โหมโรง



โหมโรง





 
จ๊วบบ...จ๊วบบ..อะหย่อย...
 
         บอกแล้วไงครับว่าต้นปีของทุกปี พวกเราชาวเกษียณก็จะได้มีโอกาสขยับเนื้อขยับตัว มีชีวิตชีวาชุ่มชื่นขึ้นมาบ้าง ถึงแม้จะไม่มีโอกาสได้รับเงินโบนัสเช่นสมัยที่ทำงานอยู่ แต่ก็มีความหวังอยู่ที่เงินปันผล ที่เกิดจากเงินก้อนสุดท้ายที่เกิดจากการทำงานมาตลอดชีวิตของเรานั่นเอง
 
        ใครมีมากมีน้อยก็แล้วแต่กรรม คือการกระทำของตนเองจากอดีตที่ผ่านมา ใครที่มีโอกาสสะสมไว้มาก ก็จะได้รับผลดีไป ใครที่สะสมไว้น้อยก็ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังหน่อย
 
        ใครที่มีมากมิใช่ว่าจะเป็นคนที่เก็บหอมรอมริบดี รู้จ้กใช้จ่าย  ใครที่มีน้อยก็มิใช่ว่าจะเป็นคนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเสมอไป  เพราะคนเราแต่ละคนที่เกิดมา ก็รู้อยู่แล้วว่าเลือกเกิดกันไม่ได้  บางคนเกิดมามีพ่อแม่มีฐานะดี ได้รับการศึกษาดี มีพ่อแม่จุนเจอในการสร้างชีวิต คนเหล่านี้ก็ถีอว่ามีต้นทุนในการเริ่มต้นชีวิตที่ดี ถ้าเปรียบเป็นกีฬาก็ถือว่ามีแต้มต่อ
 
        แต่บางคนเกิดมาพ่อแม่มีฐานะไม่ดี บางคนจะส่งลูกเรียนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ลูกเรียนจบทำงานได้ก็ต้องเก็บเงินช่วยพ่อแม่ใช้หนี้ ซ้ำยังเรียนไม่สูง ทำงานเงินเดือนก็น้อย คนเหล่านี้ไม่ใช่เริ่มต้นที่ศูนย์ แต่เป็นการเริ่มต้นที่ "ติดลบ"  ดังนั้นในบั้นปลายชีวิตจึงยากที่คนพวกหลังนี้จะมีความเป็นอยู่เช่นคนพวกแรก ยกเว้นอาจจะมีบ้างบางคน แต่ถ้าดำเนินชีวิตอย่างปกติแล้วคงจะร่ำรวยอู้ฟูคงยาก
 
         ดังนั้นในสหกรณ์ก็จึงมีสมาชิกที่ฐานะหลากหลายแตกต่างกันไป  คนที่มีทุนเยอะก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร
 
       แต่คนที่มีทุนน้อย ที่ต้องดูตัวเลขในบัญชีด้วยความพินิจพิเคราะห์ทุกครั้งที่ต้องเบิกเงินออกจากบัญชี สหกรณ์ก็ควรมีมาตรการ ช่วยเหลือ ดูแลคนประเภทหลังนี้บ้างจะอ้างว่าทุกคนต้องเสมอภาคเท่าเทียมกันคงไม่ถูกต้องนัก เพราะปรัชญาของสหกรณ์ คือการร่วมมือกันระหว่างคนที่มี กับคนที่ไม่มีเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
 
        หลายครั้งที่ผมเจอรุ่นพี่ๆที่เกษียณไปแล้ว คุยไปคุยมาพอพูดถึงชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. จะได้รับคำตอบว่า "ผมไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว" หรือ "ผมลาออกแล้ว" เหตุผลก็คือ ถอนหุ้นไปใช้หมดแล้ว พูดง่ายๆก็คือ อายุยืนไปหน่อย เงินเลยหมดก่อน เข้าทำนอง "แสนสลด ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย"  ทั้งๆที่หลายคนที่ผมคุยด้วยเคยเป็นนักกิจกรรม เคยเป็นกรรมการสหภาพฯ เคยเป็นกรรมการสหกรณ์ฯ ยิ่งไปกว่านั้น มีถึงขนาดที่เคยเป็นถึงประธานสหกรณ์มาแล้ว บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักกิจกรรมโอทงโอทีก็ไม่ค่อยได้ทำ เงินเก็บสะสมก็จึงไม่มากมายอะไร สมัยก่อนเกษียณก็ไม่ได้ตังมากมายเท่าไหร่ พอผ่านไปห้าปีสิบปีเงินก็หมดแล้ว ใครมีลูกเต้ามีการมีงานทำดีหน่อย ก็อาศ้ยพึ่งลูกกินไป ใครมีลูกฐานะไม่ค่อยดีก็ลำบากหน่อย ผมเคยเจออายุจะเจ็ดสิบแล้วยังมารับจ้างแผนกเครื่องวัดฯอยู่เลย
 
        การต้องลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ นั่นก็หมายถึงอย่างน้อยก็เสียสิทธิ์ในการได้รับประโยชน์จากเงินค่าทำศพที่ควรจะได้รับเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว เมื่อสมาชิกเสียชีวิตลง   และก่อนที่จะเสียชีวิต เขาต้องถูกตัดออกจากการมีส่วนร่วมในสังคม ที่เขาเคยเป็นสมาชิกอยู่ น่าเสียดายที่แทนที่เราจะช่วยกันดูแลผู้สูงอายุให้มีความอบอุ่นอยู่ในสังคม  แทนที่เราจะไปเยี่ยมเยียนบุคคลเหล่านี้ในบางวาระ เรากับตัดทอดทิ้งเขาออกไป โดยไร้การเหลียวแล
 
         แสดงถึงความคิดคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยคำนึงถึงหรือคิดถึงคุณคนที่ทำคุณประโยชน์ให้ตกมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน สมัยก่อน สหภาพฯ สหกรณ์ฯกว่าจะเติบโตมาถึงปัจจุบัน ให้คนรุ่นนี้ไดัเสวยสุขกันนั้น ทั้งกรรมการทั้งสมาชิกแต่ละคนต้องต่อสู้กันมาอย่างไร ต้องเอาตำแหน่งหน้าที่ความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตัวเองเข้าแลกกันอย่างไร (ยกเว้นบางคนมาเป็นกรรมการแล้วใหญ่โตขึ้นก็มีบ้าง...ถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัว) แต่ละคนต้องถูกหมายหัวหรือที่เรียกกันว่า "ขึ้นบัญชีหนังหมา" จากผู้บริหาร  อดีตกรรมการบางคนมีชีวิตบั้นปลายที่ยากจนตกต่ำโดยไม่มีใครเหลียวแล
 
        ผู้ที่ควรยกย่อง ไม่ใช่มีเพียงคุณไพศาล ธวัชชัยนันท์เพียงคนเดียว คุณไพศาลฯคงไม่อาจทำงานได้สำเร็จ ถ้าไม่มีคนอื่นเป็นผู้ร่วมทำงานด้วย และคุณไพศาลคงเห็นด้วยถ้าได้ยินคำพูดของผม
 
        มีอยู่ปีหนึ่งที่กรรมการสหกรณ์คณะหนึ่งมีมติเห็นชอบให้มอบเงินช่วยเหลือผู้เกษียณอายุเพื่อเป็นสินน้ำใจผู้สูงอายุ ไม่มากไม่มายแค่ปีละหนึ่งพันบาท ก็ตกประมาณเดือนละ 83.33 บาท น้อยกว่าคนงานทำโอที 1ชั่วโมงเสียอีก แค่นี้ก็มีคนออกมาโวยวายว่าไม่เป็นธรรม ถ้าจ่ายให้ผู้เกษียณก็ต้องจ่ายให้ทุกคน โดยไม่ได้คิดว่าผู้เกษียณถูกลดสิทธิ์ต่างๆลงไปหลายอย่างหลังเกษียณ ถ้าจะให้ความเป็นธรรมผู้เกษียณก็ควรมีสิทธิ์ทุกอย่างเท่าเทียมกับสมาชิกทุกคน ใช่หรือไม่
 
       พูดเหมือนว่า ไอ้คนพูด มันจะอยู่ไปโดยไม่ต้องเกษียณงั้นแหละ
 
       คราวนั้นก็เกิดกระแส เปิดประเด็นเรื่องนี้จนเกิด "ฟีเวอร์" จากผู้เกษียณจนกรรมการจากชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. คือนายบุญเลิศ เด่นดี ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสหกรณ์ในกลุ่มของ "กลุ่มปฏิรูปสหกรณ์" ด้วยคนหนึ่ง โดยมีการเทคะแนนเสียงจากผู้เกษียณชนิดม้วนเดียวจบ
 
       หลังจากนั้น เรื่องเงินหนึ่งพันบาทที่จะให้แก่ผู้เกษียณก็เงียบหายไป ไม่มีใครพูดถึงกันอีก....
 
        ม้วนเดียวจบเหมือนกัน....
 
        ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็แสดงถึงความละเลยทอดทิ้ง ไม่นึกถึงคุณของผู้สูงอายุที่เคยทำประโยขน์ ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แทนที่จะปล่อยปละละเลยให้บุคคลเหล่านี้ต้องหมดสมาชิกภาพไปตามกาลเวลา ตามสภาพฐานะทางการเงิน ควรเสียเป็นอย่างยิ่งที่จะเชิญอดีตกรรมการ หรืออดีตสมาชิกที่จำเป็นต้องหมดสมาชิกภาพไปให้มารับตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์เสีย แทนที่จะไปเที่ยวเชิญเที่ยวมอบให้บรรดาผู้บริหารฯ กฟน.เพื่อเทิดทูนเอาหน้าเอาตาเป็นเกียรติแก่เหล่าบรรดากรรมการทั้งหลายแหล่
 
       นี่ก็อยู่ในสมัยหาเสียงเลือกตั้งกันแล้ว ถ้าผู้สมัครกลุ่มไหนมีนโยบายอย่างนี้ ผมเลือกยกทีมเลย และจะช่วยรณณรงค์ให้ด้วย  แต่ไม่ใช่จบแล้วจบเลยเสียล่ะ และนโยบายนี้ก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนสมาชิกสามัญแต่อย่างใด คงไม่ต้องกลัวเสียคะแนน คนที่ยังไม่เกษียณในวันนี้ วันหน้าท่านก็ต้องเกษียณท่านก็ต้องมาอยู่ในฐานะอย่างพวกเรา
 
       และผู้เกษียณ(ที่มีโอกาสอ่านข้อเขียนนี้) รวมถึงผู้ที่ยังไม่เกษียณก็ควรช่วยกันเลือกผู้ที่มีนโยบายอย่างนี้ เพราะอย่างน้อยคนที่เคารพให้เกียรติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุก็คงจะเป็นคนดีพอสมควรแหละ
 
        ตอนนี้ก็จดที่ปฎิทินไว้ก่อน "อย่าลืมวันที่ 21 รับเงิน"
 
        
     
 
 
คณะกรรมการชุดรอดมาจากวันโลกแตก (อิ อิ)
 
         เมื่อวันพุธที่ 9 มกราคม 2556 เป็นวาระการประชุมนัดสุดท้ายของคณะกรรมการชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. ปี 2554-2555 ณ ห้องประชุมใหม่สหกรณ์ฯ
 
       ก็ถือว่าได้ใช้ห้องประชุมที่สะอาดสะอ้านสวยหรูเป็นครั้งสุดท้าย ยกเว้นผู้ที่จะได้รับการคัดสรรคัดเลือกจากท่านประธานคนใหม่ตามข้อบังคับใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่อีกสมัย
 
 
       การประชุมครั้งนี้ ประธานแจ้งให้ทราบถึงวันประชุมใหญ่ของชมรมว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ สถานที่ก็สนามม้านางเลิ้ง ที่เก่า เวลาเดิม เหมือนทุกๆปี และปีนี้เป็นปีครบวาระ 2 ปีของกรรมชุดปัจจุบัน ก็คงต้องตั้งกันใหม่ ผมก็ไม่รู้จะใช้คำว่าเลือกตั้งหรือสรรหาก็ว่าๆกันไป คือต้องมีกรรมการชุดใหม่ก็แล้วกัน จะหน้าเก่าหรือไม่ก็แล้วแต่ "แกนนำ" ใครจะอยู่ใครจะไป อีกไม่กี่วันก็คงรู้  สำหรับผมเองก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่าเป็นมาสองสมัยคงพอแล้ว ให้คนใหม่ๆไฟแรงที่เพิ่งเกษียณที่เขาพร้อมรอคิวอยู่มาแสดงฝีมือบ้าง ตอนนี้ประธานเขาจะได้มีโอกาสจัดคนแท็กทีมคนรู้ใจทำงานลื่นไหล ลื่นปรื้ด ลื่นปรื๊ด เหมือนโทรศัพท์ไอโฟน 5 ยังไงยังงั้น ตัวเราเองอยากไปนอนอ่านหนังสือที่ซื้อไว้ตั้งแต่สมัยทำงานเป็นร้อยๆเล่มที่ยังไม่มีเวลาอ่านเสียที ดูแล้วอ่านยันตายก็ยังไม่หมด(ที่ออกตัวไว้ก่อนนั้น เกรงว่าเขาจะไม่เลือกแล้วจะมาเสียฟอร์มเอาตอนแก่นั่นเอง หลังๆนี่ยิ่งดวงตกๆดวงไม่ค่อยดีอยู่ด้วย หลังจากเจ็บไข้โหงวเฮ้งไม่ค่อยดี ปีนี้เขาว่าเป็นปีชงเสียอีก เลยต้องเจียมเนื้อเจียมตัวขอปลีกวิเวก ก่อนที่จะเดินไปไหนแล้วไม่มีคนทัก)
 
       ที่มาที่ไปก็คือ คณะกรรมการชมรมฯเห็นชอบให้มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับ ที่มาของคณะกรรมการใหม่ คือให้มีการเลือกตั้งหรือคัดเลือก(ผมอาจเขียนไม่ตรงกับต้นฉบับนะครับ)ประธานกรรมการเพียงคนเดียว หลังจากนั้นเป็นสิทธิ์ของประธานที่จะไปเลือกกรรมการตามจำนวนที่ระบุไว้ในข้อบังคับอีกที 
 
        ระเบียบข้อบังคับใหม่นี้จะต้องขอมติรับรองในที่ประชุมใหญ่คือวันที่ 11 ก.พ.นี้ก่อน จึงจะมีผลบังคับใช้
 
 
 
 
คติเตือนใจ 
 
 
 
        ที่ประธานแจ้งให้ทราบที่ควรนำมาแจ้งให้ทราบกันไว้  แม้ว่าคงทราบกันทั่วไปแล้วอีกเรื่องก็คือ
 
        ในปีนี้นายบุญเลิศ เด่นดี รองประธานกรรมการชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ. ได้ครบวาระการเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ทางคณะกรรมการชมรมจึงได้มีการพิจารณาส่งตัวแทนกรรมการเข้าไปสมัครรับเลือกตั้งกับ "กลุ่มปฎิรูปสหกรณ์"จำนวน 1 คน แต่ได้รับแจ้งจาก "กลุ่มฯ" ว่าโควต้าผู้สมัคร "เต็ม" แล้ว จึงไม่สามารถรับผู้สมัครจาก ชมรมฯได้อีก
 
        ในปีนี้จึงไม่มีกรรมการจากชมรมฯ เข้าร่วมทีมสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์กับกลุ่มปฏิรูปสหกรณ์แต่อย่างใด
 
        เอ้า.....โควต้าเต็ม....เสือฝ้ายถอยยยยย...
 
 
 
 
 
       วันนี้ขอ "โหมโรง" แค่นี้ก่อนนะครับ  และขอยืนยันว่าข้อเขียนนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ไม่เกี่ยวกับชมรมผู้เกษียณ ชสอฟ.แต่ประการใด ผิดถูกอย่างไร ผมรับผิดชอบเอง ประธานชมรมฯคนปัจจุบันไม่เกี่ยวครับไม่ต้องไปฟ้องท่าน ไหนๆก็ต้องไปประชุมที่สนามม้าแล้ว ก็ต้องขอยืมคำพูดของ "เสธ.อ้าย" มาใช้กันหน่อย

        "ผมรับผิดชอบเองครับ"
 
 
        สุดท้ายก็มีคำเตือนใจที่อยู่ข้างบนมาฝาก  คนเรามีขึ้นมีลง ยามขึ้นก็มีคนแห่แหน ยามลงผู้คนก็หนีหาย เหลือเดียวดายเหมือนหมาตัวหนึ่ง ดูข้าราชการ นักการเมือง หรือไม่เว้น เป็นได้ทุกอาชีพทุกผู้ทุกคน ใครพานพบเวลาขาขึ้นก็อย่าได้ดีใจเกินเหตุ ใครอยู่ในอารมณ์ขาลง ก็จงทำใจให้มั่นคงไว้ จิตใจจะได้ไม่เจ็บป่วย...

ขอให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญตลอดไป
 
 
 
 
 
สวัสดีครับ
 
 
 
 
*************

No Response to "โหมโรง"

แสดงความคิดเห็น