงวัยที่ผ่านมา นำมาซึ่งการยอมรับความชราเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ

Activity theory : กิจกรรมและการเคลื่อนไหว นำพาความสุขและคุณค่าแห่งตนแก่ผู้สูงอายุ

Disengagement theory : การถอนตัวหลีกหนีจากสังคมเพื่อลดความตึงเครียด หรือความกดดัน

Contiuity theory : การปรับตัวและพฤติกรรมของผู้สูงอายุต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบข้าง เช่นลดน้อยลงของรายได้ โดยรูปแบบการปรับตัวแตกต่างกันตามบุคลิกภาพเดิม

Age strattification theory : อายุเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทางสังคม เช่น อายุการเกณฑ์ทหาร อายุการเกษียณ


          การส่งเสริมพลังทางปัญญาผู้สูงอายุ และการเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ "แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข" คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564)โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้านในการก่อเกิดสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคตดังนี้

1. ด้านการเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ
2. ด้านการส่งเสริมผู้สูงอายุ
3. ด้านระบบการคุ้มครองทางสังคม สำหรับผู้สูงอายุ
4. ด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติ และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ
5. ด้านการประมวลและพัฒนาองค์ความรู้ผู้สูงอายุระดับชาติ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ


การเตรียมตัวก่อนเกษียณ (Preretirement education)

          เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ผู้สูงอายุก่อนวัย 60 ปี ในด้านสุขภาพ อาชีพหลังการเกษียณ การจัดการรายได้และทรัพย์สินต่างๆให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ในต่างประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่มีอายุ 40-45 ปีขึ้นไปด้านการเกษียณอายุปีละ 3-4 ครั้ง ด้วยการอบรมสัมมนา  ประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือการเรียนรู้ผ่านสื่อการสอนด้วยตนเอง

การจัดการศึกษาหลังเกษียณอายุ (Post-retirement education)

          รูปแบบที่พบในไทย คือชมรมผู้สูงอายุ โดยเน้นให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในสังคม (Social participation) และพัฒนาคุณค่าแห่งตน (Self actualization) ของผู้สูงอายุ ด้วยการปรับกายจิตและสังคมในการดำรงตนในสังคมอย่างมีความสุข เสริมสร้างทักษะทางสังคมในการสร้างความบันเทิงแก่ตนเอง การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างและร่วมกิจกรรมสาธารณะ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

         ปัจจุบันเราเผชิญกับปัญหาสุขภาพในสังคมผู้สูงอายุไทย โรคที่คุกคามผู้สูงอายุมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และเบาหวาน ควบคู่กับปัญหาสุขภาพจิตที่พบ โรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุ คือโรคซึมเศร้า (พบร้อยละ 3) และอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยอื่น  จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่าผู้สูงอายุไทยมีความรู้สึกเบื่ออาหาร หรือความอยากอาหารลดลงมากที่สุด ตามด้วยคิดมาก วิตกกังวลใจ และหงุดหงิดรำคาญใจ

          การเตรียมความพร้อมและความเชี่ยวชาญอย่างเฉพาะทางของหน่วยบริการด้านสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมกับการให้อำนาจท้องถิ่นในการเชื่อมโยง และสนับสนุนการดูแลสุขภาพและสังคมแก่ผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุของคนในครอบครัว จะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในสังคมผู้สูงอายุ


********

*** คัดลอกจาก http://www.thaifamilylink.net/  สมาคมสายใยครอบครัว Thai Familylink Association*** ขอขอบคุณข้อมูลดีๆที่มีประโยชน์

***

          ในภาวะสังคม-เศรษฐกิจในปัจจุบัน การครองชีวิตที่มีค่าครองชีพสูง การหารายได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเหมือนในอดึตที่จะเปิดร้านชำ ร้านขายของหน้าบ้านกันได้อีกแล้ว  การเกษียณอายุจึงหมายถึงการสิ้นสุดการมีรายได้ประจำ อีกทั้งชีวิตในสังคมก็ต้องเปลี่ยนไป ความกดดันต่างๆจะเกิดขึ้นแก่ตัวผู้เกษียณ และแก่คนรอบข้าง

          การเตรียมตัวเพื่อการเกษียณที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่มีประโยชน์ทั้งในด้านการเงินและในทางจิตใจ รวมทั้งเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ผมได้คัดลอกบทความนี้มาให้อ่านกัน  หากท่านที่เห็นความสำคัญของการเกษียณจะได้เตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ ดังที่ในบทความนี้กล่าวไว้ ในต่างประเทศเขาเตรียมกันตั้งแต่อายุ 40-45 ปี ของไทยเราบางคนเกษียณแล้วยังงงๆอยู่เลย  ในที่นี้จึงอยากจะแนะนำให้ท่านที่จะเกษียณควรเริ่มเตรียมตัว อย่างช้าที่สุดก็ควรเตรียมตัวไม่เกินอายุ 55 ปี จะรวมตัวกันเป็นชมรมหรือเป็นกลุ่ม อะไรก็ได้ เพื่อศึกษาหาความรู้เตรียมพร้อมให้ "แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข" เพราะถ้าท่านเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่เกษียณ ปัจจัยต่างๆจะเอื้อในการทำงานได้มากไม่ว่าจะเป็นการรวมตัว การติดต่อนัดหมาย สถานที่ การเงิน และท่านจะได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ  ท่านไม่ควรรอจนถึงเกษียณ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมันสายไปเสียแล้วที่จะทำอะไรได้ตามใจปรารถนา

          จงรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนช่วยกันให้ความรู้ซึ่งกันและกัน เตรียมตัวให้พร้อม แล้วท่านจะ "เกษียณอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข" ขอให้ผู้ที่จะเกษียณในปีต่อไปและต่อไปจงประสบความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมนะครับ






**********

No Response to "สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)"

แสดงความคิดเห็น