ข้อมูล ข่าวสาร




ข้อมูล ข่าวสาร




การให้ข้อมูลข่าวสาร มีความจำเป็นเสมอ



ก่อนอื่น ต้องขอเปิดใจในวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการเขียนบล็อกนี้อีกครั้ง หลังจากที่เคยเขียนมาบ้างแล้ว แต่บางท่านเพิ่งมาอ่านเฉพาะเรื่องหลังๆนี้ บางทีอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน จึงขอชี้แจงอีกครั้ง

หลังจากเกษียณแล้ว ก็ไม่มีอะไรทำ เราต้องแยกจากสังคมที่เคยออกมาอยู่บ้านคนเดียว อาชีพอี่นก็ไม่ได้ทำอะไร ก็เลยคิดว่าเราเอาแต่นอนอ่านหนังสืออยู่อย่างนี้ทุกวัน เราคงแย่แน่ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต


หลังจากมาสนใจในคอมพิวเตอร์ นั่งอ่านนั่งค้นไปเรื่อยก็ได้พบว่า มันเป็นเพื่อนที่ดีของเราคนหนึ่งเลยทีเดียว มันมีความรู้เรี่องราวมากมายอยู่ในนี้ และโดยเฉพาะมันไม่เถียง ไม่ค้าน ไม่บ่น ถ้าเราไม่ถูกใจมันตรงไหนเราก็คลิ๊กหนีไปที่อื่นเสีย ก็เท่านั้น

จนกระทั่งมาพบว่าในมีเดี่ยนี้เขามีพื้นที่ให้เราแสดงออกแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ เขาเรียกพื้นที่นี้ว่า Blog และคนที่มาเขียนเรียกว่า Blogger เขียนแล้วก็ส่งออกเผยแพร่ได้เลย ไม่ต้องผ่านประธาน ผ่านกรรมการ ผ่าน บ.ก. ใคร ใดๆ ทั้งสิ้น

ทีนี้ก็เข้าทางเราเลย อ่านหนังสือมาก็เยอะ ประสบการณ์ก็(น่าจะ)เยอะ นึกอะไร คิดอะไร ไม่รู้จะบอกใคร (แก่แล้ว คนเขาไม่ค่อยอยากฟัง ทั้งลูกเมีย แม้แต่หลานก็ยังรำคาญ) เอาละ ทีนี้เราก็มีที่ระบาย(ความคิด)แล้ว แรกทีเดียวก็เปิดมันเสียหลายบล็อกเลย เพราะมีหลายแนว เขียนไปเขียนมา เขียนไม่ไหว มันเขียนไม่ทัน และถ้าเราไม่เขียนต่อเนื่อง คนที่เข้ามาอ่านเห็นว่าไม่มีเนื้อหาใหม่ๆ อีกหน่อยก็ไม่มีคนเข้ามาดู บล็อกนั้นก็จะแห้งตายไป ถึงแม้จะมีบทความ (ดูเหมือนภาษาคนเขียนบล็อกเขาเรียกว่า Entry) ใหม่ๆมาอีกก็ตาม เหมือนเราไปซื้อของร้านไหนแล้วไม่มีของบ่อยเข้า ที่หลังเราก็ไม่ไปร้านนั้นอีก

นี่ก็เหลือ "ชุมชนคนเกษียณ" นี่แหละ ที่ยังเขียน(เกือบ)ประจำอยู่ เพราะมีคนเปิดเข้าดูอยู่ก็เลยเลิกไม่ได้ และอีกเหตุผลก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวพันใกล้ตัวที่เรามีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมส่วนนี้อยู่ ก็เลยยังพอเขียนอยู่เรื่อยๆ

ความตั้งใจเดิม ก็คิดว่าบล็อกนี้จะเป็น two way communication คิดว่าจะมีคนมาแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนทรรศนะกันบ้าง แต่เอาเข้าจริงแล้วมีน้อยมาก และก็จะส่งมาทางอีเมล์ และบางส่วนก็โทรฯมาถามบางเรื่อง และเป็นที่น่ายินดีว่า มีบุคคลภายนอกมาอ่านบล็อกนี้บ้างเหมือนกัน เช่นเคยมีนักศึกษาปริญญาโทกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องชีวิตหลังเกษียณ โทรมาสอบถามข้อมูล หรือบางท่านโทรมาถามข้อมูลบางอย่างในเรื่องที่เขียน สรุปในที่สุดก็ลงเอยกลายเป็น one way communication ไปนั่นเอง




One Way ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ
คุยกันไม่ได้ ก็นั่งยิ้มกันไป


ในเมื่อไม่มี Feedback กลับมาบ้าง ผู้เขียนก็เดาไม่ออกว่าผู้อ่านคิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร จะได้แลกเปลี่ยนทรรศนะในเรื่องที่สนใจร่วมกัน ในที่สุดผู้เขียนก็ต้องตัดสินใจว่า เอาอย่างนี้ก็แล้ว ต่อไปนี้เราก็เขียนตามใจที่อยากเขียนก็แล้วกัน อยากจะเขียนอะไรก็เขียนไป ใครไม่ชอบ ไม่น่าสนใจเค้าก็ไม่อ่านเองนั่นแหละ ถือว่าการเขียนเป็นความสุขของเรา เป็นงานอดิเรก ป้องกันสมองเป็นอัลไซเมอร์ และยังไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร นอกจากค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ค่าเช่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟ ค่ากาแฟบ้างเท่านั้นเอง

ใครรำคาญคนแก่บ่นก็ข้ามไปนะครับ อย่ามาด่ากันว่าเขียนไม่ได้เรื่องก็แล้วกัน (แต่จริงๆแล้ว ผมกลัวเขียนแล้ว "ได้เรื่อง" มากกว่า)


ถึงแม้ผมจะยืนยันอยู่เสมอว่า บทความที่ผมเขียนนี้เป็นความคิดของผม เป็นความรับผิดชอบของผม และบล็อกนี้ก็ใช้ฟรี ไม่ได้เอาเงินใครมาทำ แต่ด้วยที่ผมเป็นกรรมการชมรมผู้เกษียณของสหกรณ์ออมทรัพย์ (ชสอฟ.) อยู่ด้วย จึงกลายเป็นว่ามีหมวกอีกใบ ดังนั้นเมื่อผมเขียนพาดพิงกระทบกระเทือนถึงการทำงานของกรรมการสหกรณ์คนหนึ่งในฐานะที่ผมเป็นสมาชิก จึงอดไม่ได้ที่จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ในชมรมเห็นว่าการกระทำของผม "ไม่เหมาะสม" ถึงกับเสนอวาระให้คณะกรรมการพิจารณาการกระทำของผม กรรมการท่านนั้นกล่าวว่าการกระทำของผม เกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กรรมการสหกรณ์คนนั้น ซึ่งอาจจะมีปัญหากับเงินช่วยเหลือชมรมฯ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากกรรมการสหกรณ์ ผมก็คิดว่าควรจะลาออกในวันนั้น แต่ด้วยความเคารพท่านประธานชมรมฯที่ไกล่เกลี่ยให้ยกวาระนั้นไป จึงยับยั้งใจไว้ และเป็นที่น่ายินดีว่าในวันประชุมใหญ่วันที่ 11 กุมภาฯนี้ ผมก็จะสิ้นสุดการเป็นกรรมการชมรมฯ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีเสียงจิ้งจกตุ๊กแกมาร้องจุ๊กจิ๊กให้รำคาญอีกต่อไป

แต่ความอิสระของผมคือความคิดทั่วๆไปที่ควรเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อสังคม ไม่ใช่จะเที่ยวไปว่ากล่าวใครได้มั่วๆ อาจจะโดนข้อหาหมิ่นประมาทได้ การพาดพิงไปถึงผู้หนึ่งผู้ใด จะต้องเป็นเรื่องที่บุคคลผู้นั้นกระทำไปในฐานะบุคคลสาธารณะ ที่ท่านอาสาเข้ามาบริหารองค์กรต่าง ๆ ท่านจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าการกระทำของท่านมีผลกระทบต่อสมาชิก หรือผู้ร่วมองค์กร  แต่จริงๆแล้วผมไม่ต้องการจะเขียนถึงตัวบุคคลใดทั้งสิ้น นอกจากจะกล่าวทางด้านดี  ทั้งนี้ เพราะทุกคนก็เป็นเพื่อนเป็นน้องที่คบหารักใคร่กันมาแทบทั้งนั้น  ใครมีการกระทำอย่างไรควรเป็นหน้าที่ของสมาชิกส่วนใหญ่ที่จะพิจารณาตัดสินกันเอาเอง  การเสนอความเห็นใดๆของผมก็เพื่อประโยชน์ของสมาชิกเป็นที่ตั้ง ขอให้ทราบว่าไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ไม่มีใครฟังก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะเราก็มีเพียงเสียงเดียว แถมยังเป็นเสียงแหบๆอีกด้วย




เจอขาใหญ่เข้า หลบมานอนเงียบเชียวนะ เจ้าหำใหญ่

ในระหว่างที่รอวันที่ 21 กุมภาฯ เพื่อจะไปเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ฯแทนชุดที่หมดวาระไป ก็คิดดูว่าเราจะใช้ข้อมูลอะไรเป็นข้อพิจารณาว่าจะเลือกใครดี เพราะผู้เกษียณแต่ละคนก็อยู่ที่บ้าน การหาเสียงแถลงนโยบายของผู้สมัคร ก็ทำกันเฉพาะที่เขต กฟน. ต่าง ๆ เท่านั้น ผู้เกษียณไม่มีโอกาสรู้ได้เลย
ลองคิดคร่าวๆว่าหากสมาชิกสหกรณ์มีทั้งหมดประมาณหมื่นคน ในจำนวนหมื่นนั้นน่าจะมีผู้เกษียณอยู่ประมาณสองพันคน ถือว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งทีมที่ชนะคะแนนจะอยู่ที่ประมาณ 4000 - 6000 คะแนน เมื่อเทียบคะแนนต่ำสุดของผู้ชนะ จะใกล้กับคะแนนสูงสุดของทีมที่แพ้ ดังนั้นถ้าเสียงของผู้เกษียณไม่กระจัดกระจาย สามารถรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ ก็อาจมีพลังในการตัดสินผู้ชนะได้ เช่นพรรคการเมืองขนาดกลาง ที่สามารถชี้ชะตาตัดสินพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ผู้นำผู้เกษียณมองไม่เห็นพลังตรงนี้ มัวแต่กลัวว่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการฯ จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหกรณ์ฯ จึงทำให้สมาชิกผู้เกษียณขาดการให้ความสนใจจากกรรมการสหกรณ์ ถือว่ามีผู้นำเป็นที่ปรึกษาแล้ว ผู้เกษียณก็เหมือน "หมูในอวย" จะเลือกกรรมการตามที่ผู้นำแนะนำ โดยไม่ต้องมีข้อมูลใดๆเลย
ในอดีตนานมาแล้ว เคยมีการจัดประชุมผู้เกษียณ ก่อนมีการเลือกตั้ง แต่รู้สึกว่าการเรียกประชุมครั้งนั้นเป็นการจัดขึ้นของคณะกรรมการบริหารในขณะนั้น เพื่อชี้แจงข่าวที่ไม่ดี หรือข่าวลืออะไรส้กอย่าง จำไม่ได้แล้ว หลังจากนั้นรู้สึกว่าจะไม่เคยจัดอีกเลย
ที่รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพื่ออยากให้สหกรณ์ถือเป็นระเบียบวาระว่า ก่อนมีการเลือกตั้ง ต้องมีการเปิดประชุมผู้เกษียนที่สมัครใจเข้ารับฟังนโยบายของผู้สมัครทุกทีมและผู้สมัครอิสระทุกคน โดยใช้งบประมาณของสหกรณ์ และให้มีการตั้งกรรมการกลางขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ต้องมีการส่งหนังสือแจ้งสมาชิกผู้เกษียณทุกคน ก็แล้วแต่ผู้เกษียณจะมาหรือไม่มา
การกระทำเช่นนี้จะมีผลดีคือ
1.) ผู้สมัครอิสระทุกคน และทุกทีมจะได้มีโอกาสแถลง ชี้แจง นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เกษียณ
2.) ผู้สมัครหน้าใหม่จะได้มีโอกาสแนะนำตัวแก่ผู้เกษียณ เพื่อความเป็นธรรม ถึงแม้ผู้เกษียณอาจมาไม่ครบทุกคนก็ตาม ถ้าผู้เกษียณเห็นว่าดี ก็จะบอกต่อๆกันไป
3.) เป็นการให้โอกาสผู้สมัครที่มีนโยบายต้องการดูแลช่วยเหลือผู้เกษียณได้มีโอกาสเสนอแนวคิดถึงตัวผู้เกษียณ เพื่อการตัดสินใจ
4.) ผู้เกษียณมีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น จากการลงคะแนนเสียงให้ทีมที่มีนโยบายเกื้อหนุนช่วยเหลือผู้เกษีนณ
ผลเสีย
1.) ผู้สมัครที่ไม่มีนโยบายต่อผู้เกษียณ อาจไม่ชอบ เพราะไม่มีนโยบายอะไรจะแถลง
2.) ผู้สมัครที่มีเครือข่ายคุมเสียงผู้เกษียณอยู่แล้ว อาจไม่ชอบ เพราะอาจถูกแบ่งคะแนนเสียงไปได้
นี่เป็นหนึ่งแนวคิดที่ผมขอเสนอ คงยังไม่สายเกินไปก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ผมไม่มีเวลาและโอกาสตรวจสอบว่าสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นผู้เกษียณมีกี่เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกทั้งหมด และเป็นผู้มีเงินอยู่ในสหกรณ์เท่าไหร่ แต่เทียบไม่ได้กับสวัสดิการและสิทธิที่ควรจะได้รับ  เสียงที่มีอยู่ประมาณสองพันเสียงน่าจะทำให้ผู้เกษียณได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
อย่าลืมว่า ปรัชญาของสหกรณ์ คือ ผู้มีและผู้ไม่มีจะอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันอย่างเท่าเทียมกัน
............................
จะมีใครฟังหรือเปล่า ผมไม่ทราบ
แต่ผมได้ทำตามความคิดของผมแล้ว
บอกแล้วไง...."คิด" ไม่ต้องเสียตังค์
สวัสดีครับ....
***********


No Response to "ข้อมูล ข่าวสาร"

แสดงความคิดเห็น