จาก 14 ตุลาฯ ถึง ......


จาก 14 ตุลาฯ ถึง.......




มงคง อุทก หรือ "หว่อง"   
เป้นสมาชิกคนหนึ่งในวง "คาราวาน"
วงคาราวานนั้นเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตเก่าแก่วงหนึ่ง
คนรุ่นใหม่ๆอาจไม่รู้จัก ยกเว้นพวกที่ชอบแนวเพลงประเภทนี้ และก็อาจจะรู้จักเพียง "น้าหงา" หรือหงา คาราวาน
หรือสุรชัย จันทิมาธร เพียงคนเดียว เนื่องด้วย "น้าหงา" ยังมีเรี่ยวแรง สามารถวนเวียนให้ความบันเทิงกับรุ่นลูกๆหลานๆได้สม่ำเสมออยู่

วงคาราวานมีอยู่สี่คนครับ อีกสองคนซึ่งห่างหายไปไม่เห็นหน้านานแล้ว(อาจเป็นเพราะผมก็ไม่ได้ติดตามวงการแล้วก็ได้) ทราบว่าไปอยู่บ้านไร่ปลายสวนถือวิเวกไปแล้วคือ ทองกราน ทานา (อืด) และวีระศักดิ์ สุนทรศรี (แดง)




ก่อนหน้านั้น เมื่อสมัยผมยังเป็นหนุ่มวัยฉะกัน ผมก็ได้ติดตามฟังเพลงของคาราวานมาตลอด ตั้งแต่คนกับควาย อเมริกันอันตราย นกสีเหลือง หยุดก่อน ฯลฯ เวลาตั้งวงเหล้าในพวกคอเดียวกัน ถ้าขึ้น "คนกับควาย" มาเมื่อไร ขวดโซดาจะถูกเคาะรัวจนแทบแตกคาวง โดยเฉพาะเสียงประสานตอนไล่ควายต้อนควายจะดังเป็นพิเศษ (สำหรับคนที่ร้องไม่เป็น)

ผมมีโอกาสสัมผัสวงคาราวานอย่างใกล้ชิดถึงตัว ก็ตอนที่ผมเข้าวงการแรงงาน คือได้เป็นกรรมการสหภาพ กฟน.เมื่อราวปี 2523  วันนั้นเป็นวันประชุมใหญ่สหภาพฯ ผมได้รับมอบหมายจากพี่ไพศาล ธวัชชัยนันท์ (ประธานสหภาพฯ) ให้นำรถไปรับคณะนักดนตรีวงคาราวาน ซึ่งพักอยู่ที่ที่ทำการของสมาคมสังคมศาสตร์ที่ ส. ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการหนังสือวารสารสังคมศาสตร์อยู่เวลานั้น ถ้าจำไม่ผิดก็อยู่ที่ซอยอโศก เมื่อไปถึงก็แจ้งวัตถุประสงค์กับผู้ดูแลบ้าน หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงตะโกนเรียกกันโหวกเหวก ทุกคนพร้อม ก็ในชุดที่เห็นๆกันนั่นแหละ หยิบเครื่องดนตรีประจำกายได้ ก็โดดขึ้นรถได้ทันที ไม่มีพิธีรีตองใดๆ

หลังจากเล่นดนตรีให้ความบันเทิงสมาขิกสหภาพฯได้สนุกสนานกันตามระยะเวลาแล้ว ผมจำไม่ได้ว่าเป็นพี่ไพศาลเองหรือไม่ได้มอบเงินค่าน้ำใจ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะจำนวนสองพันบาท มอบให้น้าหงา สมัยนั้นคาราวานมักจะได้ค่าน้ำใจแทนค่าจ้างเสมอ เพราะส่วนใหญ่ที่เชิญไปเล่น มักจะเป็นองค์กรเพื่อสังคมทั้งนั้น บางทีนักศึกษาจ้างไปเล่น ขายบัตรเพื่อหาทุนการศึกษา เล่นเสร็จนักศึกษาบอกขายบัตรไม่หมดขาดทุน น้าหงาก็ใจดีเล่นให้ฟรี เพราะไม่มีเงินให้

รับเงินเสร็จ น้าหงาก็แบ่งกันเดี๋ยวนั้น รู้สึกว่าจะได้คนละสามร้อยสี่ร้อยนั่นแหละ ตอนนั้น ซูซู เพิ่งเริ่มเข้าวงการ คงมาคลุกคลีอยู่กับคาราวาน วันนั้นก็ช่วยตีกลองทอมให้(เรียกถูกหรือเปล่า ไม่ทราบ) เห็นน้าหงาเรียกมาแล้วยื่นเงินให้สองร้อย ซูซูโบกมือบอกไม่ต้องหรอกครับ ผมมาช่วยสนุกๆ น้าหงายัดใส่มือ บอกเอาไปเถอะเก็บไว้ ผมเห็นบรรยากาศวันนั้นแล้ว จึงรู้ได้ว่าทำไมน้าหงาจึงมีแต่คนรัก

วันนั้นผมถ่ายรูปไว้หลายรูป แต่หาไม่พบ








ทำไมผมจึงเอาเรื่องนี้มาเขียน

ก็เพราะเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้พบน้าหว่องออกมาบรรเลงเพลงคนตีเหล็กที่เวทีมวลมหาประชาชนราชดำเนิน ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกาย

ผมก็ตกใจคิดว่า เฮ้ย..อะไรกันวะ น้าหว่อง หรือมงคล อุทก นี่ กูดูมาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 นีมัน 2556 น้าหว่องยังต้องมาร้องเพลงให้ม้อบ (มวลมหาประชน) ฟังอยู่อีกหรือนี่ กูดูมาตั้งแต่เข้างานใหม่ๆ จนนี่ก็เกษียณมาหลายปีแล้ว คนร้องก็แก่ คนฟังก็แก่

ไม่ได้ตกใจที่เห็นหน้าน้าหว่องหรอก  แต่ตกใจว่าระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมานี่  ประเทศไทยมันไม่ได้ขยับเขยื่อนเลื่อนไปไหนเลยหรือนี่  เมื่อตุลา 16 ต่อสู้ขับไล่ทรราชรัฐบาลเผด็จการทหาร ปี 2556 ขับไล่รัฐบาลทรราช เผด็จการรัฐสภา ระบอบทักษิณ แล้วต่อไปนี่ จะขับไล่อะไรกันอีก ผมไม่อยากนึกแล้ว เพราะไม่ทราบว่าจะอยู่ได้เห็นหรือไม่ และหวังว่าครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็น น้าหงา น้าหว่อง มาขับกล่อมมวลมหาประชาชนให้ดูกันอีก ไม่ใช่ว่าผมจะรีบตายนะครับ แต่หวังว่าบ้านเมืองมันคงสงบลงบ้าง อย่างน้อยก็ทิ้งระยะให้มันนานสักหน่อย สงสารคนแก่บ้างเถิดครับ



ย้อนกลับมาที่น้าหว่องนะครับ ก่อนหน้าที่จะมาเห็นที่เวทีราชดำเนินนี่ ทราบข่าวว่าไม่ค่อยสบาย จนเพื่อนฝูงมีการจัดดนตรีเก็บเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลกัน ผมก็ไม่มีโอกาสไปดูหรอกครับ ตอนนี้ไปไหนก็ไม่ค่อยคล่องตัว โดยเฉพาะเวลากลางค่ำกลางคืน

นี่แหละครับ ผู้สูงอายุ ไม่ว่าอาชีพไหน เมื่อสูงวัยขึ้น ความเจ็บป่วยก็รุมมาเยือน เรี่ยวแรงที่มีไว้ทำมาหากินก็หนีหายจากไป เมื่อเห็นน้าหว่องมาขับขาน "คนตีเหล็ก" เวอร์ชั่นผู้สูงวัย ซึ่งต่างจากที่เคยฟังเมื่อเกือบสี่สิบปีมาแล้ว ที่เสียงตีเหล็กมันกระหึ่มหนักแน่นลุกโชน  แต่ก็ยังดีใจที่ได้เห็นหน้าคน Generation เดียวกัน ที่นับวันแต่จะค่อยๆสูญหายไปเรื่อยๆ





ปัจจุบัน น้าหว่อง มงคล อุทก มีงานที่นอกจากงานดนตรีก็คือการวาดภาพ ระดับมืออาชีพ มีการเปิดแสดงตามแกลเลอรี่ต่างๆ ผมจำไม่ได้ว่าวันที่ 13 หรือ 14 เดือนนี้ (ยังค้นข้อมูลไม่เจอ) ก็จะเปิดการแสดงที่หอศิลป์ที่ปทุมวัน มีภาพสวยๆให้ชม ใครสนใจก็คงจำหน่ายด้วยแหละครับ ใครชอบทางด้านนี้ เชิญไปชมกันได้นะครับ เคยฟังแต่เสียงพิณ ลองดูฝีมือการวาดภาพบ้างก็ได้

วันนี้ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพียงแต่นึกถึงเรื่องบ้านเมืองและตัวเราขึ้นมา  เราก็นึกว่าในวัยชรา ถ้าบ้านเมืองมันเจริญ พลเมืองมีความสุข มีสวัสดิภาพ มีความปลอดภัย อาหารการกินราคาไม่สูงเกินไป  วันๆไม่ต้องมานั่งฟังแต่ข่าวทะเลาะเบาะแว้ง โกหกตอแหลกันไม่เว้นแต่ละวัน ผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์นักวิชาการ แม้แต่อดีตผู้พิพากษา อัยการที่เคยเป็นผู้รักษากฏหมายสอนกฏหมายมาก็ยังพูดไม่อยู่กะร่องกะรอยหาเหตุผลข้างๆคูๆเพื่อเป็นประโชน์ฝ่ายตน แล้วอย่างนี้เด็กๆจะพึ่งใครเป็นตัวอย่างที่ดีได้  คนแก่อย่างเราก็อยู่อย่างไม่มีความสุข ไร้ที่หวัง ไร้ที่พึ่งสวัสดิภาพที่จะได้รับจากรัฐ บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงล่มจมจากฝีมือของนักการเมืองเมื่อไหร่ก็ไม่รู้  ฤทธิ์ของ "ต้มยำกุ้ง" เมื่อปี 40 เรารู้จักกันดี ถ้ามันเกิดขึ้นอีก ประชาชนคนไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าเรามีรํฐบาลดีๆ เราก็คงอยู่กันอย่างมีความสุข

..........ทั้งหมดนี้แรงบันดาลใจมันเกิดจากเสียงแหบๆ "คนตีเหล็ก" ของน้าหว่องแท้ๆเชียว......


สวัสดีครับ ขอให้โชคดีทุกท่าน  และขอให้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนจงอยู่รอดปลอดภัยทุกคนครับ



**********



No Response to "จาก 14 ตุลาฯ ถึง ......"

แสดงความคิดเห็น